วันที่ 19 กันยายน 2564 เป็นวัน ครบรอบ 15 ปี ที่คณะรัฐประหาร คมช.ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเครือข่ายขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่ากลุ่มคาร์ม็อบจะขับรถยนต์ชนรถถัง เป้าหมายไม่ใช่การรำลึกถึงรัฐประหาร แต่ต้องการย้ำว่ามีการสืบทอดอำนาจจนถึงปัจจุบัน ผ่านรัฐประหารสองครั้ง
ครั้งที่หนึ่งคือรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตามด้วยรัฐประหาร คสช.ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา 89 ปี ประเทศไทยมีรัฐ ประหาร (ที่สำเร็จ) 13 ครั้ง ที่ไม่สำเร็จอีก 11 ครั้ง รวมเป็น 24 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ทั้งสองอย่าง แต่อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก
เพราะฉะนั้น ถ้าหากจะจัดพิธีรำลึกถึงรัฐประหารทุกครั้ง อาจต้องจัดเกือบทุกเดือนจนตลอดปี รัฐประหารปี 2549 มีข้ออ้างว่ามีการทุจริตอ่างมโหฬารในรัฐบาล มีการใช้อำนาจครอบงำรัฐสภา องค์กรอิสระและสื่อ กล่าวหานายกรัฐมนตรีจาบจ้วง และเกิดการแตกแยกในสังคมไทย อาจถึงขั้นปะทะกันระหว่างคู่ขัดแย้ง
“การทุจริตโกงกิน” เป็นข้ออ้างอมตะนิรันดร์กาล ในเกือบทุกครั้งที่ยึดอำนาจ ตามด้วยข้อหารัฐบาลปล่อยให้ข้าวยากหมากแพง ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า แต่สองครั้งหลังสุด อ้างถึงความขัดแย้งในสังคมไทย แบ่งแยกเป็นกลุ่มเสื้อหลากสี คณะรัฐประหารรับอาสาจะเข้ามาขจัดความขัดแย้ง แต่กลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง
รัฐประหารแต่ละครั้ง ทำให้การเมืองไทยถอยหลังเข้าคลอง จากที่เคยเป็นดาวรุ่งประชาธิปไตยในอาเซียน ขยับเข้าใกล้เคียงพม่าเข้าไปทุกที จึงขอภาวนาว่าอย่าให้การเมือง ทำให้ไทยเป็นประเทศยากจน แบบเดียวกับพม่า ภายใต้เผด็จการนานหลายทศวรรษ ไม่ยอมให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้
เรื่องน่าเศร้าก็คือ แม้แต่ประเทศไทยขณะนี้ ก็ยังมีกระแสข่าวเล่าลือเกี่ยวกับรัฐประหาร จนนายอันวาร์ สาและ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ทนไม่ไหวต้องส่งจดหมายเปิดผนึก ถึงบรรดาผู้นำเหล่าทัพ ที่น่าเศร้าก็คือในขณะที่มีวิกฤติต่างๆเกิดขึ้นในประเทศ แทนที่จะพูดถึงการแก้ปัญหา หรือวิกฤติ ตามวิธีประชาธิปไตย
...
แต่มีคนบางส่วนพูดถึงการแก้ปัญหา ด้วยการใช้กำลังยึดอำนาจ กลับคืนสู่ยุคหิน ในสังคมที่อ้างว่าก้าวรุดหน้า ด้วยเทคโนโลยีนานัปการ แต่การเมืองกลับล้าหลัง กลายเป็นประชาธิปไตยขี้โรค ป่วยกระเสาะกระแสะ สามวันดีสี่วันไข้ ไม่ยอมให้แก้ไขแม้แต่รัฐธรรมนูญ ให้ ส.ส.เลือกนายกรัฐมนตรีได้กลุ่มเดียว.