ศาลปล่อยตัวชั่วคราว “เพนกวิน” สั่งห้ามกระทำผิดซ้ำ โดนเพิ่มอีกคดีละเมิดอำนาจศาล เจ้าตัวลั่นจัดเบิ้มๆ นำชุมนุมใหญ่ต่อ กลุ่มปชช.ปลดแอกรวมพลเรือนหมื่นขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ด้าน ศอปส.ส่งคนร่วมสังเกตการณ์เก็บหลักฐานเอาผิดจาบจ้วงสถาบันฯ บช.น.ระดมตำรวจ 4 กองร้อยรับมือจับตาเข้มกลุ่มตรงข้ามรวมพลพื้นที่ใกล้เคียง “ภัคพงศ์” ขอฟังกันบ้างให้อยู่ในกรอบ ก.ม.ชี้ยังมีผู้ต้องหาคดีเดียวกับ “พริษฐ์” อีกหลายคน เผย 31 ผู้ต้องหามีหมายจับแล้ว 15 จับกุมแล้ว 3 อีก 16 คนกำลังเก็บหลักฐาน นายกฯยันไม่เคยสั่งจับใคร โยนเป็นอำนาจหน้าที่ตำรวจ รัฐบาลปัดคุกคามเยาวชน “ณัฏฐพล” เตือนม็อบทำร้ายประเทศ พร้อมจับมือ “เอนก” เปิดเวทีรับฟังเสียงเยาวชน “สมพงษ์” บี้นายกฯฟังเด็กให้จริง ผนึกฝ่ายค้านยื่นญัตติแก้ รธน. “ภราดร” เชื่อจุดจบ “บิ๊กตู่” ไปต่อไม่ได้
จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทยอยจับกุม ดำเนินคดีแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล โดยล่าสุดได้จับกุมและนำตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ส่งฝากขัง โดยศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราว กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำผิดซ้ำ พร้อมทั้งตั้งข้อหาละเมิดอำนาจศาลอีกคดี
ตรึงกำลังเข้มส่งฝากขัง “เพนกวิน”
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 15 ส.ค.ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ผู้สื่อข่าวรายงานได้มีการเตรียมความพร้อมการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้น ในการนำตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำสนท.และแนวร่วมกลุ่มประชาชนปลดแอกมาฝากขัง โดยนายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาล อาญา ประสานกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) นำกำลังตำรวจ 400 นาย จากหลายหน่วยหลายพื้นที่มาดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณศาล ปิดประตูทางเข้าออกหมายเลข 8 และหมายเลข 9 ที่หน้าศาลอาญา ตั้งจุดคัดกรองชั้นแรกที่ประตูทางเข้าหมายเลข 7 หน้าศาลแพ่ง สื่อมวลชนที่ผ่านเข้ามาในบริเวณศาลต้องมีบัตรของกรมประชาสัมพันธ์ ส่วนประชาชนทั่วไปต้องผ่านการคัดกรอง เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยภายในบริเวณศาล นอกจากนี้ยังมีจุดคัดกรองด้านในอีก 1 ชั้นบริเวณหน้าธนาคารออมสิน สาขายุติธรรม มีกำลังตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบทำหน้าที่คัดกรองอย่างเข้มงวด รวมถึงวางแผงเหล็กกั้นบริเวณบันไดหน้าศาลอาญา วางกำลังตำรวจในเครื่องแบบยืนคอยสังเกตการณ์ตลอดแนวรั้วในบริเวณศาล
...
กระทั่งเวลา 08.30 น. พนักงานสอบสวน สน. สำราญราษฎร์ คุมตัวเพนกวิน พริษฐ์ มาฝากขังโดยใช้เส้นทางบริเวณด้านหลังศาลแพ่งเข้าไปยังห้องเวรชี้ศาลอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มกันเข้ม มีรถนำ ขบวนและปิดขบวน เมื่อผ่านเข้าไปในพื้นที่ศาลอาญา ตำรวจศาลปิดประตูทันที
ผบช.น.ระบุยังมีผู้ต้องหาอีกหลายคน
ต่อมาเวลา 11.30 น. พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. เดินทางมาตรวจความเรียบร้อยพร้อมให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณศาลว่า คิดว่าฝ่ายผู้สนับสนุนจะเข้าใจการทำหน้าที่ของตำรวจ ที่จะต้องนำตัวมาฝากขังต่อศาลอาญา พนักงานสอบสวนไม่ได้ยื่นคัดค้านการประกันตัว การจับกุมเป็นไปตามหมายจับ เป็นไปตามพยานหลักฐานการเสนอขอหมายจับต่อศาลก็เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย กระทั่งศาลออกหมายจับให้ ส่วนเรื่องจะให้ประกันหรือไม่ขึ้นอยู่กับศาลเป็นผู้พิจารณา
เมื่อถามถึงคดีนี้ยังมีผู้ต้องหาที่จะต้องจับกุมอีกหรือไม่ พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวว่า ยังมีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องอีกหลายคน สำหรับเรื่องนี้ถ้าใครทราบหรือติดต่อขอมอบตัวเราก็ยินดี ส่วนการชุมนุมเชื่อว่าผู้ชุมนุมคงเข้าใจการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เพราะนอกจากจะต้องดูแลความเรียบร้อยในการชุมนุมแล้ว ต้องดูแลประชาชนทั่วไปด้วย เพื่อไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน
วอนฟังกันบ้างชุมนุมใหญ่ให้อยู่ในกรอบ
เมื่อถามถึงกรณีเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุมที่ สน.สำราญราษฎร์ เมื่อคืนวันที่ 14 ส.ค.จะต้องปรับท่าทีของเจ้าหน้าที่หรือไม่ พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวว่า ไม่มีเหตุทะเลาะเบาะแว้งรุนแรงเป็นเพียงเรื่องการขอความร่วมมือประชาชนที่มาให้กำลังใจให้อยู่ในความสงบให้เรียบร้อย ส่วนอันไหนที่ตำรวจจะทำเกินเลยไป ตำรวจจะต้องรับผิดชอบ แต่ที่ผ่านมาทุกอย่างยังอยู่ในความเรียบร้อย
เมื่อถามถึงการรับมือการชุมนุมใหญ่วันที่ 16 ส.ค. พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวว่า ขอให้อยู่ในกรอบและทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ขอให้รับฟังกันบ้าง เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ ผบช.น.ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับพยานหลักฐานที่พบในบ้านของนายพริษฐ์ โดยระบุอยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน
ศาลไต่สวนคำร้องและข้อคัดค้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการไต่สวนคำร้องฝากขังและคำคัดค้านการจับกุมของผู้ต้องหา สืบเนื่องมาจากกรณีนายพริษฐ์พูดปราศรัยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยทนายความของนายพริษฐ์ พร้อมมารดาและคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าร่วมฟังการไต่สวนในห้องพิจารณา ก่อนไต่สวนศาลได้อธิบายคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน (พงส.) และแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้นายพริษฐ์ทราบ แล้วไต่สวน พงส.ผู้ร้อง โดยมีทนายผู้ต้องหาถามค้าน
ตร.ขอสอบพยานเพิ่ม 15 ปาก
ต่อมาเวลา 13.00 น. ศาลมีคำสั่งว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องและข้อคัดค้านแล้วเห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญามาตรา 87 ได้วางหลักเกณฑ์การควบคุมตัวผู้ต้องหา หรือผู้ถูกจับไว้เป็นขั้นตอนเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คดีนี้พนักงานสอบสวนรับตัวผู้ต้องหาจากเจ้าพนักงานตำรวจประจำกองบังคับ การสืบสวนสอบสวน บช.น.จับกุมผู้ต้องหาได้ตาม หมายจับของศาลอาญา ที่ จ.1172/2563 ลงวันที่ 5 ส.ค.63 เมื่อวันที่ 14 ส.ค. เวลา 06.30 น. นำตัวผู้ต้องหามาให้ พงส.วันที่ 14 ส.ค. เวลา 09.40 น. โดยผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ในวันนี้ พงส.ได้นำตัวผู้ต้องหามาศาลในกำหนด 48 ชม. นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับและถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพงส. ตาม ป.วิอาญามาตรา 87 วรรคสาม และอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจาก พงส.ต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 15 ปากและรอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา แม้ทนายผู้ต้องหาถามค้านว่ามีการออกหมายจับผู้ต้องหาคดีนี้พร้อมกับนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก และพยานหลักฐานบางส่วนในคดีนี้ เป็นพยานหลักฐานชุดเดียวกันกับคดีนายอานนท์และนายภาณุพงศ์ก็ตาม แต่พยานผู้ร้องได้เบิกความยืนยันว่าพยานหลักฐานที่จะสอบสวนเพิ่มเติมในคดีนี้เป็นคนละสำนวนกันกับในคดีของนายอานนท์และนายภาณุพงศ์ และยังต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติมจากคดีดังกล่าวอีก
อนุญาตฝากขังแจ้งสิทธิยื่นประกันตัว
ส่วนที่ผู้ต้องหาคัดค้านว่า ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษามีที่อยู่เป็นหลักแหล่งไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานนั้น เห็นว่าคดีนี้เจ้า พนักงานตำรวจจับผู้ต้องหาได้ตามหมายจับของศาล อาญา มีข้อหาที่หนักที่สุดเป็นความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกสูงเกินกว่า 6 เดือน แต่ไม่เกิน 10 ปี ซึ่งกฎหมายให้ พงส.มีอำนาจยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลได้หลายครั้ง ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมทั้งหมดต้องไม่เกิน 48 วัน เมื่อ พงส.ได้ขอฝากขังผู้ต้องหาคดีนี้เป็นครั้งแรก และมีเหตุจำเป็นต้องสอบสวนเพิ่มเติมตามที่กล่าวอ้างกรณีจึงมีเหตุจำเป็นในการสอบสวนต่อไป ส่วนข้อคัดค้านที่ว่าไม่จำเป็นต้องขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างสอบสวน เห็นว่าเป็นเรื่องขั้นตอนการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา ไม่เกี่ยวกับเหตุคัดค้านการฝากขังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อคัดค้านอื่นๆของผู้ต้องหาเป็นข้อต่อสู้ของผู้ต้องหาที่นำไปใช้ในชั้นพิจารณาหากถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้ว จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ดังนั้นจึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้ตามขอ นอกจากนี้ศาลได้แจ้งสิทธิการขอประกันตัวหรือขอปล่อยตัวชั่วคราวให้ผู้ต้องหาทราบแล้วว่าผู้ต้องหายื่นคำร้องขอประกันตัว หรือขอปล่อยตัวชั่วคราวได้ทันที หรือยื่นคำร้องขอประกันตัวได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ
ปล่อยชั่วคราวมีเงื่อนไขห้ามทำผิดซ้ำ
ต่อมาเวลา 14.00 น. หลังจากศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ ผู้ต้องหามีผู้ขอประกันเป็นอาจารย์จาก มธ.ได้ยื่น คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายพริษฐ์ ศาลพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวนายพริษฐ์ระหว่างสอบสวน ตลอดจนถึงชั้นพิจารณาชั่วคราว โดยมีประกันในวงเงิน 100,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน แต่มีเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญาประกัน ศาลได้แจ้งคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวและปล่อยตัวผู้ต้องหาแล้ว
โดนอีกละเมิดอำนาจศาลไต่สวน 11 ก.ย.
ขณะเดียวกันศาลได้ดำเนินการเรื่องละเมิดอำนาจศาลกับนายพริษฐ์อีกด้วย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ขณะที่ พงส.สน.สำราญราษฎร์ นำตัวนายอานนท์ นำภาและนายภาณุพงศ์ จาดนอก มายื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญา นายพริษฐ์กับพวกได้ลง ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ “นายพริษฐ์หรือเพนกวิน ชิวารักษ์” เชิญชวนกลุ่มบุคคลให้มาร่วมชุมนุมกันที่ศาลอาญา จากนั้นกล่าวปราศรัยเสียงดังต่อหน้าผู้ชุมนุมและประชาชนโดยใช้อุปกรณ์ขยายเสียงและยังใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพลงโฆษณาเพื่อชักจูงให้บุคคลอื่นๆ เดินทางมาชุมนุมบริเวณศาลเพื่อขัดขวางรบกวนการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีของศาล รวมถึงไลฟ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อต่างๆ ไม่ปฏิบัติตนตามข้อกำหนดของศาลว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย และประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เจ้าหน้าที่ศาลจึงทำบันทึกและรายงานคำกล่าวหาต่อศาล ขอให้ ลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งศาลได้แจ้งข้อกล่าวหาและสำเนาคำกล่าวหาคดีละเมิดอำนาจศาลให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ นัดไต่สวนวันที่ 11 ก.ย.63 เวลา 09.00 น. ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ศาลจึงได้ให้ปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดและปล่อยตัวชั่วคราวไปโดยไม่มีประกัน
“พริษฐ์” กร้าวนำชุมนุมใหญ่ต่อ
ต่อมาเวลา 14.30 น. หลังได้ประกัน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณพี่น้องที่มาให้กำลังใจเดิมทีตั้งใจจะไม่ประกันตัว แต่หลังหารือกับครอบครัวและทนายแล้ว ไม่แน่ใจเรื่องความปลอดภัย และต้องออกมานำการชุมนุมใหญ่ต่อ ศาลตั้งเงื่อนไขห้ามทำผิดข้อกล่าวหาเดิม ทางทนายได้หารือกับอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาบอกจะไปชุมนุมก็ได้พรุ่งนี้เจอกัน ส่วนกรณีตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านเป็นเรื่องข่มขู่และใช้อำนาจคุกคามข่มเหงประชาชน 3 วันที่ผ่านมาแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน ล้มป่วยสุขภาพไม่ดี เพราะตำรวจบุกไปที่บ้านที่หอพักทุกวันทุกคืน เป็นเครื่องสะท้อนความวิปริตความป่วยไข้ของสังคมนี้ของรัฐบาลนี้ เมื่อครั้งนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก โดน คุมตัวก็มาที่นี่ มีหมายจับคดีเดียวกัน ตนยืนกลางศาลไม่ยักโดนจับ ไปหลายที่ไม่โดน มาโดนจับเมื่อวันที่ 14 ส.ค. เชื่อว่าเป็นผลอันเนื่องจากวันที่ 10 ส.ค.ที่เสนอดันเพดานข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เมื่อกลัวนักจะอ่านให้ฟังอีกรอบ จากนั้นนายพริษฐ์ได้อ่านแถลงการณ์กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่มีข้อเสนอละเอียดอ่อนต่อสังคมอีกครั้ง
ไม่เสียใจถูกจับ-เพื่อนจะโดนอีกหลายคน
นายพริษฐ์กล่าวอีกว่า เข้าใจเพื่อนหลายคนมี หมายจับ ยังไม่ถูกจับ มีโอกาสจะโดนอีก ตนมีทีมงานสนับสนุน ส่วนตัวไม่เสียใจที่ถูกจับ ตั้งแต่เคลื่อนไหวมาสักวันคงต้องมี การถูกจับครั้งนี้ต้องไม่สูญเปล่า ทีมธรรมศาสตร์เรายืนยันขยายเพดานแล้ว ไม่มีวันที่จะลดเพดานลง ส่วนการชุมนุมใหญ่วันที่ 16 ส.ค.ทีมธรรมศาสตร์พร้อมสนับสนุนคณะประชาชนปลดแอกไปช่วยในงาน ปริมาณน่าจะล้นถนนราชดำเนิน รับรองว่าทีมธรรมศาสตร์ไม่ทำให้พี่น้องประชาชนผิดหวัง จะทำแบบเบิ้มๆ ยืนยันความรุนแรงถ้าจะเกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากฝั่งเรา ตนรับผิดชอบปิดแยกคอกวัวการชุมนุมครั้งที่แล้ว ปิดด้วยมือเท้า ไม่ใช้อาวุธ คนกลุ่มเดียวที่มีอาวุธทำตัวลับๆล่อๆคือตำรวจและทหาร ขอขอบคุณคณาจารย์ที่มาช่วยประกันตัว ไม่ทิ้งลูกหลาน
เปิดรายชื่อ 15 แกนนำ ตร.ออกหมายจับ
มีรายงานว่าหมายจับผู้ต้องหาคดีเกี่ยวกับความมั่นคงทั้งหมด 15 คน ที่ศาลอาญาอนุมัติหมายจับแล้วประกอบด้วย 1.นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ 2.น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ 3.น.ส.ลัลนา สุริโย 4.นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนาแยม 5.นายภาณุพงศ์ จาดนอก 6.นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี 7.นายอานนท์ นำภา 8.นายกานต์นิธิ ลิ้มเจริญ 9.นายณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ 10.นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา 11.น.ส.จิรฐิตา ธรรมรักษ์ 12.นายกรกช แสงเย็นพันธ์ 13.นางสุวรรณา ตาลเหล็ก 14.ธนายุทธ ณ อยุธยา และ 15.นายบารมี ชัยรัตน์ ล่าสุดเบื้องต้นได้จับกุมดำเนินคดีแล้ว 3 คน คือ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ส่วนที่เหลืออีก 12 คน อยู่ระหว่างดำเนินการติดตามเพื่อจับกุมมาดำเนินคดีตามกฎหมาย และอีก 16 คน อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อออกหมายจับต่อไป
ตร.ค้นบ้านเหลวไม่พบหลักฐาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ระบุว่า เมื่อเวลา 10.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.ภ.1 และ บช.น. นำกำลังประมาณ 10 นาย เข้าค้นบ้านเลขที่ 114/36 ม.18 หมู่บ้านนวลตอง ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานีของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน มีเพื่อนเพนกวินและทนายติดตามดูการตรวจค้นใช้เวลาประมาณ 1 ชม.ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายหรือสิ่งของที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีตามหมายค้น หรือสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดตามกฎหมายอื่น ก่อนจัดทำบันทึกการตรวจ ค้นไว้เป็นหลักฐาน โดยให้เพื่อนของเพนกวินและทนายลงชื่อ
“นครบาล” จัด ตร. 4 กองร้อยรับมือ
สำหรับการเตรียมพร้อมดูแลรักษาความเรียบร้อย กรณีคณะประชาชนปลดแอก (Free People) ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กประกาศนัดหมายชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 16 ส.ค. เวลา 15.00-21.00 น. เมื่อเวลา 15.00 น. พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม รอง ผบช.น. ดูแลงานความมั่นคง กล่าวว่า เบื้องต้น บช.น.จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 กองร้อย ดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยให้ผู้มาร่วมกิจกรรม พร้อมจัดกำลังตำรวจจราจรคอยอำนวยความสะดวกการจราจร นอกจากนี้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ 191 คอยดูแลตามจุดทุกมุมทุกแยกเพื่อป้องกันมือที่ 3 มาก่อเหตุ รวมทั้งจัดตำรวจชุดสืบสวนคอยหาข่าวป้องกันบุคคลที่ไม่ประสงค์ดีเข้ามาสร้างความวุ่นวาย หากผู้ชุมนุมทำเรื่องขออนุญาตชุมนุมเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะจัดให้กลุ่มผู้ชุมนุมจัดกิจกรรมอยู่บนบริเวณฟุตปาทเพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจร
ปชช.ปลดแอกขีดเส้นตายไล่เผด็จการ
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายคณะประชาชนปลดแอก หรือ Free People นำโดยนายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อดีตรองประธานสภานิสิตจุฬาฯ แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก นายสิรภพ อัตโตหิ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แกนนำกลุ่มเสรีเทยพลัส น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (มธ.) ประธานสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) นายณัฐชนน ไพโรจน์ คณะรัฐศาสตร์ มธ. หัวหน้าพรรคโดมปฏิวัติ ฯลฯ ได้ประกาศจัดชุมนุมใหญ่ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ใช้ชื่อว่า #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ #โบกพัดซัดเผด็จการ เพื่อย้ำเรียกร้องรัฐบาล 3 ข้อคือหยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่และยุบสภา พร้อมเงื่อนไข 2 ข้อต้องปฏิบัติ โดยไม่มีการรัฐประหาร ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ
ขออนุญาตชุมนุมคาดคนร่วมหมื่นคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การชุมนุมใหญ่ในครั้งนี้มีขึ้นต่อเนื่องมาจากการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. จุดชนวนให้เกิดม็อบนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศกว่า 30 ครั้ง และแกนนำ พร้อมแนวร่วม 31 คนถูกดำเนินคดีภายหลัง ทั้งนี้เมื่อวันที่ 14 ส.ค. น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย อดีตนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ที่เคยเป็นแกนนำเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลยุค คสช. เป็นตัวแทนไปยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อ สน.ชนะสงคราม ระบุจะใช้สถานที่ตั้งแต่สี่แยกคอกวัวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง มีวัตถุประสงค์การชุมนุม 3 ข้อหลัก ไม่มีการเคลื่อนขบวนหรือย้ายสถานที่ชุมนุม จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมโดย ประมาณ 10,000 คน เริ่มตั้งแต่ 10.00 น. ถึง 23.59 น. วันที่ 16 ส.ค.ใช้เครื่องขยายเสียงขนาด 50 วัตต์ 6 ตัว ลำโพงขนาด 80 วัตต์ 12 ตัว ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประชาสัมพันธ์เส้นทางการจราจรแก่ผู้สัญจรปรับเปลี่ยนเส้นทาง พร้อมขอให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบรักษาความปลอดภัยให้ผู้เข้าชุมนุม
ตร.จับตากลุ่มตรงข้ามรวมพลใกล้กัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ กำลังจับตากิจกรรมของกลุ่มมวลชนที่ใช้ชื่อว่ากลุ่มเยาวชนช่วยชาติ ซึ่งมีจุดยืนคัดค้านการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก และเคยประกาศนัดหมายชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิวันเดียวกัน เนื่องจากล่าสุดได้ประกาศบนโซเชียลมีเดีย นัดหมายแนวร่วมเดินทางมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝั่งร้านศรแดงเวลา 11.00 น. ระบุว่าจะทำกิจกรรมอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง เชิญชวนกลุ่มประชาชนปกป้องสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ ที่เคยประกาศจุดยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามม็อบนักศึกษาให้เดินทางมาร่วมกิจกรรมด้วย
ศอปส.ร่วมสังเกตการณ์เก็บหลักฐาน
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ กรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย โพสต์แถลงการณ์ ฉบับที่ 3 ของศูนย์กลางประสานงานนักศึกษา อาชีวะ ประชาชน ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือศอปส.ระบุว่า ได้รับการเรียกร้องจากประชาชนหลายฝ่ายให้เข้าสังเกตการณ์การจัดชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันที่ 16 ส.ค.เพื่อเฝ้าดูกลุ่มบุคคลแอบอ้างประชาธิปไตย พยายามแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอย่างใกล้ชิด การประชุมตัวแทน 21 กลุ่มเมื่อ 14 ส.ค. เห็นสอดคล้องกันว่าควรเข้าร่วมสังเกตการณ์ ภายใต้เงื่อนไขดังนี้ 1.เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วยแนวทางสันติวิธี 2.ถ้ามีการกระทำที่พาดพิงต่อสถาบันฯ จะมีมวลชนส่วนหนึ่งเข้าร่วมการชุมนุมจะเก็บหลักฐานทั้งภาพและเสียงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการต่อไป ในวันที่ 17 ส.ค.โดยเข้ายื่นหนังสือต่อ ผบ.ตร. เวลา 13.00 น.และ 3.ประชาชนที่จะเข้าร่วมสังเกตการณ์ ทาง ศอปส.จะดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด
นายกฯยืนยันไม่เคยสั่งจับใคร
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจํา สํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของสภาฯและการชุมนุมประท้วงของนิสิต นักศึกษา เห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันทุกฝ่ายควรใช้เหตุผลนำเสนอ หลีกเลี่ยงการยั่วยุปลุกปั่น อันจะเป็นเหตุสร้างความไม่พอใจให้อีกฝ่าย ก่อให้การปะทะและเผชิญหน้ากันที่ประชาชนคนไทยไม่อยากเห็น ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรมทางการเมือง นายกฯยืนยันว่าไม่ได้มีการสั่งการ แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ย้ำอีกว่านายกฯไม่มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการและการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
รัฐบาลปัดคุกคามนักศึกษา
นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงรัฐบาลว่าต้องไม่ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาและหยุดคุกคามทุกรูปแบบว่า นับวันคุณหญิงสุดารัตน์ยิ่งทำให้ประชาชนสิ้นศรัทธา ทำได้ทุกอย่างเพื่อหวังผลทางการเมือง วันก่อนออกมาเตือนนักศึกษาว่าอย่าก้าวล่วงสถาบัน แต่พอถูกนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำนักศึกษาถอนหงอก กลับลำมาปั้นหน้าเศร้าขอโทษนักศึกษา ทั้งที่การเตือนว่าอย่าก้าวล่วงสถาบันเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว ที่ผ่านมาเอาแต่โจมตีรัฐบาลว่าโลเล แต่ครั้งนี้คงพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าคุณหญิงสุดารัตน์ต่างหากที่โลเล เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างไร รัฐบาลนี้ไม่เคยคุกคามหรือใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา ขอให้ทุกฝ่ายเลิกใส่ร้ายรัฐบาล หรือจ้องผสมโรงกับม็อบได้แล้ว เห็นด้วยที่ทุกฝ่ายจะเปิดเวทีทำความเข้าใจกับนักศึกษา เชื่อว่านักศึกษาส่วนใหญ่จะเข้าใจ ประเทศชาติจะได้เดินหน้าไปได้ ไม่มีความขัดแย้งอีก
“ณัฏฐพล” ติงม็อบทำร้าย ปท.ทำ นทท.ผวา
เมื่อเวลา 11.00 น. ที่วัดสันติธรรมาราม เขตธนบุรี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ส่วนตัวยอมรับสิทธิของประชาชนในการเรียกร้องต่างๆ แต่จะทำให้การชุมนุมขยายวงกว้างขนาดไหนทุกคนควรคำนึงถึงปัญหาตอนนี้ที่เจอปัญหาเศรษฐกิจ อีก 1-2 เดือนปัญหาเศรษฐกิจจะใหญ่กว่าที่เจอกัน เราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้นักท่องเที่ยวเข้ามา แต่หากมีการชุมนุมหรือทำให้ไม่มั่นใจในการเดินทางมาไทย เพราะเหตุผลทางการเมืองเท่ากับเราไม่ได้ช่วยเหลือประเทศ แต่อาจเป็นการทำร้ายประเทศ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นตนจะร่วมกับ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเวทีให้แสดงออกตราบใดที่ไม่หยาบคาย ก้าวร้าว ไม่เป็นเรื่องแตกแยกในประเทศ
“สมพงษ์” หวั่นคนมองกลั่นแกล้งเด็ก
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวถึงการจับกุมนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำ สนท.ว่า กังวลว่าอาจเป็นการตอบโต้กันหรือไม่ มีหลายคนเคลื่อนไหว แต่ทำไมเจาะจงจับกุมนายพริษฐ์ จึงต้องดูว่าการจับกุมตามข้อหาความผิดมาตรา 116 อยู่ในขอบข่ายหรือไม่ แต่ความรู้สึกประชาชนสำคัญอาจมองว่ากลั่นแกล้งหรือไม่เป็นห่วงตรงนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นลักษณะคล้ายเช่นนี้ ไม่อยากให้เกิดขึ้น นายกฯเคยรับปากไว้ว่าจะรับฟังกลุ่มนักศึกษาวันนี้การกระทำยังไม่เกิด แต่ตำรวจดำเนินการไปไม่ทราบเบื้องลึกอาจมีการกระซิบสั่งกันหรือไม่เราไม่รู้ อยากให้ระมัดระวัง ขออย่ามองผู้เห็นต่างเป็นศัตรู จะทำให้เกิดปัญหาบานปลายในอนาคตแล้วจะยุ่งเหยิงกันไปหมด
จี้ “บิ๊กตู่” ฟังเด็กให้จริง-ลุยยื่นญัตติรื้อ รธน.
วันเดียวกัน นายสมพงษ์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านออกแถลงการณ์ว่าสถานการณ์สังคมไทยขณะนี้กำลังต้องการสติปัญญาและเหตุผลพิจารณาปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น สังคมควรเปิดใจรับฟังมุมมอง ความคิดเห็น ทัศนะที่แตกต่าง ต้องหลีกเลี่ยงเต็มที่กับความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะต่อเยาวชน หากปล่อยให้ใช้ความรุนแรงไม่ว่ารูปแบบใด รังแต่จะสร้างความแตกแยก นำไปสู่การสูญเสียที่มากมายเกินคาดคิด ประเทศเผชิญกับวิกฤติหนักมากขึ้น รัฐบาลและกลไกของรัฐต้องยุติการมองความเห็นต่างเป็นศัตรู และถือเป็นภัยคุกคามที่ต้องถูกกำจัดและจัดการ เพราะรังแต่จะสร้างปัญหาและความกดดันทางสังคมที่ไม่รู้จบ นายกฯควรทำให้ได้จริงตามที่ได้ประกาศไว้ที่ว่าจะรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ เมื่อท่านพูดคนจะฟัง เมื่อท่านทำคนจะเชื่อ วันที่ 17 ส.ค. พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านจะร่วมกันกับเพื่อนสมาชิกรัฐสภายื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกันสร้างกฎกติกาใหม่ เพื่อให้เกิดสมดุลของความต้องการของทุกภาคส่วนของสังคม
“ภราดร” เชื่อจุดจบนายกฯไปต่อไม่ได้
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขานุการคณะ กรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่าแถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.อวดตัวว่ามองข้ามการชุมนุมเรียกร้องของนักศึกษาไปแล้ว มองไปถึงการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ แต่หารู้ไม่ว่าสังคมกลับมองว่า นายกฯใช้รูปแบบเดิมๆทิ้งวิกฤติหนึ่งแล้วไปก่อวิกฤติใหม่ นักศึกษาถูกคุกคามโดยเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ใดออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงถึงความไม่ไยดีต่อความปลอดภัยของประชาชน มันจะเป็นหัวเชื้อส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศอย่างกว้างขวางว่าเป็นประเทศที่ไม่มีความปลอดภัย การชุมนุมของเหล่านักศึกษาและภาคประชาชนต่อเนื่อง ท่าทีรัฐบาลไม่สนใจรับผิดชอบต่อข้อเรียกร้องให้ยุติการคุกคาม จะเป็นปัจจัยให้เกิดตัวคูณเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมอย่างมโหฬาร นำพาสถานการณ์เดินใกล้ไปสู่จุดที่บรรยากาศประเทศมืดมิด เมื่อนั้นการค้าการลงทุนจะสะดุด แถม ครม.เศรษฐกิจชุดใหม่ดูจะแย่ยิ่งกว่าชุดเดิม คำตอบปลายทางของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ คาดการณ์ได้เลยว่านายกฯจะพบจุดจบ ด้วยการถูกประชาชนผู้รักประชาธิปไตยผนึกกำลังกดดันจนไปต่อไม่ได้
“ทวี” ย้ำลุยแก้ ม.256-ลุยตั้ง ส.ส.ร.ก่อน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานฝ่ายค้านเพื่อประชาชน กล่าวถึงการยื่นญัตติด่วนพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 60 ต่อสภาฯในวันที่ 17 ส.ค. ว่า 6 พรรค ฝ่ายค้านรณรงค์มาตั้งแต่ต้นว่ารัฐธรรมนูญปี 60 มีหลายส่วนไม่เป็นประชาธิปไตย และกติกาแก้ไขทำได้ยาก ดังนั้น จะเริ่มจากการแก้หมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ก่อน จะให้ประชาชนมีส่วนร่วม คล้ายกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. จากที่คุยกันเห็นว่าควรจะให้ผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เข้ามามีส่วนจัดทำรัฐธรรมนูญด้วย ได้คุยกันแล้ววันที่ 17 ส.ค.จะส่งร่างนี้ขึ้นไป จากนั้นอาจมีการเสนอแก้เกี่ยวกับหลักประกันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ อาจทำเป็น หมวดแก้ตามไป รวมไปถึงการให้อำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ หลายคนเสนอว่า ส.ว.ไม่ควรมีสิทธิ บางคนเสนอให้ยกเลิก ส.ว.จากการสรรหา 2 ประเด็นนี้ ยังไม่มีข้อยุติ แต่หาก ส.ว.ยังคงอยู่ พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯอีก เมื่อถามว่าขณะนี้ที่มีการชุมนุมของนักศึกษา การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นทางออกหรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า เราเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นปัญหาหนึ่ง ส่วนใหญ่คงอำนาจของคณะปฏิวัติไว้ การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะให้เป็นเรื่องของประชาชน ให้มีส่วนร่วมในการทำกติกา มีโครงสร้างอำนาจที่เข้มแข็ง ให้ประชาชนกำหนดอนาคตของตัวเองได้
“คึก” ซัด รธน.คือปัญหาบี้ “ตู่” ชัดแก้อะไร
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐบาลตีโจทย์ปัญหาบ้านเมืองไม่แตก จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด การชุมนุมของนักศึกษาขณะนี้ข้อเรียกร้องหลัก นายกฯกล้าประกาศจุดยืนว่ามีแนวทางแก้ไขอย่างไร ไม่ต้องรอผลการ ศึกษาของคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไข จะลดความร้อนแรงทางการเมืองลงได้ ยิ่งมีการจับกุมนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำนักศึกษา ยิ่งเติมไฟลงไปในสถานการณ์ทางการเมือง ให้ร้อนแรงขึ้นอีก จะทำให้การชุมนุมของนิสิตนักศึกษามีพลังขยายแนวร่วมได้มากยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลเพิ่มแรงกดดันมากเท่าไหร่ กระแสต่อต้านยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น รัฐบาลควรแก้ปัญหาอย่างละมุนละม่อม ใช้วิธีการเจรจาพูดคุยทำความเข้าใจกันเป็นทางออกที่ดีที่สุด
แนะถอยคนละก้าว นศ.ยึด 3 ข้อเดิม
นายเทพไทกล่าวอีกว่า ขอเสนอให้ทุกฝ่ายถอยกันคนละก้าว รัฐบาลควรชัดเจนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร มาตราใดบ้าง หรือจะยินยอมให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ ต้องมีปฏิทินทางการเมืองหรือไทม์ไลน์ชัดเจน ส่วนกลุ่มนิสิตนักศึกษาควรเคลื่อนไหวภายใต้ข้อเสนอที่มีความเป็นไปได้ ยึดมั่นข้อเรียกร้องเดิม 3 ข้ออย่างมั่นคง ส่วนข้อเสนอใหม่ 10 ข้อที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ถ้าเป็นข้อเสนอทางวิชาการ ไม่ลิดรอนพระราชอำนาจก็สามารถทำได้ แต่ถ้าก้าวล่วงก็ไม่บังควรกระทำอย่างยิ่ง
“นิพิฏฐ์” เฉลยคำตอบ “มาร์ค” ไม่เอา “บิ๊กตู่”
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “เมื่อคนว่างงานคุยกัน” ใจความว่า มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 2 ครั้ง ครั้งแรกเกือบ 3 ชม. แต่ยังมีข้อสงสัยอีกจึงขอพบอีกครั้งใช้เวลา 2 ชม. บางเรื่องอาจเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ทางการเมืองไปแล้วตนถาม 2 ข้อใหญ่ๆ 1.เหตุผลการประกาศไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตอนทำประชามติ 2.เหตุผลประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ จนกระทั่งต้องตัดสินใจลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ท่านอธิบายยาวสุดท้ายสรุปลงว่าทั้ง 2 ข้อนั่นแหละที่ท่านคิดว่าจะทำให้ประเทศเดินมาถึงจุดนี้ และวันนี้ก็เดินมาถึงจุดนี้จริงๆ คำถามสุดท้ายที่ไม่ได้ถาม แต่ท่านแถมให้คือตอนที่ท่านเป็นนายกฯ มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ท่านอยู่ที่ราบ 11 กับ พล.อ. อนุพงษ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ ท่านบอกทั้ง 2 ท่านว่าอนาคตข้างหน้าหากมีความขัดแย้งทางการเมือง ทหารอย่ายึดอำนาจเด็ดขาด เพราะจะทำให้ระบบพังทั้งระบบตอนท่านเป็นนายกฯ จึงประคับประคอง และไม่สร้างเงื่อนไขให้มีการยึดอำนาจ ท่านถามว่า ความคิดท่านผิดหรือถูกแย้งมาได้ ผมตอบสั้นๆว่า ความคิดท่านล้ำหน้าเกินไป เดินล้ำหน้ามวลชนตามไม่ทัน” นายนิพิฏฐ์ระบุ
ฝ่ายค้านซัด รบ.ไร้มาตรการช่วยจ้างงาน
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กลุ่มงานผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดงานเสวนาหัวข้อ “ฝ่ายค้านฟัง กลุ่มเปราะบางจากวิกฤติโควิด” มีนาย กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นพ.เรวัติ วิศรุตเวช รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ และนายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ร่วมเสวนา โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวเปิดงานหัวข้อ “ผลกระทบความเดือดร้อนต่อแรงงานไทย จากวิกฤติโควิด-19” ตอนหนึ่งว่า ความล้มเหลวของรัฐบาล 3 ประการ ด้านแรงงาน ได้แก่ 1.ปล่อยให้แรงงานตกงานมหาศาลจากโควิด-19 โดยเสรี อาจเห็นการตกงานมากมายถึง 8 ล้านคน เพราะไม่มีมาตรการรัฐช่วยให้ภาคเอกชนดำรงการจ้างงานเลย 2.รัฐบาลขาดการเยียวยาที่ทั่วถึงเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ การเยียวยาที่เกิดขึ้นผิดพลาด หละหลวม บรรเทาความเดือดร้อนไม่ทั่วถึง และ 3.รัฐบาลขาดมาตรการช่วยคนตกงานเร่งหางานใหม่ ไร้ทิศทางสร้างงานใหม่
หน.ทีม ศก.รู้จักเศรษฐศาสตร์จะไม่สาหัส
นายกิตติรัตน์กล่าวว่า วิกฤติครั้งนี้ถือว่าสาหัส เพราะไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพากลไกจาก ภายนอกมาก ไม่ว่าภาคการส่งออกสูงร้อยละ 70 ของ จีดีพี และภาคการท่องเที่ยว วิกฤตินี้ไม่ใช่อยู่ในเฉพาะ ภูมิภาคเหมือนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 แต่เชื่อมโยงไปทั่วโลก สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือทุเลาผลกระทบและต้องสร้างแรงพยุงเศรษฐกิจซึ่งต้องใช้งบฯดำเนินการ ในฐานะเคยดูแลเศรษฐกิจในรัฐบาลช่วงปี 54-57 นโยบายการคลังเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนวิกฤตินี้จะสาหัสน้อยลงถ้าหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ของรัฐบาลรู้หลักการเศรษฐศาสตร์ที่ดีนำงบฯไปสร้างกิจกรรมที่ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ แต่ เชื่อว่าหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลปัจจุบันไม่รู้เรื่องนี้ ส่วนตัวเลขคนตกงาน ที่ รมว.แรงงานบอกว่าตัวเลขตกงานจริงไม่ถึง 8 ล้าน มีเพียง 2-3 ล้านเท่านั้น หาก รัฐบาลไม่มีการบริหารจัดการที่ดีอาจมีตกงานมากกว่า 8 ล้านคน แต่หากรัฐบาลจัดการสุดความสามารถและถูกต้อง การตกงานอาจน้อยลง อาจเพิ่มการจ้างงาน สวนทางขึ้นมาได้
นายสุเทพกล่าวว่า รมว.แรงงาน ลืมตัวเลขแรงงานนอกระบบหรือไม่ กลุ่มนี้ตกงานมหาศาล ทั้งวินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ หมอนวด ชาวนา ชาวประมง พูดถึงแต่แรงงานในระบบประกันสังคมเท่านั้น
“สงคราม”วางนโยบายให้โอกาสคนจน
นายสงครามกล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้หนักกว่าปี 40 ตอนนี้เป็นเพียงแค่ภาพลวงตารัฐบาลอาจรู้สึกว่ายังสบายๆอยู่ ถ้าไม่แก้ปัญหาให้ถูกจุดประเทศไทยอาจกลายเป็นรัฐล้มละลาย เพราะงบ ประมาณที่ได้มาไม่ได้ก่อให้เกิดผลผลิต ซึ่งความจริงเงินที่ใช้จ่ายต้องก่อให้เกิดผลผลิต แต่ที่ตอนนี้จ่ายคือหายหมด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ต้องวางแผน ระยะยาว คนจนทำงานมากกว่าไม่ได้ขี้เกียจ แต่ทำไมถึงจนกว่า เพราะเขาขาดโอกาส ดังนั้น นโยบายต้องให้โอกาส อย่ามองว่าคนจนเป็นภาระ ถ้าคนจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประเทศก็จะไปได้ แทนที่จะให้สวัสดิการก็เหมือนให้ทาน แล้วเป็นบุญคุณแล้วก็ให้ตอนใกล้หาเสียง
หน.พท.รอสภาฯสอบ ส.ส.ตบทรัพย์
วันเดียวกัน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกระแสข่าว ส.ส.พรรค เพื่อไทยเกี่ยวข้องการเรียกรับผลประโยชน์ใน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 64 จะมีตั้งคณะ กรรมการสอบหรือไม่ว่า พรรคจะตั้งกรรมการสอบต้องมีจุดเริ่มต้นว่าเป็นใคร จะตั้งสอบทั้งพรรคไม่ได้ ส่วนที่พูดชื่อผ่านสื่อต้องดูว่าถูกต้องหรือไม่ บางทีพูดกันลอยๆ ถ้ามีจริงเราต้องเข้าไปดู ขณะนี้มีผู้ร้องไปยังประธานสภาฯ ให้ท่านดำเนินเรื่องไป ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านจะตั้งกรรมการซ้อนคงไม่ดี แต่ถ้าชัดแล้วเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะสิ่งเหล่านี้รอกันได้
ชพน.เลือก “เทวัญ” นั่ง หน.พรรคอีกครั้ง
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่เทอร์มินอลฮอลล์ ห้าง เทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) จัดประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2563 และเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยที่ประชุม มีมติเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ 29 คน ผลปรากฏว่านายเทวัญ ลิปตพัลลภ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง หลังจากประกาศลาออกก่อนหน้านี้ และเลือก นายดล เหตระกูล อดีตเลขาธิการพรรค เป็นรองหัวหน้าพรรค และเลือกนายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.นครราชสีมา เป็นเลขาธิการพรรค นอกจากนี้ยังมีนายสมัคร ป้องวงษ์ ส.ส.สมุทรสาคร ที่ย้ายมาจากพรรคอนาคตใหม่ มาเป็นรองหัวหน้าพรรคด้วย
“สุวัจน์” ชงลดภาษีเพิ่มเงินในกระเป๋า ปชช.
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรค ได้บรรยายพิเศษ สถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองของประเทศว่ายังห่วงปัญหาปากท้องประชาชน โดยเฉพาะวิกฤติเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 จากเดิมที่เคยมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ครึ่งปีนี้ยังไม่ถึง 5 ล้านคน รายได้ภาคท่องเที่ยวลด น้อยถอยลง มาตรการการฟื้นฟูจะต้องเร็ว แรงและตรงเป้า จึงตั้งความหวังไว้กับทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชุดใหม่ ต้องวางนโยบายและมาตรการให้ชัดเจน ควรออกแบบภาษีด้วยการลดภาษี เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าให้ประชาชน