กรุงศรีอยุธยาจะสิ้นคนดีหรืออย่างไร ผลการสำรวจความเห็นคนไทยในทุกภาค ทุกระดับการศึกษาและอาชีพ โดยนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อถามว่า สนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 44.06 ตอบว่า ยังหาผู้ที่เหมาะสมไม่ได้ ร้อยละ 25.47 สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ส่วนที่เหลือสนับสนุนผู้นำพรรคต่างๆ แต่คะแนนล้วนต่ำสิบ ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวว่าการปรับคณะรัฐมนตรี หลังจากที่พรรคพลังประชารัฐได้หัวหน้า พรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคใหม่ ต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากทีมเศรษฐกิจที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทาบทามร่วมรัฐบาลหลายคนตอบปฏิเสธ

ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง ที่มีคนปฏิเสธตำแหน่งรัฐมนตรี ที่มีคนหยิบยื่นให้ เพราะปกตินักการเมืองไทยส่วนใหญ่มีเป้าหมายสำคัญคือตำแหน่งรัฐมนตรี เหตุที่เกิดความขัดแย้งในพรรค พปชร.ก็เพราะแย่งชิงอำนาจในพรรค โดยมีเป้าหมายคือรัฐมนตรี แต่ผู้ที่ถูกทาบทามน่าจะไม่ใช่ ส.ส.แต่เป็นนักวิชาการ

ไม่ใช่นักวิชาการธรรมดา แต่ต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค และมีประสบการณ์ นักวิชาการที่ถูกทาบทามจะต้องคิดหนัก เพราะวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ร้ายแรงสุดในเกือบร้อยปี ร้ายแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งหลายเท่า จีดีพีปีนี้อาจติดลบถึง 8.1% ต่ำสุดในเอเชียและในกลุ่มอาเซียน

วิกฤติเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสแล้วยังอาจต้องเผชิญกับ “การเมือง” ที่รุนแรงยิ่งกว่า เพราะแม้แต่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และยกกลุ่มพรรคพวก “สี่กุมาร” เข้าร่วมรัฐบาล และได้รับมอบหมายให้ตั้งพรรค พปชร.ประสบความสำเร็จ ทำให้หัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ยังโดน “เสร็จนาฆ่าโคถึก”

...

การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร นักการเมืองอาจเปลี่ยนข้าง หรือเปลี่ยนสีเมื่อไหร่ก็ได้ ยิ่งกว่านั้น นักวิชาการผู้ที่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยอาจจะไม่เต็มใจที่จะร่วมสังฆกรรมกับคณะผู้เข้าสู่อำนาจนอกวิถีทางประชาธิปไตย บางคนที่ถือศีลประชาธิปไตยเคร่งครัด อาจถือคติ “ไม่ไหว้” ผู้เข้าสู่อำนาจนอกวิถีประชาธิปไตย

การหาคนนอกร่วมทีมเศรษฐกิจยาก ไม่ได้หมายความว่ากรุงศรีอยุธยาสิ้นคนดี ประเทศไทยมีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังๆ และมากด้วยประสบการณ์มากมาย การทาบทามคนนอกเข้าร่วมทีมเศรษฐกิจ อาจต้องใช้เวลา หรืออาจจะต้องยอมรับเงื่อนไขบางอย่างของผู้ที่ถูกเชิญ อย่างน้อยก็ขออย่าให้การเมืองจุ้นจนไม่อาจทำหน้าที่ได้.