ยังไม่ยุบสภานะจ๊ะ คำยืนยันของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่ตอกย้ำกันกลางวง ครม. วันก่อน
พูดถึงกระแสข่าวยุบสภาและเลือกตั้งว่า ไม่มีแนวคิดเหมือนที่สื่อเล่นกัน อย่าเพิ่งไปวุ่นวาย รัฐบาลจะเร่งทำงานช่วยเรื่องน้ำท่วมและโควิดก่อน
พร้อมกับออกตัวชี้แจงเรื่องตัวเลข 5 ปีที่พูดไป จนถูกนำไปตีความว่าจะขอต่ออำนาจไปอีก 5 ปีนั้น นายกฯประยุทธ์ บอกว่า หมายถึงผลงานที่ทำมาจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นใน 5 ปี ทั้งเรื่องอีอีซี โครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมต่างๆ ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่ยาวอีก 5 ปี
และยังมีภารกิจงานสำคัญอย่างยิ่งยวดคือ การเตรียมความพร้อมในการเป็น เจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย–แปซิฟิก หรือเอเปก
ที่ไทยจะรับไม้ต่อจากนิวซีแลนด์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกในปี 2565 อยากให้ทุกคนช่วยกันสร้างความรับรู้ อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้
“อยากให้ทุกคนโฟกัสเรื่องนี้เป็นพิเศษ ตอนนี้รัฐบาลเราต้องช่วยกัน จุดสำคัญตอนนี้คือการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปก ขอให้ทำงานให้เต็มที่ ไม่ได้รีบไปเลือกตั้ง ที่ผ่านมาก็ทำงานดีแล้ว ตอนนี้ต้องเร่งสร้างผลงานให้ดีๆก่อน ต่อจากนั้นใครจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากันไป”
ชัดเจนว่าเสร็จภารกิจสร้างหน้าสร้างตา ให้ผู้นำไทยที่มาจากประชาธิปไตยเสี้ยวใบ ได้กระทบไหล่ผู้นำระดับโลกก่อน หลังจากนั้นค่อยไปว่ากันเรื่องยุบสภา เลือกตั้งใหม่
แต่เชื่อเหอะว่าเส้นทางนี้จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบให้ พล.อ.ประยุทธ์ เดินแน่
กลุ่มเยาวชนปลดแอกคงไปเอาคืนแบบทบต้นทบดอกกันในช่วงนั้น
ยิ่งประเด็นปัญหาปากท้องประชาชน จะเป็นตัวชี้ชะตารัฐนาวาเรือแป๊ะ อยู่หรือไป
...
มีข้อมูลจากนักวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คุณสุพริศร์ สุวรรณิก นักวิจัยอาวุโส กล่าวในงาน PIER Research Brief ครั้งที่ 1/2564 เรื่อง “โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย : ความเปราะบางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง”
ระบุว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในบริบทของโลกที่ไม่เหมือนเดิม โดยไทยกำลังเผชิญกับ 5 จุดเปราะบางทางเศรษฐกิจ ได้แก่
1.เศรษฐกิจไทยเปราะบางต่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการพึ่งพาต่างประเทศในระดับสูง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การพึ่งพิงจีนและสหรัฐอเมริกา ในหลายด้าน อาทิ การส่งออกไปยัง
2 ประเทศนี้ มีมูลค่ารวมกันเกือบ 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด การท่องเที่ยวที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนสูงถึง 28%
2.หากปรับตัวไม่ทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาจทำให้ไทยตกขบวนรถไฟได้ โครงสร้างการส่งออกของไทย สร้างมูลค่าเพิ่มได้ในระดับกลางๆ เทียบกับเพื่อนบ้านที่ใช้สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลางและขั้นสูง
3.ภาวะโลกร้อนจะส่งผลใหญ่หลวงต่อไทย หากไม่เร่งปรับตัว มากกว่า 10% ของธุรกิจในอุตสาหกรรมส่งออกหลัก อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น
4.การเข้าสู่สังคมสูงอายุส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลายด้าน
5.วิกฤติโควิด–19 ที่สร้างรอยแผลเป็นต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้น (หนี้สินครัวเรือนพุ่งสูง) ส่อเป็นหนี้เสีย
ขณะที่ประเด็นด้านสังคม งานวิจัยนี้ได้ฉายภาพความเปราะบางของสังคมไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
เมื่อความสมานฉันท์ในสังคมไทย (คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า) อยู่ในระดับต่ำ
เมื่อจุดศูนย์กลางปัญหายังอยู่ ก็ยากที่ประเทศจะเดินหน้า.
“เพลิงสุริยะ”