พรรคพลังประชารัฐ ลุยเดี่ยวแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ถึง 13 มาตรา 5 ประเด็น โดยไม่สนใจพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ตัวอย่างประเด็นที่ขอแก้ไข เช่น ให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านกฎหมาย แก่ประชาชนที่ฟ้องหน่วยงานรัฐ และแก้ไขการเลือกตั้ง ส.ส.ไปเป็นบัตร 2 ใบ

อีกสองประเด็นสำคัญที่ขอแก้ไข ได้แก่ มาตรา 144 และ 185 มาตรา 144 ห้าม ส.ส. หรือ ส.ว. แปรญัตติ เพื่อให้ตนมีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่าย ส.ส.ผู้ฝ่าฝืน อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพ และถูกเพิกถอนสิทธิในการสมัคร รับเลือกตั้ง แม้แต่คณะรัฐมนตรีผู้อนุมัติ หรือ รู้เห็นเป็นใจ ก็ต้องพ้นจากรัฐมนตรีทั้งคณะ

เห็นได้ชัดว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ให้ความสำคัญในประเด็นนี้มาก ส่วนร่างแก้ไขของพรรค พปชร.ก็ยังห้ามเหมือนเดิม แต่ไม่ได้พูดถึงการลงโทษผู้ฝ่าฝืน ส.ส. หรือ ครม.จะพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ อาจลงโทษแต่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้การแปรญัตติสิ้นสุดไป แต่ ส.ส.อาจลักลอบซ่อนงบแปรญัตติไว้ได้ ถ้าจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน

อีกมาตราหนึ่งคือมาตรา 185 ที่ห้าม ส.ส. หรือ ส.ว. ก้าวก่าย หรือแทรกแซงในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ ห้ามกระทำ การในลักษณะที่ทำให้ตนมีส่วนร่วม ในการใช้จ่ายงบประมาณ หรืออนุมัติโครงการใดๆ

ของหน่วยงานของรัฐ และยังห้ามก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายของข้าราชการ แต่พรรค พปชร.ขอแก้ไขเพียงบางส่วน

ร่างแก้ไขของ พปชร.ตัดทิ้งข้อห้าม ส.ส.ก้าวก่ายแทรกแซง ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ และการห้ามกระทำการ เพื่อให้ตนมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายงบประมาณ หรือในการอนุมัติโครงการของหน่วยงานรัฐ คงห้ามประการเดียว คือ ห้ามก้าวก่ายแทรกแซง ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เพื่อให้ติดต่อหน่วยงานรัฐได้

...

การยกเลิกข้อห้ามไม่ให้ ส.ส.จุ้นในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ ไม่ห้ามจุ้นในการจัดทำโครงการ หรือจัดหางบประมาณของหน่วยงานรัฐ เท่ากับเปิดประตูอ้าซ่า ส่งเสริมให้เกิด “ส.ส.ขี้กร่าง” เบ่งทับข้าราชการหรือไม่ จะเปิดช่องให้ ส.ส. (โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล) แอบจัดหาโครงการ เพื่อหาเสียงหรือฉ้อฉลรัฐหรือไม่

ทุกฝ่ายคงจะจำกันได้ เคยมีบางยุคบางสมัย ที่รัฐธรรมนูญและรัฐบาลเปิดช่องให้ ส.ส.ผู้มากด้วยบารมี สามารถแปรญัตติจัดหางบก้อนโต เพื่อหาเสียงในเขตเลือกตั้ง บางรายกลายเป็นโครงการใหญ่ เช่น การก่อสร้างสนามกีฬาของโรงเรียน กลายเป็นข่าวอื้อฉาว ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด ส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องคดี แต่ยังเงียบๆอยู่

พปชร.เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล และเป็นพันธมิตรกับ 250 ส.ว. จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งที ทำไมไม่แก้ประเด็นที่เป็นแก่นแท้ของประชาธิปไตย เช่น การเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง ต้องผ่านการเลือกตั้ง โดยสุจริตและเที่ยงธรรม สมกับคำกล่าวที่ว่า เป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ทำไมจึงคิดได้แต่เรื่องเล็กๆ.