“น้ำผึ้งก็ยังว่าขม” คือสถานการณ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ ไม่ได้สวีตหวานแหวว เหมือนช่วง “ฮันนีมูนพีเรียด” ที่ “น้ำต้มผักยังว่าหวาน”
ประชาธิปัตย์นำร่องไปก่อนหน้า กดดันให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย คายอำนาจจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ได้แล้ว
หลังจากดองเค็มให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง สร้างขุมข่ายอำนาจใหม่ในเวทีเมืองหลวงมากว่า 5 ปี โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง
ทนแรงกดดันไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องกำหนดวัน ว. เวลา น. ไม่เกินเดือน พ.ค.นี้
ล่าสุดถึงคิว ภูมิใจไทย บอยคอตไม่เข้าร่วมประชุม ครม.
ที่มีวาระให้ความเห็นชอบ ร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกไปอีก 30 ปี
จากเดิมจะสิ้นสุดในปี 2572 เป็นสิ้นสุด ปี 2602 แลกกับการเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ตามที่กระทรวงมหาดไทยของ “บิ๊กป๊อก” เสนอ
7 รมต.ภูมิใจไทย พร้อมใจกันยื่นใบลาไม่เข้าประชุม นำโดย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ
นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ
และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม
เรื่องนี้คาราคาซังมานาน และเป็นศึกงัดข้อกันระหว่าง ภูมิใจไทย กับ “บิ๊กป๊อก” อนุพงษ์ โดยยกข้ออ้างใน 4 ประเด็นหลัก ขึ้นมาคัดค้าน คือ
...
1.ความครบถ้วนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
2.การคิดค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรม กำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท
3.ควรพิจารณาให้ถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชน ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไหร่ อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา
และ 4.ข้อพิพาททางกฎหมาย เกิดจากกรณี กทม.ได้ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 ที่อยู่ในชั้นการตรวจสอบของ ป.ป.ช.
“โจ้” ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าเพื่อไทย ที่เกาะติดเรื่องนี้มานาน ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขที่กระทรวงคมนาคมศึกษามา พบว่า หาก กทม.ดำเนินการเองหลังสิ้นสุดสัญญาในปี 72 ไม่ต่อให้บีทีเอส ภาครัฐจะมีกระแสเงินสดสุทธิ 4.67 แสนล้านบาท ถ้าเอกชนดำเนินการจะมีกระแสเงินสดสุทธิแค่ 3.26 หมื่นล้านบาท เท่ากับรัฐดำเนินการเองมีกระแสเงินสดสุทธิมากกว่าถึง 4.35 แสนล้านบาท
มันก็แค่เรื่องผลประโยชน์ยังไม่ลงตัว นักการเมืองมีแต่ได้กับได้
แต่คนที่ต้องก้มหน้ารับกรรมไป ก็มีแต่ประชาชน.
เพลิงสุริยะ