ไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะย้อนถามกลับว่า “ผมผิดอะไร?” อีกหรือไม่ หลังจากที่ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านออกแถลงการณ์ ระบุว่ายึดอำนาจและบริหารประเทศมากว่า 7 ปีแล้ว ล้มเหลวเกือบทุกด้าน ทั้งการแก้ไขการแพร่ระบาดของโควิด และการ บริหารเศรษฐกิจ ฝ่ายค้านจึงเห็นว่า ต้องลาออกทันที

ผู้อ่านแถลงการณ์ ได้แก่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และมีคำชี้แจงเพิ่มเติมจากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าเมื่อรัฐบาลลาออกแล้ว ให้ตั้งรัฐบาลที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อบริหารประเทศชั่วคราว และมีภารกิจสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ แก้ปัญหาโควิด

เรื่องที่สอง แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัดท่ออำนาจ คสช. จากนั้นยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว เป็นข้อเรียกร้องที่น่าฟัง และตรงกับความเห็นหลายฝ่ายทั้งในและนอกสภา แต่น่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะขนาดเปิดอภิปรายแบบเจ็ดวันเจ็ดคืน เพื่อไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง แต่แพ้ยับเยิน

ถ้าคราวนี้ นายกรัฐมนตรีย้อนถามอีกว่า “ผมผิดอะไร?” ถึงจะมาขับไล่ ก็ต้องไปหาคำตอบคนแถลงการณ์ของฝ่ายค้าน ทำไมจึงต้องขับไล่นายกรัฐมนตรี นอกจากล้มเหลวในการแก้ปัญหาโควิด และวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศแล้ว นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ทำตามสัญญา ที่จะเปิดทางให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นนโยบายรัฐบาล

ฉะนั้น ถ้าถูกนายกรัฐมนตรีถามว่า “ผมผิดอะไร?” กลุ่มผู้ที่ยึดมั่นในประชาธิปไตย อาจชี้ว่าความผิดร้ายแรงอย่างหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ การยึดอำนาจรัฐบาลเลือกตั้ง เท่ากับยึดอำนาจประชาชน ฉีกรัฐธรรมนูญเดิมทิ้ง แล้วสั่งให้ร่างขึ้นใหม่ 2560 แทนที่จะคืนอำนาจให้ประชาชน กลับสืบทอดรัฐประหาร

...

เป็นรัฐธรรมนูญที่ขัดหลักการประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง แทนที่จะให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของ ส.ส. ที่มาจากประชาชน แต่กลับให้ 250 ส.ว. ที่หัวหน้า คสช.แต่งตั้ง มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี และกลายเป็นคะแนนชี้ขาดการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องชี้ขาดด้วย ส.ว.อย่างน้อย 84 คน ประชาธิปไตยแบบไหนกัน?

ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีรัฐประหารมากสุดในอันดับต้นๆของโลก มากกว่าพม่าหลายเท่า และมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น รัฐประหารแต่ละครั้งก่อให้เกิดความขัดแย้ง และแตกแยกทางการเมือง เพราะคนส่วนใหญ่ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตย น่าเสียดายที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปกครองประเทศหลายปี แต่ไม่ยอมแก้กฎหมายสูงสุดให้ถูกต้อง.