บรรดา ส.ส.ที่ยืนยันว่า การจงใจทำให้ “สภาล่ม” เป็นหน้าที่ของ ส.ส.เพราะเป็นการตรวจสอบรัฐบาล น่าจะรับฟังความคิดเห็นประชาชน ที่แสดงผ่านนิด้าโพลของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 43.44% เห็นว่าผู้ที่รับผิดชอบเรื่องสภาล่มคือ ส.ส.รัฐบาล 42.07% ผู้รับผิดชอบคือรัฐบาล 37.94% ระบุ ส.ส.ฝ่ายค้าน

ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า การจงใจทำให้ “สภาล่ม” เป็นการเล่นเกมการเมืองของกลุ่มที่ต้องการล้มรัฐบาล รองลงไปเห็นว่า ส.ส.ส่วนหนึ่งไร้สำนึกการทำหน้าที่ และเสนอวิธีแก้ไขให้ตัดเงินเดือนและสวัสดิการ ส.ส. ตามด้วยการตัดสิทธิทางการเมือง ไล่ออกจาก ส.ส. ปรับเงินทุกครั้งที่ไม่เข้าประชุม ประจานประชาชนและยุบพรรค

ต้องถือว่าเป็นความเห็นที่ค่อนข้าง ดุเดือด เพราะประชาชนส่วนใหญ่มองว่า ตนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเกมการเมือง จากคนที่เป็น “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ได้แต่ความเบื่อหน่ายเอือมระอา และเสื่อมศรัทธาในนักการเมือง และระบบรัฐสภา รับเงินเดือนและสวัสดิการจากภาษีประชาชน แต่ไม่ทำหน้าที่

การแสดงความเห็นผ่านทางโพล เป็นส่วนหนึ่งของประชามติ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของสังคมประชาธิปไตย ทั้งรัฐบาล รัฐสภา และเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน รัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติให้รัฐบาลรับฟังความเห็นประชาชนในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ด้วยการให้ประชาชนออกเสียงประชามติ

แต่รัฐบาลไทยมักจะไม่ชอบให้ประชาชนลงประชามติ อาจเห็นว่าไม่จำเป็น หรือสิ้นเปลืองงบประมาณและเวลา โดยเปล่าประโยชน์ โดยเฉพาะรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร มักจะยึดแนวทางอำนาจนิยมมากกว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตย เมื่อเกิดวิกฤติทางการเมือง มักจะพูดถึงการลาออก หรือยุบสภา

...

ทางออกจากวิกฤติ หรือทางตันทางการเมือง ไม่จำเป็นจะต้องมีแค่การยุบสภา การลาออก หรือการปรับคณะรัฐมนตรี ยิ่งถ้าเป็นทางออกนอกวิถี รัฐธรรมนูญ ยิ่งเป็นเรื่องต้องห้ามโดยเด็ดขาด หากรัฐบาลและประชาชนส่วนใหญ่ ยังยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ถ้าเป็นปัญหาสำคัญ ประเทศประชาธิปไตยส่วนหนึ่งจะให้ประชาชน ออกเสียงประชามติ เป็นประชาธิปไตยทางตรง ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินจะออกจากทางตันอย่างไร โดยเฉพาะถ้ารัฐบาลหรือรัฐสภาผู้ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจหน้าที่ แต่ไม่ยอมทำหน้าที่ แต่ชอบเล่นปาหี่การเมือง.