ผมเก็บความหมายคำ อุกกาบาต ที่ชาวบ้านเรียกผีพุ่งใต้ กลายเป็นคำ “กลาบาต” ลักษณะงานของทหารโบราณ จุดไฟรายล้อม ถวายอารักขาพระเจ้าแผ่นดิน ขณะเสด็จแรมคืนนอกพระราชวัง เอามารวมเป็นความหมายของการใช้ไฟบูชากองกูณฑ์ บูชาเทพเจ้าของชาวฮินดู มาเหมาเป็นคำ “กลาโหม”
วันนี้ 8 เมษายน 2564 ครบรอบ 134 ปี ที่รัชกาลที่ 5 ท่านสถาปนางานของทหาร เป็นกรมยุทธนาธิการ ซึ่งต่อมา ก็คือกระทรวงกลาโหม จึงอยากหาเรื่องเก่าๆ เล่าเรื่องไฟ ที่เป็นความหมายดั้งเดิมของงานทหาร มาเล่าสู่ให้ทหารฟัง
สัญญาณไฟ ในสมัยราชวงศ์โจวตะวันตกของจีน ราวสองพันห้าร้อยกว่าปีที่แล้ว นครใดจุดขึ้นมา แสดงว่า นครนั้น ถูกข้าศึกบุกประชิด ต้องการความช่วยเหลือจากนครพันธมิตรที่อยู่ใกล้ๆ
จีนยุคนั้น มีแคว้นใหญ่น้อย 170 แคว้น แคว้นโจวเป็นแคว้นใหญ่ อยู่นครหลวงเฮ่าจิง มีพันธมิตรจำนวนหนึ่ง
ประวัติศาสตร์จีนตอนนี้ อาจารย์ ถาวร สิกขโกศล เขียนไว้ในหนังสือ “แลหลังแดนมังกร” นานมีบุ๊คส์ (พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2542) บอกชื่อ ยิ้มพันตำลึงทอง คงพอจำได้ แต่อีกชื่อ จุดไฟลวงเจ้าผู้ครองนคร หลายคนอาจไม่คุ้น
โจวอิวหวาง อ๋องราชวงศ์โจว ถูกเรียกทรราช ตามด้วยคำบรรยาย...ราชการงานเมืองใดๆไม่แยแส ใส่ใจแต่เรื่องสุรา นารี ดนตรี และความบันเทิงนานา
ขุนนางใหญ่ เจ้าซู่ไต้เตือน ควรแสวงหาคนดีมีปัญญามาใช้งานบ้านเมือง ก็ถูกสั่งขับไล่ เปาเซี่ยง ขุนนางใหญ่อีกคนเตือนซ้ำ ขืนประพฤติเยี่ยงนี้ ไม่ช้าราชวงศ์จะล่มสลาย เจอโทษขังคุก
ครอบครัวเปาเซี่ยง หาสาวงามจากชนบทมาให้โจวอิวหวางเป็นการไถ่โทษ ได้นางเปาสือสวยกว่านางใด โจวอิวหวางถูกใจ ปล่อยเปาเซี่ยงพ้นโทษ
...
จากนั้นวันๆ ก็ลุ่มหลงเฝ้าตามนางเปาสือ แต่ก็ขัดใจ สาวงามคนนี้ ไม่ยอมยิ้มออกมาเลย
เมื่ออ๋องประกาศให้รางวัลพันตำลึงทอง หากใครทำให้นางเปาสือ ยิ้มออก กว๋อสือฟู่ อาสาให้พานางไปพักผ่อนบนตำหนักเขาหลีซาน ตกค่ำก็สั่งจุดไฟสัญญาณบอกข่าว เจ้าผู้ครองนครใกล้เคียง
การจุดไฟบอกสัญญาณข้าศึกประชิดเมือง เป็นเรื่องใหญ่ เจิ้งป๋อโหย่วห้าม โจวอิวหวางตวาดว่า “พูดมาก”
ทันทีที่ไฟสัญญาณสว่างโพลง เจ้านครพันธมิตร ก็ระดมทัพเดินทางมาทั้งกลางวันกลางคืน เมื่อถึงเขาหลีซาน ก็พักทัพรอฟังคำสั่ง
ไม่มีเสียงสั่งใด บนพลับพลาเขาหลีซาน กังวานด้วยเสียงขับร้องฟ้อนรำ เจ้านครส่งคนไปถามซ้ำ ก็ได้รับรายงาน เห็นแต่โจวอิวหวางกำลังสุขสำราญอยู่กับนางเปาสือ รู้ว่าถูกหลอก ทุกเจ้านครสั่งถอนทัพกลับ
เหตุการณ์นี้โจวอิวหวาง รื่นเริงบันเทิงมาก ถามนางเปาสือ “สนุกไหม” นางงามรู้สึกทั้งน่าแค้นน่าขำ จึงยิ้มออกมาอย่างชาเย็นเท่านี้ โจวอิวหวาง ก็พอใจจ่ายรางวัลพันตำลึงทองให้เจ้าของความคิดทันที
ไม่นาน โจวอิวหวาง สั่งถอดพระมเหสี และปลด “ยีจิ้ว” รัชทายาท ตั้งนางเปาสือ เป็นมเหสี และตั้งป้อฝู เป็นรัชทายาทคนใหม่ ยีจิ้วหนีไปร่วมมือกับเผ่าซีหยง ยกทัพมาตีนครเฮ่าจิง นครของโจวอิวหวาง
ครั้งนี้ โจวอิวหวาง สั่งจุดสัญญาณไฟ แต่ไม่มีเจ้านครพันธมิตรใด ยกทัพมาเลยแม้แต่เมืองเดียว โจวอิวหวาง ถูกฆ่าตาย นางเปาสือถูกจับ เป็นเชลย
เจ็ดปีต่อมา กองทัพผสมของเจ้านครพันธมิตร ก็ยกมาขับไล่เผ่าซีหยงออกไป แต่ก็ยังสถาปนายีจิ้ว เป็นอ๋องราชวงศ์โจวต่อ โดยย้ายเมืองจากเฮ่าจิง ไปอยู่เมืองโล่วหยาง เริ่มต้นราชวงศ์ใหม่ เรียกชื่อว่าโจวตะวันออก
ประวัติศาสตร์จีนตอนนี้ ชี้ว่า ทหารผูกพันกับสัญญาณไฟ แต่เลือกเชื่อสัญญาณไฟจากผู้นำที่มีคุณธรรม
ผมอ่านแลหลังแดนมังกร เจอบันทึกเหมือนกันๆ ไม่ว่าอ๋องราชวงศ์ซางก่อนหน้า หรืออ๋องราชวงศ์โจวตะวันตก เมื่อเขียนว่าอ๋องใส่ใจแต่เรื่องสุรา นารี ดนตรี และความบันเทิงนานา ก็เป็นสัญญาณว่าอีกไม่ช้าจะสิ้นราชวงศ์.
กิเลน ประลองเชิง