พลิกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ “ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย และราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย” ทำลายรอยร้าวความหมางใจต่อกันอันเป็นกำแพงปิดกั้นทางการทูตมานานกว่า 32 ปี

เปิดศักราชใหม่นับแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เยือนอย่างเป็นทางการตามคำเชิญจาก “เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด” มกุฎราชกุมาร รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมแห่งซาอุฯ

แล้วทุกฝ่ายได้หารือ “สะสางปัญหาคั่งค้าง” ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตด้วยการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำเมืองหลวง 2 ประเทศในอนาคตอันใกล้ “บนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ทุกมิติ” เพื่อผลักดันกรอบนโยบายแผนความร่วมมือทั้งส่วนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

โดยเฉพาะ “การปฏิรูปเศรษฐกิจซาอุดีอาระเบียวิชัน 2030 หรือวิสัยทัศน์ 2030” ที่เชื้อเชิญนักธุรกิจต่างชาติเข้า “ลงทุนตลาดซาอุฯ” ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันเป็นศูนย์กลางกลุ่มประเทศอาหรับ แล้วส่วน “ตลาดการลงทุนไทย” ก็มีความสำคัญในภูมิภาคอาเซียนต่อการส่งออกสินค้ามากมาย

...

สิ่งเหล่านี้คือ “รากฐานด้านเศรษฐกิจสำคัญในอนาคต” อันเกิดจากความร่วมมือก่อผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พลังงานหมุนเวียน การศึกษาและวิจัย ความมั่นคง การท่องเที่ยวและกีฬานี้ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า

ที่ผ่านมานี้ไทยสูญเสียโอกาสทางด้านเศรษฐกิจกับซาอุฯมากว่า 32 ปี วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ “ความสัมพันธ์ระหว่างไทย และซาอุฯ” ที่ยังประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน 2 ประเทศ

ดร.ศราวุฒิ
ดร.ศราวุฒิ

โดยเฉพาะ “ด้านการท่องเที่ยว” จะช่วยส่งเสริมให้ “นักท่องเที่ยวซาอุฯ” เข้ามาสัมผัสบรรยากาศแหล่งท่องเที่ยวในไทย เพราะก่อนหน้านี้ “รัฐบาลซาอุฯ” ตีตราในหนังสือเดินทางห้ามพลเรือนเดินทางมา ดังนั้น “คนซาอุฯ” ต้องลักลอบผ่านประเทศอื่นก่อนแล้วค่อยเข้ามาในไทยเสมอมาตลอดนี้

เมื่อมีการฟื้นความสัมพันธ์ต่อกัน “คนซาอุฯ” สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทยได้ปกติ ล่าสุด “ซาอุฯ” ก็มีกระแสฮือฮาโปรโมตการท่องเที่ยวไทยแล้วได้รับการตอบรับดี “คนซาอุฯแสดงเจตจำนงเดินทางมาบ้านเราค่อนข้างมาก” เชื่อว่าน่าดึงนักท่องเที่ยวอาหรับสร้างเม็ดเงินให้ประเทศได้มหาศาลในอนาคต

อย่าลืมว่า “ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย” เป็นที่นิยมของคนอาหรับกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียอย่างมากด้วย แล้วคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็น “ผู้มีฐานะร่ำรวย” มีศักยภาพทั้งด้านการค้าการลงทุน รวมไปถึงมีเงินออม และเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากการค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติด้วยซ้ำ

ทว่าการฟื้นความสัมพันธ์ครั้งนี้ “ยังจะช่วยดึงคนอาหรับในกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย” เข้ามาท่องเที่ยว ติดต่อธุรกิจ และรักษาพยาบาลในไทยด้วย ส่วนใหญ่มากันแบบครอบครัว อาศัยในไทยหลายสัปดาห์มีการใช้จ่ายค่อนข้างสูง ตรงตามผลศึกษาพบว่า “นักท่องเที่ยวอาหรับ” เป็นกลุ่มใช้จ่ายในการท่องเที่ยวไทยมากที่สุด

ปัจจัยทำให้ “คนอาหรับชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทย” เพราะค่าใช้จ่ายราคาถูก การบริการเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ทั้งบุคลากร และสถานพยาบาลได้มาตรฐานสากล จนเป็นที่ประทับใจผู้เข้ามาใช้บริการเสมอ แม้ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศมุสลิมก็มีความพร้อมจนได้รับความนิยมจากนักเดินทางชาวมุสลิมมากที่สุด

ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับความต้องการของชาวมุสลิมโดยเฉพาะโรงแรมฮาลาล ร้านอาหารฮาลาล มัสยิด และมีสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในแหล่งท่องเที่ยว แล้วยิ่งมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์กันครั้งนี้จะเป็นตัวช่วยให้เกิดการชักชวนของชาวมุสลิมในกลุ่มประเทศอาหรับมาท่องเที่ยวในไทยเชิงสุขภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

ประเด็นต่อมา “ประเทศอาหรับในกลุ่มอ่าวเปอร์เซีย” ต่างเผชิญปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร เพราะด้วยพื้นที่ภูมิประเทศนั้น “เป็นทะเลทราย” ทำให้ช่วงหลังมานี้สังเกตเห็นว่า “คนอาหรับที่ร่ำรวยจากการขายน้ำมัน” พยายามหันมาลงทุนในประเทศของเซาท์อีสต์เอเชีย (Southeast Asia) อย่างมากขึ้นเรื่อยๆ

เพื่อเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมการเกษตร และการผลิตอาหาร ในการส่งกลับยังประเทศบ้านเกิดตัวเองให้มีความมั่นคงทางอาหารมากยิ่งขึ้น เรื่องนี้ก็คิดว่าน่าเป็นโอกาสทองให้ประเทศไทยที่ถือเป็นแหล่งผลิตอาหารจนได้ชื่อว่า “ครัวโลก” ที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยผลิตผลทางการเกษตร ผัก ผลไม้ และประมง

ทั้งมีอาหารที่ทั่วโลกต่างหลงมนตร์เสน่ห์อย่างเช่น “อาหารฮาลาล” มีการส่งออกให้ตลาดโลกมุสลิมเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้น ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตพร้อมต่อการส่งออกให้แก่ “ซาอุฯ” รวมถึงผ่านไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคกลุ่มอ่าวเปอร์เซีย นำมาซึ่งโอกาสมหาศาลสำหรับผู้ประกอบการด้านอาหารของไทยตามมาได้

เท้าความสาเหตุหันมาลงทุนในเอเชียคร่าวๆคือ “กลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย” เดิมเข้าไปลงทุนในประเทศตะวันตก เช่น ประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่เป็นพันธมิตรเก่า แต่กลับเกิดปัญหาขึ้นนับแต่กรณีการก่อการร้าย 9/11 จนเกิดกระแสเกลียดกลัวอิสลามแล้ว “สหรัฐอเมริกา” ก็วิพากษ์วิจารณ์ออกกฎหมายเล่นงานกดดันซาอุฯ

ดังนั้น ตอนหลังกลุ่มประเทศนี้เริ่มหันมาสนใจ “เอเชีย” ด้วยการนำเงินนำทองมหาศาลเข้ามาลงทุนในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน และประเทศเพื่อนบ้านของไทย ล่าสุดมีรายงานว่า “นักธุรกิจจากยูเออี” เข้ามาลงทุนเปิดฟาร์มเลี้ยงแพะในเซาท์อีสต์เอเชียจำนวนมากแล้วส่งกลับประเทศตัวเอง แก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร

“อนาคตกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียจะนำเงินเข้ามาลงทุนอีกหลายกิจกรรมกิจการในเซาท์อีสต์เอเชีย รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะอาหารฮาลาลที่ปกติแล้วก็มีการส่งออกไปทั่วโลก สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศมหาศาลอยู่แล้ว แต่วันนี้มีการฟื้นความสัมพันธ์ไทยและซาอุฯ จะก่อให้เกิดผลประโยชน์เพิ่มขึ้นสูงสุด” ดร.ศราวุฒิว่า

ตอกย้ำ “เรื่องผลประโยชน์ด้านแรงงานไทย” ในอดีตแรงงานไทยเคยเข้าทำงานในซาอุฯจำนวนมาก และคนกลุ่มนี้มีการส่งเงินกลับมาในไทยมากกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯก่อนตัดความสัมพันธ์ต่อกัน แล้วตอนนี้ “ซาอุฯอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ.2030” สิ่งนี้จะเป็นโอกาสทองให้กับแรงงานไทยอีกครั้ง

เพราะการบรรลุความสำเร็จตาม “รัฐบาลซาอุฯ” วางไว้ต้องอาศัยการลงทุนขนาดใหญ่ในการสร้างโครงการพื้นฐานอันจะอำนวยความสะดวกต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้ ทำให้มีความต้องการแรงงานต่างชาติเข้ามาช่วยผลักดันพัฒนาให้วิสัยทัศน์ 2030 กลายเป็นจริงขึ้นมานี้

ปัญหาว่า “แรงงานไทยห่างเหินซาอุฯ 32 ปี” แล้วซาอุฯเปลี่ยนจากอดีตที่คงไม่อาจส่งแรงงานไร้ทักษะไปได้เหมือนดังเดิม เพราะเดิมที่เขามีแรงงานกรรมกรจากบังกลาเทศ อียิปต์ ปากีสถาน อินเดีย มากพออยู่แล้ว

ฉะนั้นประเทศไทยต้องเปลี่ยนมุมมองศึกษาการเปลี่ยนแปลงของซาอุฯเพื่อนำมาพัฒนาฝีมือแรงงานตอบโจทย์ความต้องการภายใต้โครงการซาอุฯวิชัน 2030 ที่มีงานรอแรงงานต่างชาติเข้าไปพัฒนาสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ แล้วก็เชื่อว่าน่าจะผลิตแรงงานไทยให้มีทักษะ ผู้เชี่ยวชาญมีความสามารถป้อนไปทำงานในซาอุฯได้แน่นอน

ย้ำต่อว่า...“โครงสร้างการบริหารประเทศซาอุฯเปลี่ยนแปลงไปสู่คนรุ่นใหม่” ทำให้ไม่ค่อยมีความทรงจำในอดีตนัก ด้วยเหตุประการแรกคือ...เมื่อครั้งเกิดรอยร้าวระหว่างไทยกับซาอุฯในอดีตนั้น เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มีพระชันษาเพียง 4 ชันษา ซึ่งปัจจุบันเจ้าชายมีพระชันษา 36 ชันษา

ประการที่สอง “การที่นายกฯไทย” ถูกเทียบเชิญจากซาอุฯ บ่งบอกได้ชัดเจนว่า “ซาอุฯพร้อมลืมเรื่องราวก้าวข้ามปัญหาคั่งค้างหมางใจต่อกันในอดีต” เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติของคนอาหรับ ลักษณะการเทียบเชิญเข้ามาเยือนเป็นแขกบ้านแขกเมือง มักมีความหมายถึงความไว้วางใจอันเป็นการให้เกียรติต่อเราขั้นสูงสุดแล้ว

นี่คือจุดเริ่มต้น “ความสัมพันธ์ฉันมิตร” แห่งความร่วมมือที่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ ส่วนเหตุการณ์อดีตคงเป็นบทเรียนเตือนสติให้เราตระหนัก “ระวังความผิดพลาด” ที่จะบานปลายเป็นปัญหาระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคตซ้ำอีก...