“นิสิตพยาบาลชาวมุสลิม” ร้อง กรรมาธิการการกฎหมายฯ หลังถูกมหาวิทยาลัย ห้ามสวมฮิญาบ แถมบังคับให้ใส่เสื้อแขนสั้นตอนฝึกงาน ในโรงพยาบาล อ้าง เป็นข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

วันที่ 23 มิ.ย. 2564 เวลา 10.00 น. นายหะบีบ ชิมะ สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม หรือ ส.น.ท. ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายสิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วย นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ, กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ รวมถึง น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เพื่อร้องเรียกกรณีที่มีนิสิตมุสลิม สาขาวิชาการพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ในประเด็นเครื่องแต่งกายฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลและชุมชน เนื่องจากเป็นเสื้อแขนสั้นและไม่สามารถสวมฮิญาบได้ถือเป็นการขัดต่อบทบัญญัติศาสนา ซึ่งทางสมาคมฯ มีความพยายามในการหารือและแนวทางแก้ไขกับทางมหาวิทยาลัยแต่ไม่สามารถหาทางออกได้

“รัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 31 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ ในการถือศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มาตรา 50 (6) บุคคลมีหน้าที่เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม จึงขอให้ทางกรรมาธิการช่วยตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้นด้วย” นายหะบีบ กล่าว

ด้านนิสิตหญิง กล่าววว่า ได้ติดต่อมาเพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องรูปแบบเครื่องแต่งกายในมหาวิทยาลัย โดยทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้แต่งกายตามหลักศาสนา เช่น เครื่องแต่งกายฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาล และเครื่องแต่งกายฝึกปฏิบัติงานในชุมชน ทางมหาลัยบังคับให้ใส่แขนสั้นไม่เลยข้อศอก และไม่อนุญาตให้ใส่ฮีญาบในขณะขึ้นฝึกที่โรงพยาบาล ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม

...

“ดิฉันได้เข้าพบผู้ใหญ่ของทางมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ได้ข้อสรุปว่า ไม่อนุญาตให้แต่งกายตามหลักศาสนา แต่การสวมใส่เสื้อแขนสั้นและไม่สวมฮิญาบ เป็นสิ่งที่ชาวมุสลิมไม่สามารถปฏิบัติได้ การแต่งกายตามหลักศาสนา ไม่ได้มีผลอะไรต่อการเรียน แม้เป็นระเบียบของสถาบัน แต่ขัดต่อหลักการศาสนาของดิฉัน”

โดยนายสิระ กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการ หากที่ประชุมมีมติรับเรื่องไว้พิจารณา ก็จะมีการเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และหาแนวทางแก้ไขต่อไป.