“บิ๊กตู่” ฮึ่ม! คาดโทษปลด รมต.-ผู้ว่าฯ เซ่นเกียร์ว่างแก้ฝุ่น PM 2.5 พาดหัวข่าวเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง ทบทวนวันวานที่เรียกว่าได้ใจ “นักวิจัยฝุ่น” ยกมือท่วมหัว...สาธุไปตามๆกัน

ก่อนที่จะแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ...เฝ้าระวังภัยเงียบเฉพาะบุคคลเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมถึงความร้ายกาจของ “ฝุ่นจิ๋วพิษ PM 2.5” คนไทย...ประเทศไทยควรต้องยอมรับความจริงกันเสียก่อนว่า

PM 2.5 ไม่ใช่แค่ฝุ่น แต่มีก๊าซพิษผสมอยู่ด้วย ผศ.พญ.ทิชา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายออกสื่อย้ำชัดเจนว่า เราไม่ควรจะบอกว่า มันไม่มีอันตราย WHO มีข้อมูลทางสุขภาพที่ชัดเจนแล้วว่า PM 2.5 ที่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกๆ 10 ไมโครกรัมที่เพิ่ม...เพิ่มอัตราการเสียชีวิต 1 เปอร์เซ็นต์

ประเด็นสำคัญมีว่า...“ประเทศไทย” ใช้ค่ามาตรฐาน PM 2.5 สูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก 2 เท่า ทว่า...ความหวัง “สู้ฝุ่น PM 2.5” ยังคงดำเนินต่อไป เปิด “สมุดปกขาว อากาศสะอาด” จัดทำโดยเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย ตอกย้ำหลายประเด็นน่าสนใจ

“อากาศสะอาด เป็นความต้องการพื้นฐานของสุขภาพและความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์ หากแต่...มลพิษทางอากาศจะยังคงเป็นภัยสำคัญ ที่คุกคามสุขภาพของผู้คนทั้งโลกต่อไป” องค์การอนามัยโลก (WHO2006a)

...

9 ประเด็นพื้นฐาน เพื่อเข้าใจและแก้ไข “ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5” ตอกย้ำขีดวงปัญหาในประเทศไทย เริ่มจากประเด็นที่หนึ่ง...ฝุ่นพิษ PM 2.5 คืออะไร สำคัญอย่างไร, ฝุ่นพิษ PM 2.5 อันตรายต่อสุขภาพจริงหรือไม่ มีอันตรายอย่างไร, อะไรคือ “มาตรฐานคุณภาพอากาศ”, ดัชนีคุณภาพอากาศคืออะไรและดัชนีที่มีอยู่มีข้อจำกัดอย่างไร, ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างไร

ปรากฏการณ์ฝุ่นในกรุงเทพฯ กับหมอกควันในภาคเหนือมีอะไรที่ต่างและอะไรที่เหมือนกัน, มาตรการที่ผ่านมาเพียงพอหรือไม่, เหตุใดการจัดการปัญหาที่ผ่านมาจึงไม่ได้ผล, การจัดการปัญหาอย่างยั่งยืนควรดำเนินการอย่างไร

“ฝุ่น” ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศมีหลายขนาดปะปนกัน ฝุ่นที่มีขนาดใหญ่ เช่น ฝุ่นดินหรือทราย จะตกสู่พื้นดินอย่างรวดเร็ว แต่ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่าหรือเท่ากับ 100 ไมครอน (หนึ่งส่วนล้านเมตร) จะแขวนลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน จึงได้รับการจัดเป็นสารมลพิษ เรียกว่า...“ฝุ่นละอองแขวนลอยในบรรยากาศ”

สามารถแยกออกมาเป็นกลุ่มที่เรียกว่า...ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยส่วนที่มีขนาดเล็กกว่าหรือเท่ากับ 10 ไมโครเมตร หรือ “PM 10” จะสามารถผ่านการกรองของจมูกเข้าสู่ทางเดินหายใจ

และ...หากมีขนาดเล็กกว่า หรือเท่ากับ 2.5 ไมครอน หรือ “PM 2.5”... จะรอดพ้นการดักจับของทางเดินหายใจ เข้าไปถึงปลายทางคือ ถุงลมฝอยของปอดได้โดยตรง

ฝุ่น PM2.5 ที่เรากำลังกล่าวถึงกันจึงเป็นสารมลพิษชนิดหนึ่งที่เป็น “ฝุ่น” และ “ละออง” ของแข็งหรือของเหลวที่มีขนาดอนุภาคเล็กกว่าหรือเท่ากับ 2.5 ไมครอน...

บางส่วนอาจจะเล็กกว่า 0.1 ไมครอน ที่แขวนลอย...ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ

ทำความเข้าใจต่อไปอีกว่า...ฝุ่นละอองที่เรียกรวมว่า “PM 2.5” นี้ก็มีทั้งที่มาจากแหล่งกำเนิดโดยตรงและเกิดจากการรวมตัวกันของฝุ่น...ละอองของสารเคมีที่มีขนาดเล็กจนมีขนาดใหญ่ขึ้น

โดยมีแหล่งกำเนิดทั้งจาก “ธรรมชาติ” และ “กิจกรรมของมนุษย์”

แหล่งกำเนิดที่สำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ได้แก่ โรงไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน, โรงงานอุตสาหกรรม, ไอเสียจากยานพาหนะ และการเผาชีวมวลทางการเกษตรในที่โล่งแจ้ง, เตาเผาขยะ, การก่อสร้าง, การปิ้งย่าง รวมทั้งการปล่อยสารเคมีบางชนิด เช่น ไอโซพรีนจากป่าก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน

ที่สำคัญกว่า...คือ สิ่งที่อยู่ในฝุ่น PM 2.5 แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน ก๊าซต่างๆ

“การที่มีขนาดเล็ก แต่เมื่อแผ่รวมกันแล้วจะมีพื้นผิวรวมกันมากมหาศาล ทำให้สามารถนำพาสารต่างๆล่องลอยในบรรยากาศรอบตัวเราได้ในปริมาณสูง โดยเฉพาะสารที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์”

อาทิ โลหะหนัก ที่จะก่อให้เกิดโรคทางระบบประสาท ซึ่งไม่ได้มีแค่ตะกั่ว ยังมีปรอท...เป็นที่มาของโรคมินามาตะ รวมถึงสารหนู สารก่อมะเร็ง เช่น พีเอเอช สารก่อการกลายพันธุ์ อย่างไดออกซิน

นอกจากนี้แล้วยังมี เชื้อจุลินทรีย์ ที่เป็น อันตราย ต่อสุขภาพของคนอยู่หลายตัวด้วยกันในฝุ่นละอองยังทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศและไปกระตุ้นให้โรคภูมิแพ้กำเริบขึ้นได้

นอกจากผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพแล้ว น่าสนใจว่า...สารอินทรีย์คาร์บอนและธาตุคาร์บอนที่อยู่ใน ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งปล่อยออกมาจากไอเสียยานพาหนะ ยังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในระดับภูมิภาคได้เช่นกัน จากการศึกษาในอดีตพบว่า “สารอินทรีย์คาร์บอน” ในฝุ่นมีส่วนช่วยให้ “โลกเย็น” ลง

ในขณะที่ “ธาตุคาร์บอน” กลับกระตุ้นให้ “อุณหภูมิโลก” สูงขึ้น

ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ “ฝุ่น PM 2.5” นอกจากจะส่งผลกระทบเชิงลบโดยตรงต่อสุขภาพแล้ว ยังมีความเกี่ยวข้องกับความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

การที่ “ฝุ่น PM 2.5” สามารถถูกสูดหายใจเข้าสู่ถุงลมฝอยในปอดได้โดยตรงจึงเป็นฝุ่นละอองที่มีอันตรายต่อร่างกายมากที่สุด ทั้งจากตัวอนุภาคฝุ่นละอองที่ระคายเคืองหรือสะสมในถุงลมขนาดเล็ก

และ...จากองค์ประกอบอันตรายที่อยู่ในอนุภาคเหล่านั้น “ฝุ่น PM 2.5” มีทั้งที่มี “พิษ” และ “ไม่มีพิษ”

“สมุดปกขาว อากาศสะอาด” จึงเน้นย้ำไปที่ความสำคัญกับองค์ประกอบของสิ่งที่อยู่ภายใน “ฝุ่น PM 2.5” ซึ่งแตกต่างไปตามแหล่งกำเนิด จึงใช้คำนำหน้าว่า “ฝุ่นพิษ”

รู้จัก เข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับ “ฝุ่น PM 2.5” กันไปแล้วทีนี้มาตอกย้ำถึงปุจฉาสำคัญที่อยู่ในความคิดของใครๆหลายๆคนที่ว่า “ฝุ่นพิษ PM 2.5” อันตรายต่อสุขภาพจริงหรือไม่...มีอันตรายอย่างไร?

คำตอบที่ได้มีว่า...ปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนว่า “ฝุ่นพิษ PM 2.5” มีอันตรายต่อสุขภาพ

ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่ประเทศต่างๆทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะ “ฝุ่นพิษ PM 2.5” ที่สามารถถูกสูดเข้าไปสะสมในถุงลมฝอยของปอด หรือ...แทรกซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายพิษไปทั่วร่างกาย

โดย “ฝุ่นพิษ PM 2.5” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 5 ของประชากรโลก ในปี 2558 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าในปี 2559 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากถึง 7 ล้านคน

แยกเป็น...เกิดจากมลพิษภายนอกอาคาร 4.2 ล้านคน น่าสนใจว่าร้อยละ 91 เกิดในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก

ข้อมูลสำคัญตอกย้ำ...“ฝุ่นพิษ PM 2.5” กับผลต่อระบบการหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบอื่นๆ เนื่องจาก “ฝุ่นพิษ PM 2.5” มีขนาดเล็กทำให้เมื่อถูกสูดผ่านรวมเข้าไปกับลมหายใจสามารถผ่านลงไปได้ลึกจนถึงหลอดลมฝอยและถุงลมที่เป็นส่วนปลายสุดของปอดเราได้ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาระคายเคือง เกิดการอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยเป็นผลมาจากการกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ลดระบบแอนตี้ออกซิแดนต์ รบกวนดุลแคลเซียม

จนทำให้เกิดการอักเสบ...กระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบ ซึ่งเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อของตัวเราเอง จนเกิดผลร้ายสำคัญ ทำให้คนที่มีโรคระบบการหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ

“ฝุ่นพิษ PM 2.5” ร้ายจริงๆ แถมยังร้ายสะสม “ตายผ่อนส่ง” ได้เลยทีเดียว.