ล็อกเป้ากันไปเรียบร้อยกับ 4 ประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านจะยื่นญัตติ เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152
คือ 1.วิกฤติเศรษฐกิจปัญหาปากท้องพี่น้องประชาชน สินค้าแพง
2.วิกฤติโรคระบาดทั้งในคนคือโควิด และโรคระบาดในสัตว์ คือโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF)
3.วิกฤติการเมือง และการปฏิรูปการเมือง การกระจายอำนาจ และความไม่เป็นธรรม
4.ประเด็นอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการดำรงชีวิตพี่น้องประชาชน อาทิ ปัญหาเหมืองทองอัครา, ปัญหาประมง
ผมว่า 2 ประเด็นหลัง คือ วิกฤติการเมืองกับวิกฤติปัญหาการบริหารงานของรัฐบาล เป็นแค่น้ำจิ้มประกอบให้รสชาติการอภิปรายเข้มข้นขึ้น
แต่ 2 ประเด็นแรก คือ วิกฤติเศรษฐกิจ ปากท้องพี่น้องประชาชน กับวิกฤติปัญหาโรคระบาดทั้งในคนและสัตว์
เป็นเป้าหมายหลักที่พรรคฝ่ายค้าน กะเอาตาย
รัฐบาลเองก็รู้ดีว่า ปมวิกฤติปากท้องของพี่น้องประชาชน คือจุดตายของตัวเอง
แต่ยังปล่อยให้เกิดขึ้นจนได้จะแก้อย่างไรก็แก้ไม่หลุด
เพราะยังมัวเมา มุ่งแต่แก้วิกฤติอำนาจเป็นพิษภายในรัฐบาล จนลืมหันมามองปากท้องประชาชน
เรื่องโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) ก็ปิดข้อมูลกัน จนความมันแตกออกมาเอง
เพราะกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ทนแบกรับภาระแทนกลุ่มทุนเกษตรยักษ์ใหญ่ไม่ไหว
ปัญหามันเลยขยายลามจากปัญหาหมูแพง กลายเป็นสินค้าอื่นก็พากันขยับขึ้นราคา
จนกลายเป็น “แพงกันทั้งแผ่นดิน” ทั้งไข่, เนื้อไก่, มะละกอ, น้ำมันปาล์ม ฯลฯ
รัฐบาลชุดนี้ถนัดกับงาน “แก้ผ้าเอาหน้ารอด”
วิธีแก้ปัญหาง่ายๆก็อนุมัติงบฯ 1,480 ล้านบาท ให้หน่วยงานไปจัดอีเวนต์ “ลดราคาสินค้า”
...
ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือต้นทุนที่เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องแบกรับ
วันนี้ทั้งผู้เลี้ยงหมู, ไก่เนื้อ, ไก่ไข่ ฯลฯ แบกต้นทุนราคาวัตถุดิบ ทั้งหัวอาหาร แม่พันธุ์ราคาแพง ยา-วัคซีนป้องกันโรค ส่วนใหญ่ต้องผ่านบริษัทพ่อค้าคนกลาง
ปัญหายิ่งเห็นชัด เมื่อเจ้าของฟาร์มหมู จ.ระยอง ออกมาแฉด้วยความไม่เข้าใจ
ทำไมหมูถึงขึ้นราคาไปขนาดนั้น ทั้งที่คนเลี้ยงหมูไม่มีคนมาซื้อ ซ้ำขายราคาหน้าฟาร์มยังแค่ 60 บาทต่อกิโลกรัม แต่ไปถึงผู้บริโภค ราคาหน้าเขียงกลับพุ่งสูงกว่า 220 บาท
ไม่รู้ไปแพงจุดไหน คนเลี้ยงขายได้ราคาถูก แต่ผู้บริโภคซื้อแพง
ซึ่งก็มีคำชี้แจงแบบด่วนจี๋จากกรมปศุสัตว์
ออกหน้าแทนพ่อค้าคนกลางว่า ฟาร์มหมูดังกล่าวอยู่ในระบบประกันราคากับบริษัทฯ มีข้อตกลงซื้อขายตามประกันราคาที่ 61 บาท/กก. และเป็นความเข้าใจผิดของคนให้ข่าว
ผมว่ายิ่งพูดก็ยิ่งเข้าตัว แล้วก็ยิ่งเห็นชัดว่าราคาที่มันพุ่งขึ้นไป ไม่ใช่ภาวะกลไกตลาดปกติ
ราคาหน้าฟาร์มยังอยู่แค่ 61 บาท แต่ไปถึงหน้าเขียง มันพุ่งถึง 220 บาท ได้อย่างไร
ราคามันต่างกันตั้ง 3-4 เท่า
คิดแบบชาวบ้านทั่วไป ยังไงก็ไม่เข้าใจแบบที่กรมปศุสัตว์เข้าใจ
หรือพวกเราประชาชน คิดไม่ได้แบบที่นายทุน-หน่วยงานภาครัฐ เขาคิดกัน.
เพลิงสุริยะ