เรื่องขึ้นปก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ก.ย.64 ชีวิตพิสดารของ อาจารย์เซ่ง หมอดูเลื่องชื่อสมัย ร.4 (ทิพวรรณ บุญส่งเจริญ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ กรมศิลปากร) ใครที่เครียดอยู่กับบ้าน อ่านแล้วยิ้มได้...
นี่คือวิถีของพระแบบหนึ่ง เป็นข่าวอื้อฉาวถึงขั้น คุณพุ่ม (บุษบา ท่าเรือจ้าง) เขียนไว้ 1 ใน 12 ข้อคำอธิษฐาน “ขออย่าให้รู้ชะตาเหมือนอาจารย์เซ่ง”
คำอธิษฐานข้อนี้ มีคำอธิบาย นายเซ่งคนนั้นเป็นหมอดู ใครไปให้ดูก็มักทายว่าดวงชะตาดี จนถึงได้เป็นกษัตริย์บ้าง ได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่บ้าง เป็นเศรษฐีบ้าง คนก็หลงไปจ้างให้นายเซ่งดูชะตา
เรื่องราวอาจารย์เซ่ง ที่อยู่ในวรรณคดี ไม่ปรากฏว่า พระราชอาญาที่ได้รับโทษนั้นคืออะไร
ร.4 ทรงมีพระราชทัศนะว่า การทำนายที่เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดินนั้น “โทษถึงตาย” จะต้องประหารชีวิตเสียให้ได้ทีเดียว แต่การลงพระราชอาญาอาจารย์เซ่ง ด้วยการฆ่าหรือเฆี่ยนก็เกรงจะเสื่อมเสียพระเกียรติ
จึงเนรเทศให้ออกจากกรุงเทพฯไปเมืองสงขลา ด้วยเหตุผลสำคัญสองประการ
ประการแรก เป็นบ้านเกิดของอาจารย์เซ่ง อีกประการหนึ่ง ต้องการแยกให้ห่างจากผู้ที่ศรัทธาเชื่อถือ จะไปดูดวงหรือขอรับน้ำมนต์อีก
ถึงกับแยกแล้วใช้ระยะทางเป็นอุปสรรค แต่ราชสำนักก็ยังไม่หมดความระแวง ยังคงเฝ้าระวังสอดส่องความเคลื่อนไหว เมื่อทางสงขลาทราบว่า จะมีเรือกลไฟกระบวนหลวง ซึ่งลงไปประพาสฝั่งทะเลตะวันตก (นานถึง 27-28 วัน) กำหนดว่าจะไปถึงมืองสงขลา
ได้ทราบว่ากรมหมื่นอุดมรัตนราษี ไปคิดกับพนักงานในกรมพระกระลาโหม ให้มีท้องตราไปขับไล่ สมีมี สมีบุญ (เนรเทศชุดเดียวกัน) และอ้ายเซ่ง ให้ไปเสียจากเมืองสงขลา
ไปคุมไว้ ณ เมืองพัทลุง
ด้วยระแวงว่าเจ้านาย แลข้าราชการข้างในบางพวกในกระบวนที่นับถือ สมีมี สมีบุญ แลอ้ายเซ่งอยู่แต่ก่อน จะลอบไปมาหาขอน้ำมนต์ถามวิชาให้ทักให้ทายอย่างใดอย่างหนึ่ง
...
ถ้าความทราบมา ก็จะเป็นที่หม่นหมองขัดเคืองต่อไป
การเตรียมการอย่างเคร่งครัดรัดกุมไม่ให้ผู้มีบุญวาสนาจากกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสพบปะหมอดูกันที่สงขลา ชวนให้สงสัยว่าอาจารย์เซ่ง ก่อคดีอะไรร้ายแรงไว้ก่อน
คดีหมอดูที่ ร. 4 ทรงรวบรวมไว้ ตั้งแต่สมัย ร. 1 ไปถึง สมัย ร. 3 ตัวอย่างคดีกรมหลวงรักษรณเรศ (หม่อมไกรสร) จากคดีว่าความไม่ยุติธรรม ถูกรื้อฟื้นไปถึงคดีกำเริบคิดเป็นวังหน้า คิดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
คดีนี้มีหมอเส้ง หมอจันโลกเนตร เป็นหมอดู ทำนายทายทักยุยงส่งเสริม
คดีอาจารย์เซ่ง ซึ่งผู้ใหญ่บางท่านสงสัยจะเป็นพระ แต่ไม่มีข้อสรุปชัด
ความผิดคดีอาจารย์เซ่ง ก็คงเป็นแค่หมอดู หรือคนทรงผี ซึ่ง ร. 4 ทรงมีพระราชทัศนะ มักจะหากินด้วยการทักด้วยเรื่อง ความกลัว ความไม่รู้ ความโลภ
เช่นในประกาศดาวหาง ปีระกา ตรีศก คนกลัวอะไรมาก อยากอะไรมาก คนทรงผีแลหมอดูก็จะพอใจเอาสิ่งนั้นมาว่า ยุแยง ให้คนตื่นไปต่างๆ เมื่อเห็นดาวหางครั้งก่อนมีมา ก็พอใจจะลือว่า “เจ้าจะตาย นายจะล้ม ผู้มีบุญจะมา”
บทสรุปเรื่องชีวิตพิสดารอาจารย์เซ่ง คุณพุ่มจึงนำมาตั้งประเด็นเป็นหนึ่งในคำอธิษฐาน ทำนองว่าอาจารย์เซ่งเก่งแต่ดูดวงชะตาคนอื่น จนลืมดูชะตาตัวเอง.
กิเลน ประลองเชิง