ถ้าหากรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชารัฐ ไม่ยอมรับว่าการแพ้เลือกตั้งซ่อมติดต่อกัน 3 จังหวัด ไม่ได้สะท้อนขาลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือพรรค พปชร. ย่อมเป็นหน้าที่ที่ประชาชน คนไทยจะให้บทเรียนทางการเมืองต่อรัฐบาล ในการเลือกตั้งครั้งต่อๆไป รวมทั้งเลือกตั้ง กทม.และเลือกตั้งใหญ่

ทำไมนักวิเคราะห์การเมืองส่วนใหญ่ จึงเชื่อว่ารัฐบาลอยู่ในช่วงขาลง ดูจากผลการสำรวจความเห็นประชาชนในหลายครั้งที่ผ่านมา ถ้าถามว่าสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี คนส่วนใหญ่ไม่น้อย กว่า 37% มักตอบว่าไม่สนับสนุนใคร มีเพียง ไม่เกิน 19% ตอบว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และผู้นำพรรคอื่นๆ

ผลโพลสะท้อนถึงความเสื่อมศรัทธาในผู้นำรัฐบาล ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่น นายก รัฐมนตรีลาออกไปนานแล้ว เช่นเมื่อปีที่แล้วนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตัดสินใจลาออก เปิดทางให้ผู้นำคนใหม่ขึ้นมาแทน หลังจากที่ผลโพลระบุว่านายกฯคะแนนนิยม 30% ซ้ำซาก 30% ถือเป็นคะแนนนิยมที่ต่ำมาก เป็นคะแนนสอบตกของผู้นำประชาธิปไตยทั่วโลก

กลับไปทบทวนช่วงเวลาเกือบ 8 ปี ภายใต้การปกครองของรัฐบาลปัจจุบัน มีผลงานอะไรเป็นที่ประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการเมือง การขจัดความขัดแย้ง ในประเทศ และสร้างความปรองดอง แม้แต่ ในพรรคแกนนำรัฐบาลก็ทะเลาะกันไม่รู้จบสิ้น ไม่ใช่เพราะขัดแย้งด้านอุดมการณ์ แต่ขัดแย้งเรื่องชิงเก้าอี้

การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด ถือว่าคะแนนพอใช้ได้ แต่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน ต้องถือว่าสอบตก มีคนจนเพิ่มขึ้นจาก 13.4 ล้านคน เป็น 17-20 ล้านคน นั่นก็คือจำนวนผู้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่รับเงินจากรัฐเดือนละ 200—300 บาท ไม่ต้องพูดถึงของแพง และหนี้สินที่พุ่งทั้งประชาและรัฐ

ในด้านการเมือง รัฐบาลยึดแนวทางอำนาจนิยมอย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมปฏิรูปการเมือง การบริหารราชการ แผ่นดิน กระบวนการยุติธรรม ไม่ปฏิรูปตำรวจและทหารให้เป็นทหารอาชีพ ไม่ใช่ ทหารการเมือง รัฐบาลขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปลดล็อกอำนาจเผด็จการ เพราะทำลายกลไกการสืบทอดอำนาจ

...

นายกรัฐมนตรีประกาศชัดเจน จะดำรงตำแหน่งจนครบวาระคือ ถึงเดือนมีนาคม 2566 ไม่บอกว่าจะลงจากตำแหน่งหรือไม่ เมื่อครบ 8 ปีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23 สิงหาคม จะเคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะยึดมั่นในการปกครองระบอบประชา ธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่.