การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เชื่อว่าจะเป็นหนทางลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองที่ง่ายที่สุด กลายเป็นเรื่องยาก เนื่องจากกลุ่มผู้มีอำนาจไม่ยอมปล่อยมือ มีรายงานข่าวว่า ในขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) มีสมาชิกยื่นแปรญัตติทั้ง ส.ส. และ ส.ว. มีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านกว่าร้อยคน
มีการหารือเรื่องการแก้ไขมาตรา 256 ที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กมธ.ฝ่ายค้านเสนอให้ตัดเสียงของ ส.ว. 1 ใน 3ออกไป ในการลงมติขึ้นรับหลักการ และใช้เสียงข้างมากของสองสภาเป็นตัวชี้ขาด ขณะที่ กมธ.บางส่วนเสนอให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา ส่วน กมธ.ฝ่ายรัฐบาลเสนอให้ชี้ขาดด้วยเสียง 3 ใน 5
กมธ.เป็น ส.ว. 15 คน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 17 คน แต่เป็น ส.ส.ฝ่ายค้านเพียง 13 คน ฝ่ายรัฐบาลกับ ส.ว. จึงคุมเสียง ข้างมากท่วมท้น ถ้าจะแก้ไข ม.256 เพื่อเปิดประตูไปสู่การแก้ไขมาตราอื่นๆ ตามข้อเสนอฝ่ายรัฐบาล จะต้องตัดสินกันด้วยคะแนนเสียง 3 ใน 5 ต้องได้ความเห็นชอบ จากสองสภา 450 เสียง
แต่ถ้ายึดตามข้อเสนอของฝ่ายค้าน คือชี้ขาดด้วยเสียงข้างมากของรัฐสภา จะต้องได้ 375 เสียงขึ้นไป ก็แก้ไข ม.256 ได้ โดยไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 84 คนขึ้นไป การแก้ไขจะง่ายขึ้น นอกจากจะทำให้เป็นประชาธิปไตย และประชาชนมีส่วนร่วมแล้ว ยังจะลดความขัดแย้งด้วย
แต่ถ้ายึดกติกาที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกทั้งสองสภา กว่า 450 คนขึ้นไป กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้เรื่องที่ควรจะง่ายกลายเป็นเรื่องยาก ถ้าหากรัฐบาลไม่มีความจริงใจที่จะแก้ไขเพราะยังต้องการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ดำรงไว้ซึ่งประชาธิปไตยครึ่งใบ
ยิ่งกว่านั้น ยังมีรายงานข่าวว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลบางคนจะแปรญัตติห้ามแก้ไขมาตรา 272 เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจของ 250 ส.ว. ให้เลือกนายกรัฐมนตรีได้ต่อไป ทั้งยังจะเสนอห้ามแก้ไขมาตราอื่นๆอีก ถ้าทำสำเร็จจะเท่ากับเป็นการมัดมือมัดเท้า ส.ส.ร. ให้กลายเป็น “สภาตรายาง” ร่างรัฐ-ธรรมนูญตามใบสั่งผู้มีอำนาจ
...
ทั้งๆที่ ส.ส.ร. 200 คน ที่ทั้งฝ่าย รัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอ ส่วนใหญ่จะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ส่วนข้อเสนอให้แก้ไข ม.256 ด้วยเสียง 3 ใน 5 หรือ 450 เสียงขึ้นไป จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ยากเย็นแสนเข็ญยิ่งขึ้น มีความพิสดารยิ่งขึ้น ต่างจากรัฐธรรมนูญอื่นๆที่ตัดสินด้วยเสียงข้างมาก.