ตอนนี้ใกล้เสร็จเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 31 ส.ค.จะส่งรายงานต่อสภาฯนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (รธน.) แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎร บอกถึงภาพรวมการศึกษาของ กมธ.ที่ใกล้เสร็จกระบวนความ

“รวมถึงผลการศึกษาของคณะอนุ กมธ.ประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. มีนายวัฒนา เมืองสุขแกนนำพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธาน กมธ. เป็นประธานคณะอนุ กมธ.

และผลการศึกษาของคณะอนุ กมธ.ศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติ รธน. พ.ร.บ.ประกอบรธน. และกฎหมายอื่น มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธาน กมธ. เป็นประธานคณะอนุ กมธ. ที่จะแนบท้ายรายงานของ กมธ.ชุดใหญ่เข้าไปด้วย”

คณะอนุ กมธ. 2 ชุดนี้มีผลการศึกษาและการเสนอความเห็นไว้ในรายงานการประชุมที่น่าสนใจ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ระบุเอาไว้ว่า มีการเสนอแก้ไขทุกหมวด เริ่มตั้งแต่หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย จนถึงบทเฉพาะกาล โดยให้แก้ตาม รธน.มาตรา 256 เท่านั้น

ไม่เห็นด้วยที่ให้แก้มาตรา 256 เพื่อแก้ รธน.ได้ง่ายขึ้นหรือแก้ให้มี ส.ส.ร.มาทำหน้าที่ยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ โดยเฉพาะแบบหลังไม่การันตีแก้ไขประเด็นอะไรบ้าง

รวมถึงสิ้นเปลืองงบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ทั้งการทำประชามติเห็นชอบร่างแก้รธน.ให้มี ส.ส.ร. การเลือก ส.ส.ร. การทำประชามติร่าง รธน.ฉบับ ส.ส.ร. กระบวนการนี้ใช้เวลานาน

แถมคัดค้านแก้บทเฉพาะกาลเกี่ยวกับอำนาจ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯ เพราะใกล้ครบตามกำหนดเวลา 5 ปีแล้ว และไม่เห็นด้วยให้ยกเลิกมาตร 279 ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ไม่เช่นนั้นมีโอกาสประวัติศาสตร์ซ้ำรอย รธน. ปี 50 ที่ต้องการยกเลิกมาตา 309 ลบล้างผลพวงรัฐประหาร

...

มีกลุ่มประชาชนไม่พอใจออกมาต่อต้านเป็นชนวนวิกฤติประเทศยาว

ขณะที่ผลรายงานการศึกษาชุดคณะอนุ กมธ. มีนายวัฒนา เมืองสุข เป็นประธาน หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงการจัดทำแบบสอบถาม จัดสัมมนาในรูปแบบเน้นเฉพาะกลุ่มครอบคลุมทุกเป้าหมาย

อาทิ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มประชาสังคม กลุ่มแรงงาน กลุ่มนิสิต นักศึกษา เยาวชน กลุ่มการกระจายอำนาจ

โดยได้สรุปข้อคิดเห็นและข้อเสนอเกี่ยวกับการศึกษา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ รธน. ในทุกมุมมองที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเด็นมีการเสนอแนะที่หลากหลาย พร้อมระบุถึงความคาดหวังและสภาพปัญหา

เช่น ระบบพรรคการเมืองและสถาบันการเมือง มีข้อเสนอแนะให้ตัด ส.ส.บัญชีรายชื่อออกจาก รธน. เพราะ ส.ส.ควรมาจากประชาชนแต่ละพื้นที่โดยตรง

ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน พร้อมกำหนดอำนาจหน้าที่ให้มีความชัดเจน และหากไม่ได้มาจากการเลือกตั้งต้องมีอำนาจหน้าที่ที่จำกัดลง

คาดหวังระบบพรรคการเมืองควรมีเสถียรภาพและความต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพราะขณะนี้เผชิญสภาพปัญหามีความเห็นที่แตกต่างกันทางการเมือง อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ

ขณะที่ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รวมถึงองค์กรอิสระ บางมุมคิดเสนอให้แก้ระบบการสรรหาองค์กรอิสระ เช่น ให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหา ผู้เป็นองค์กรอิสระควรมาจากกลุ่มคนที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มระบบตรวจสอบกันเอง คาดหวังส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ

ขณะที่ นายพีระพันธุ์ บอกว่า “การพิจารณาในชั้น กมธ.เป็นไปอย่างราบรื่น”

โดยยึดประโยชน์ประชาชนเป็นตัวนำ ไม่เอาประโยชน์การเมืองนำหน้า

เปิดรับฟังความเห็นทุกด้านตั้งแต่หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ถึงบท เฉพาะกาล ทุกประเด็นตกผลึก ประเด็นไหนมีความเห็นหลายมุม ใส่ไว้ในรายงานทั้งหมด เพราะ กมธ.มีหน้าที่ศึกษา รธน.ควรปรับปรุงเรื่องไหนให้เป็นแบบไหน เช่น ระบบกฎหมาย รัฐกำกับดูแลหมด

กลายเป็นยิ่งสร้างอำนาจรัฐให้มากขึ้น ประชาชนเล็กลง

เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต การทำมาหากิน ภาคเอกชนต้องการประกอบธุรกิจกว่าจะได้รับการอนุญาต 3 วัน 7 วันยังพิจารณาไม่เสร็จ เปิดช่องให้คอร์รัปชันไหม ขณะที่โลกไปเร็วมากผ่านระบบดิจิทัล

หลักกฎหมายต้องผ่อนคลายให้ทำได้เลย รัฐกำกับดูแลเฉยๆ ยกเว้นเกี่ยวกับความมั่นคง ผลประโยชน์ส่วนรวมของสาธารณะ โดยเอกชนหรือประชาชนแจ้งหน่วยงานที่กำกับดูแล ซึ่งเป็นฝ่ายวางกติกา ปิดช่องเรียกผลประโยชน์เพื่อขอใบอนุญาต

ถ้าไม่ทำแบบนี้ปฏิรูปประเทศได้ไหม อยากปฏิรูปประเทศต้องทำแบบนี้

มีหลายประเด็นทางการเมืองต้องอภิปรายกันหนักในที่ประชุม เช่น สะเดาะกุญแจ มาตรา 256 เปิดประตูแก้ รธน. นายพีระพันธุ์ บอกว่า ใน กมธ.ไม่ได้ทะเลาะกันเพื่อสิ่งที่เราอยากได้

กมธ.มีหน้าที่ศึกษา คนหนึ่งเห็นแบบนี้ อีกคนเห็นอีกอย่าง เคารพความเห็นทั้ง 2 ฝ่าย ก็เขียนรายงานการศึกษาให้เห็นว่า เสียงจำนวนหนึ่งเห็นเป็นอย่างนี้ เสียงอีกจำนวนหนึ่งเห็นเป็นอย่างนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าต้องแก้ไข แก้แบบไหนก็มีความเห็น 2-3 แบบ ถ้าสภาฯเห็นด้วยก็ส่งผลการศึกษาไปให้รัฐบาล

เหมือนหลักเกณฑ์การแก้ไข รธน. มี 9 ข้อ โดยไม่มองมุมการเมือง แต่ต้องการแก้หลักกฎหมายกำกับดูแลสังคมและประชาชน โอ๊ะโหเมื่อดูหลักเกณฑ์การแก้ไข รธน.ยุ่งยากไปหมด มีการเสนอปรับปรุงให้ผ่อนคลาย เสียงใน กมธ.เห็นด้วยควรแก้ไข แล้วควรแก้อย่างไร กมธ.ประมวลให้เห็นถึงการแก้ในแต่ละวิธี เช่น มี ส.ส.ร.ก็ว่ากันไป แก้ไขรายมาตราก็ว่ากันไป ไม่ใช่ยำใหญ่

ถ้ารัฐบาลเห็นตามรายงานของ กมธ. อาจยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่เลยดีไหม ถึงอย่างไรก็แก้ทั้งฉบับ แบบนี้ก็เป็นออปชันเผื่อสนใจ แก้ไขทั้งฉบับก็มีหลักเกณฑ์ไปให้ อาจมี ส.ส.ร.หรืออะไร เป็นความเห็นเสนอขึ้นไป ไม่ใช่ยังคับให้มี ส.ส.ร.

รัฐบาลเป็นฝ่ายตัดสินใจสุดท้ายตั้งแต่หมวด 3 จนถึงหมวดสุดท้าย มีประเด็นไหนที่เสนอแก้แล้วกระทบต่ออำนาจทางการเมืองบ้าง นายพีระพันธุ์ บอกว่า ขอย้ำ กมธ.มองผลประโยชน์ของสังคมและประชาชน ไม่มองว่าพรรคไหนได้ พรรคไหนเสีย

กรณีบัตรเลือกตั้งใบเดียว มีทั้งเสียงสนับสนุนไม่ต้องแก้ไขและมีเสียงสนับสนุนให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ไม่มีใครผิดหรือใครถูก กมธ.ประมวลความเห็นทั้ง 2 ฝ่ายไว้ในรายงานผลการศึกษา

ภาพใหญ่เป็นราย-งานของ กมธ. และภาพย่อยลงรายละเอียดของคณะอนุ กมธ.ชุดที่มีท่านไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธานและคณะอนุ กมธ.ชุดท่านวัฒนา เมืองสุข เป็นประธาน ข้อมูลทั้งหมดมีที่มาและรายละเอียดพอสมควร อย่างน้อยข้อมูลที่รับฟังมาจากประชาชน น้องนักศึกษาก็ได้รับการตอบสนองหรือไปถึงผู้มีอำนาจ

มั่นใจแก้ รธน.สำเร็จ นายพีระพันธุ์ บอกว่า ถ้ารัฐบาลเห็นว่าสถานการณ์วันนี้ไม่เหมือนสถานการณ์การยกร่างรัฐธรรมนูญปี 60 โดยเฉพาะการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตของประชาชน

หลายเรื่องอาจกระทบต่อการปรับปรุง รธน. เมื่อมองหลายมุมแล้วสุดท้ายรัฐบาลคงเห็นสอดคล้องแก้ รธน. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ได้พูดในแนวนี้

บางกลุ่มการเมืองตั้งข้อสังเกตรัฐบาลซื้อเวลา นายพีระพันธุ์ บอกว่า ขอให้เชื่อใจกันเหมือนการทำงานใน กมธ. ช่วงแรกถูกมองว่าไปด้วยกันไม่ได้ สุดท้ายทำงานราบรื่น ผลงานออกมาดี

ถ้าอยู่บนพื้นฐานความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ บ้านเมืองก็วุ่นวาย

ไม่มีทางหาข้อยุติ ข้อตกลงกันได้

ฉะนั้น ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน สังคม ขอให้อยู่บนพื้นฐานเชื่อใจกัน

ให้โอกาสในการทำงาน เชื่อมั่นไม่มีปัญหา.

ทีมการเมือง