สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะได้ไปต่อหรือไม่ ต้องจับตาดูการประชุม ครม.ในวันนี้ว่าจะมีการผลักดันวาระกลับเข้ามาพิจารณาใหม่หรือไม่
หลังจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย สองศรีพี่น้องตระกูล ป.
ต้องเสียหน้า เสียเหลี่ยมให้ “ทีมเซราะกราวสายเขียว” ของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม นำทีม 7 รมต.ภูมิใจไทย บอยคอต
แม้นายกฯประยุทธ์จะไว้ฟอร์มสั่งให้เร่งนำวาระกลับเข้า ครม.โดยเร็วที่สุด
แต่ “บิ๊กป๊อก” อนุพงษ์ ออกตัวแล้วว่า ต้องรอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อตอบข้อสังเกตของกระทรวงคมนาคม ที่มีบางข้อเป็นข้อกฎหมายขอความเห็นเข้ามาใหม่ คาดว่าจะนำเข้า ครม.ไม่ทันในนัดนี้
ณ วันที่ผมนั่งปั่นต้นฉบับยังไม่มีวี่แววว่า ครม.จะได้พิจารณากันในวันนี้หรือไม่
พอดีมีข้อมูล “สามารถ ราชพลสิทธิ์” รองหัวหน้าประชาธิปัตย์ ที่ชำนาญด้านโครงสร้างระบบขนส่งมวลชน โพสต์ลงเฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องนี้
เป็นการตั้ง “ปุจฉา-วิสัชนา” ว่าเรื่องนี้ยืดเยื้อมานานจนกลายเป็นศึกงัดข้อมาราธอนระหว่างมหาดไทย-คมนาคม ที่กระทรวงมหาดไทยชี้แจงมาแล้วถึง 8 รอบ ก็ยังไม่จบ
พร้อมกับเปิดข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมเคยเห็นด้วยมา 3 ครั้ง
คือ ณ วันที่ 24 ต.ค.2562 กระทรวงคมนาคมมีหนังสือถึงเลขาธิการ ครม. “เห็นสมควรนำเสนอ ครม. พิจารณาตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยและ กทม. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 การให้ กทม. เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย จะช่วยให้ประชาชนสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้อย่างต่อเนื่องทั้งระบบเป็นโครงข่ายเดียวกัน โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ มติ ครม. และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล เกิดผลสัมฤทธิ์ หรือประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชนเป็นสำคัญ”
...
ต่อมาวันที่ 30 มี.ค.2563 และ 9 มิ.ย.2563 กระทรวงคมนาคมมีหนังสือถึงเลขาธิการ ครม. ยืนยันตามความเห็นเดิมโดยไม่มีความเห็นเพิ่มเติม นั่นคือเห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย
แต่มาวันที่ 16 พ.ย.2563 กระทรวงคมนาคมกลับลำไม่เห็นด้วย โดยไม่ยืนยันความเห็นเดิม และมีความเห็นเพิ่มเติมเป็นข้อสังเกต 4 ประเด็น ดังที่ยกขึ้นมาอ้าง
คุณสามารถตั้งข้อสงสัยว่า มีอะไรเกิดขึ้นระหว่างเดือน ส.ค.-พ.ย.2563
โดยพบว่าเมื่อ วันที่ 21 ส.ค.2563 รฟม. ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ทำให้ BTS ผู้ร่วมประมูลเห็นว่าไม่ได้ รับความเป็นธรรม จึงฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ต่อมามีการล้มการประมูล BTS จึงฟ้องต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ
จึงน่าคิดว่าการฟ้องร้องดังกล่าวมีผลกระทบต่อการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือไม่
ขอย้ำว่า เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของ “ผลประโยชน์ขัดกันก็บรรลัย”
ของบรรดานักการเมืองและนายทุนที่รักชาติจนปากมัน
ไม่ได้สนใจว่าประชาชนอีกหลายล้านคนยังรอใช้ระบบขนส่งมวลชน เพื่อความสะดวกในการเดินทางที่รวดเร็ว ในราคาที่เหมาะสม และเป็นธรรม
เรื่องของประชาชนไม่เคยมาก่อนนักการเมืองในชีวิตจริง.
เพลิงสุริยะ