ศอส.รายงานสถานการณ์น้ำท่วม พบ 28 จ.ยังจม มีผู้เสียชีวิตแล้ว 252 ศพ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย และป่าสักวิกฤติ คาด 13-14 ต.ค.น้ำมวลใหญ่โจมตีนครสวรรค์ พร้อมกำชับลุ่มเจ้าพระยาเตรียมรับมือ...

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่กระทรวงมหาดไทย นายพระนาย สุวรรณรัฐ รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 28 จังหวัด ผู้เสียชีวิต 252 ราย สูญหาย 3 ราย สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ยังอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อย โดยมีปริมาณน้ำเกือบเต็มความจุ 99 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 135 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ระยะนี้ร่องฝนเลื่อนตัวพาดผ่านพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออก ทำให้พื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก กำแพงเพชร ราชบุรี เพชรบุรี จันทบุรี และตราด เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม

...


นายพระนาย กล่าวต่อว่า สถานการณ์ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างยังค่อนข้างวิกฤติ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลวันละกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่พื้นที่ดังกล่าวมีสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่แล้ว คาดว่ามวลน้ำจากเขื่อนภูมิพลจะไหลมาสมทบกับมวลน้ำเดิมในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างในระยะ 7 วันข้างหน้า ส่งผลให้สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงวันที่ 13 – 17 ต.ค. และ 26 – 31 ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงและมีน้ำเหนือไหลมาสมทบ หากมีฝนตกหนักจะทำให้สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ ในวันที่ 13-14 ต.ค. ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านนครสวรรค์จะสูงถึง 5,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในช่วงวันที่ 15-16 ต.ค. สูงถึง 4,100 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของเขื่อนเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่นครสวรรค์ สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี โดยเฉพาะลพบุรีและพระนครศรีอยุธยา ขยายวงกว้าง และระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณน้ำฝนและน้ำเหนือที่ไหลมาสมทบในช่วงดังกล่าว ศอส.จึงได้กำชับให้จังหวัดพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยาและภาคกลางตอนล่างเตรียมพร้อมรับมือภาวะน้ำล้นตลิ่งเข้าขั้นวิกฤติ โดยเร่งเสริมแนวคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น พร้อมตรวจสอบคันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง.