หกองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนยังคงเดินหน้า ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านโฆษกรัฐบาล ขอให้ยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 27 และ 29 ที่ประกาศใช้ตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินในทันที เพราะองค์กรสื่อมวลชนกังวลว่า หน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายอาจนำไปใช้ เพื่อปิดกั้นการเสนอข่าวของสื่อ และเสรีภาพการแสดงความเห็น

ข้อกำหนดที่ 29 ที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้ กสทช.และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการกับผู้เผยแพร่ข่าวสารที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือมีเจตนาบิดเบือน องค์กรสื่อมวลชน ขอให้ยกเลิก เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และ 35 ว่าด้วยเสรีภาพประชาชน

หากนายกรัฐมนตรียังเพิกเฉย องค์กรสื่ออาจร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ หรือร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรี ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังคำวิจารณ์ของนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการ กสม. ที่ยืนยันว่าขัดแน่นอน

อดีตกรรมการ กสม. ระบุว่าการ ออกกฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน ฐานทำให้เกิดความหวาดกลัว ขัดทั้งรัฐธรรมนูญ และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง รัฐบาลเผด็จการเท่านั้นที่มีแนวคิดเช่นนี้ คนที่กลัวความจริงเรื่องความล้มเหลวในการแก้ปัญหาโควิด น่าจะเป็นรัฐบาลมากกว่า เลยใช้กฎหมายปิดปากประชาชน

ถ้ามองย้อนกลับไปประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะพบว่ารัฐบาลส่วนใหญ่ที่มาจากรัฐประหาร เชื่อมั่นว่าอำนาจปิดปากประชาชนได้ จึงออกกฎกติกาต่างๆ เพื่อควบคุมการเสนอข่าวและการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน เช่น ห้ามเสนอข่าวหรือความเห็นที่เป็นลบต่อรัฐบาล หรือเรื่องราวที่ทำให้ประชาชนหวาดวิตก

ตัวอย่างเช่นประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 หรือ ปว.17 หลังรัฐประหาร 2502 และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 หรือ ปร.42 หลังรัฐประหาร 2519 และใช้ควบคุมหนังสือพิมพ์นานถึง 12 ปี (ขณะนั้นวิทยุ และโทรทัศน์ยังเป็นของรัฐ) ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2531 ตามข้อเรียกร้ององค์กรสื่อ ในยุครัฐบาลเลือกตั้ง

...

รัฐบาลปัจจุบันสืบทอดมาจากรัฐประหารเช่นกัน แต่ผ่านพ้นช่วงรัฐประหารมาหลายปี มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง แม้จะเป็นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร แต่ไม่มีกฎหมายควบคุมสื่อของตนเอง แต่รัฐบาลนี้จะติดใจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงนำมาใช้ควบคุมสารพัด ทั้งไฟใต้ โควิด การชุมนุม และสื่อมวลชน.