ภายใต้รัฐบาลชุด “แจกไม่อั้น” อาจแจกเงินประชาชนทุกกลุ่มถึง 37ล้านคน จากคนทำงานทั้งประเทศ 38 ล้านคน แต่เกษตรกรอาจเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับเงินเยียวยา และอาจได้เงินน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงว่า จะให้เกษตรกร 10 ล้านราย ลงทะเบียน 15 พ.ค.
รัฐมนตรีเกษตรฯ ยืนยันว่าจะทำทะเบียนเกษตรกรที่ครอบคลุมที่สุด เพื่อรับเงินเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 รายละ 3 เดือน เดือนละ 5,000 บาทแต่ดู เหมือนว่าข้อมูลเกษตรกรจะสับสน เนื่องจากเป็นข้อมูลจากหลายหน่วยงาน จากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ เป็นต้น ระบุว่ามีเกษตรกร 17 ล้านคน
แต่ตัวเลขเกษตรกร “10 ล้านราย” ที่รัฐมนตรีพูดถึง หมายถึงเฉพาะเกษตรกรผู้เป็นหัวหน้าครัวเรือน ที่มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ถ้าในครัวเรือนนั้นมี 4 คน เพราะอาจมีพ่อแม่และลูกๆอยู่ด้วย คนอื่นๆก็จะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา เว้นแต่จะขอใช้สิทธิ์คนขับแท็กซี่ หรือลูกจ้างอื่นๆ จึงอาจไม่ทั่วถึงเป็นธรรม
ยิ่งกว่านั้นในปี 2563 นี้ สำหรับเกษตรกรไทย ต้องถือว่าเป็นปีแห่งการ “วิบัติ ซ้ำกรรมซัด” นอกจากจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสแล้ว ยังถูกกระหน่ำซ้ำเติมจาก “ภัยแล้ง” รุนแรงสุดในรอบหลายปี มีประกาศเป็นพื้นที่ภัย พิบัติถึง 27 จังหวัด ในทุกภาคของประเทศ หลายพื้นที่ไม่มีแม้แต่น้ำกินน้ำใช้
ย้อนหลังกลับไปเมื่อหลายทศวรรษ หรือหลายศตวรรษก่อน ประเทศไทยมีคำกล่าวที่อาจเรียกได้ว่าเป็นคำขวัญประจำชาติว่า “ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ” เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีชาวนาเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุด เป็นผู้ผลิตข้าวเป็นอาหารอันดับหนึ่ง เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของคนทั้งประเทศ แต่วันนี้เปลี่ยนไป
...
นับตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้รับฉายาเป็น “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” อุตสาหกรรมท่องเที่ยว กลายเป็นแหล่งนำรายได้เข้าประเทศมากที่สุด เกษตรกรไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดต่อไป กลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นกลุ่มอาชีพบริการ แต่คำกล่าวที่ว่า “ทุกข์ของชาวนาคือทุกข์ของแผ่นดิน” ยังเป็นจริงอยู่
ในภาวะวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 ธุรกิจต่างๆของประเทศล้มระเนระนาด ผู้คนตกงานอาจจะนับล้านๆ แต่ยังเคราะห์ดีที่ผู้ตกงานยังได้ “ภาคเกษตรกรรม” เป็นหลังพิง ซับน้ำตาคนตกงานและต้องกลับบ้านในชนบท เชื่อกันว่าอิทธิฤทธิ์ของโควิดปีนี้อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยพังมากกว่าต้มยำกุ้ง การเกษตรจะยังเป็นที่พึ่งพิงได้หรือไม่?