วันรัฐธรรมนูญของประเทศไทยตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี คนไทยคงไม่ต้องไปจำว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีกี่ฉบับแล้ว มีการปฏิวัติรัฐประหาร มากี่ครั้งแล้ว ใครเป็นนายกฯของประเทศไทย คนที่เท่าไหร่บ้าง เพราะประชาธิปไตยของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยเกินไป

การเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองการปกครองของประเทศไทยบางจังหวะบางช่วงเวลา ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิถีของประชาธิปไตยด้วยซ้ำ ชาวบ้านไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย การเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นโดยประชาชน เพื่อประชาชน ไม่เคยประสบผลสำเร็จเลยแม้แต่ครั้งเดียว

เราจะมีประชาธิปไตย เราจะมีรัฐธรรมนูญไปทำไม ถ้าประชาธิปไตย หรือรัฐธรรมนูญเป็นแค่เครื่องมือหรือเครื่องหมายการค้าของคน

กลุ่มหนึ่งเท่านั้น แล้วจับประชาชนเป็นตัวประกัน เราต้องจ่ายค่าประชาธิปไตยในการเลือกตั้งแต่ละครั้งในราคาที่แพงมาก

แต่ผลที่ออกมาไม่ว่าจะเป็น ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ในท้ายที่สุดเราก็ได้นักการเมือง ได้รัฐบาล ที่ไม่แตกต่างกัน แค่

สลับขั้วกันไปมา ใครที่เคยสบประมาทว่า ทหารปกครองประเทศไม่เป็น วันนี้คงจะเห็นบทพิสูจน์กันแล้วว่า นักการเมือง ต่างหากที่ปกครองประเทศไม่เป็น

คนที่มาเรียกร้องสิทธิประโยชน์ เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชาวชุมชนจะนะ จ.สงขลา จะเป็นนักเรียนนิสิตนักศึกษาที่รวมตัวกันจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศ ซึ่งไม่เคยเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ทางการเมืองไทยมาก่อน ลามไปถึงวงการสงฆ์ ที่ถามถึงความหมายของสิทธิและเสรีภาพในประเทศไทย

ผลก็คือ ต้องรับทัณฑ์ทางกฎหมาย คดีความติดตัว ติดคุกติดตะราง

หลักสิทธิมนุษยชนของไทยถูกเพ่งเล็งมากที่สุด ในทุกด้าน การออกมาต่อต้านนโยบายรัฐไม่ได้หมายถึงการล้มล้างการปกครอง เป็นเส้นยาแดงผ่าแปด ระหว่าง หลักนิติศาสตร์ กับ รัฐศาสตร์ รัฐไม่เคยตั้งวงเจรจากับผู้เรียกร้อง แต่ใช้อำนาจทางกฎหมายบังคับ ก็ไม่ต่างจากการให้เผด็จการอำนาจ หรือเหลิงอำนาจ

...

ถ้าวันหนึ่ง เราจะต้องมาทบทวนกันว่า ประเทศไทย เป็นประชาธิปไตยแล้วหรือยัง คงเป็นเรื่องที่น่าวิตกว่า ประชาธิปไตยในประเทศไทย จะได้รับการยอมรับต่อไปหรือไม่

ถ้าเราจะใช้โมเดลเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยจะถูกปักหมุดทันที

ความรู้สึกของสังคมทั่วไปเวลานี้ ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับรัฐธรรมนูญว่าจะแก้ไขกันอย่างไร จะมีบัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือสองใบ หรือจะมี ส.ส.กี่คน ส.ว.กี่คน มีที่มาที่ไปอย่างไร

เป็นความรู้สึกที่ตายด้านและชินชากับระบอบประชาธิปไตยไทย

มีคนรุ่นใหม่ที่พยายามเลือกอนาคตตัวเอง สู้ไปเจ็บไป ไม่มีแม้แต่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ด้วยซ้ำ วันนี้เรายังอยู่ในกะลาครอบ

ที่มองไม่เห็นอะไรชัดเจน วันหนึ่งเมื่อเราต้องก้าวไปสู่โลกภายนอก เราจะเห็นกะลาที่ครอบไว้มหึมาขนาดไหน เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ใช่สัญลักษณ์ของประชาธิปไตยอีกต่อไป บ้านเมืองก็ไม่มีประชาธิปไตยอีกต่อไปเช่นกัน.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th