“ไฟป่าดอยสุเทพดับได้หมดแล้ว” หัวข่าวเล็กๆ หน้า 15 นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2563...หลายจังหวัด เร่งแก้ปัญหาหมอกควันหลังยังมีการ “เผาป่า” ให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
พบยังเกิดจุด “Hotspot” ในพื้นที่อีก 279 จุด อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 145 จุด ป่าอนุรักษ์ 128 จุด เขต ส.ป.ก. 5 จุด และพื้นที่อื่นๆ 1 จุด โดยพื้นที่อำเภอแม่ริม เขตรอยต่ออำเภอเมืองเชียงใหม่ ยังมีค่าฝุ่นละอองสูงถึง 432 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่ายัง “สูงมาก” เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานอยู่ที่ระดับไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สาเหตุที่ประเมินกัน...เกิดจาก “ควันไฟ” ในพื้นที่อื่นเข้ามาหา
เพราะพื้นที่ป่าอำเภอแม่ริมเป็นพื้นที่ป่าดอยสุเทพ มีการควบคุมไฟป่าได้บ้างแล้ว
หนึ่งในความเป็นจริงที่ต้องยอมรับ...การ “ดับไฟป่า” ได้ทันท่วงทีเป็นงานที่ยากลำบากมากๆ นั่นเป็นเพราะว่าการจุดไฟเผาป่า...“ฝีมือมนุษย์” ยังคงเป็นเรื่องของวิถีธรรมเนียมประเพณีของชาวบ้านมานานแล้ว
“จุด” เพื่อเผาวัชพืช เศษใบไม้ใบหญ้า...เตรียมทำ “การเกษตร” ในรอบถัดไป แถมจุดที่ “ไหม้” อยู่ใน “ป่า”...เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางเข้าไปทำงานค่อนข้างยาก กระนั้นทุกๆคนก็ไม่ย่อท้อ

...
“หยุดเผา ลดฝุ่น เพื่อสุขภาพปอด” ไม่ใช่มาตรการรณรงค์เล่นๆ หากแต่ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง ในปี 2563 เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวคิดสร้างเกษตรกรต้นแบบ ให้เกษตรกรสามารถเป็นวิทยากรด้านการทำการเกษตรปลอดการเผารวมทั้งสิ้น 16,800 ราย
และ...สร้าง “ชุมชนเกษตรกรต้นแบบ” รวมทั้งสิ้น 210 แห่ง
เป้าหมายสำคัญ...เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แนะนำทางเลือกในการใช้ “เทคโนโลยีการเกษตร” ทดแทน “การเผา”
ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร รวมทั้งสร้างต้นแบบการทำเกษตรปลอดการเผา เพื่อสนับสนุนการหยุดเผาในระยะต่อไป
ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการไปยังกรมส่งเสริมการเกษตรและจังหวัดต่างๆแล้วให้เร่งดำเนินการควบคุม กำกับดูแล เข้มงวดไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่การเกษตรในความรับผิดชอบอย่างเคร่งครัด และเร่งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาในเวทีถ่ายทอดความรู้ต่างๆ
รวมทั้งให้หน่วยงานในพื้นที่ร่วมกันแก้ไข...ป้องกันปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผา และฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ
ตลอดจนให้การสนับสนุนมาตรการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร
การรณรงค์จะเน้นพื้นที่ที่ประสบปัญหาวิกฤติหมอกควันปกคลุมรุนแรงใน 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ พะเยา ตาก อุตรดิตถ์
และ...ขยายผลการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีการเผาสูง 26 จังหวัด
ประกอบด้วย...กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร อุดรธานี กำแพงเพชร พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก มหาสารคาม ยโสธร ศรีสะเกษ สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ และอุบลราชธานี
นับรวมไปถึงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีก 6 จังหวัดด้วย
ประเด็นสำคัญที่ต้องเน้นย้ำก็คือ ขณะนี้ได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์กระตุ้นจิตสำนึก เพื่อหยุดเผาและดำเนินการอบรมเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายครบแล้วคิดเป็นร้อยละ 100 ของเป้าหมาย
ในช่วงที่เกิดวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็กปกคลุมกระจายทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ...ปริมณฑล รวมทั้งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้สั่งการเพิ่มเติมให้ทุกจังหวัดเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะในพื้นที่การเกษตรอย่างเร่งด่วน
ฉายภาพไปที่ “กรมส่งเสริมการเกษตร” ได้มอบหมายให้ “เกษตรจังหวัด” บูรณาการแผนงานโครงการป้องกัน...แก้ไขปัญหาการเผาเศษซากพืชหรือวัชพืช เศษวัสดุทางการเกษตร

“เร่งสร้างการรับรู้ พร้อมๆกับรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผา และให้เกษตรอำเภอจัดตั้งชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่ เพื่อออกตรวจ ป้องปราม ระงับ ยับยั้ง แจ้งเหตุ”
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสถานการณ์วิกฤติ “หมอกควัน” และ “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก” หรือ “PM2.5” ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย...ต้องยอมรับความจริงที่ว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ “การเผาพื้นที่ การเกษตร” เพื่อเตรียมเพาะปลูกสำหรับฤดูกาลผลิตถัดไป
แน่นอนว่าการเผาที่เกิดขึ้นนี้...ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพอนามัย
ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เป็นตัวการสำคัญที่มีผลต่อการทำงาน ของระบบทางเดินหายใจ ประกอบกับปัจจุบันเรากำลังประสบกับปัญหาวิกฤติไวรัสโควิด–19 ที่สามารถเข้าทำลายปอด และส่งผลให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจเช่นกัน
นอกจากนี้ “การเผา” ในพื้นที่การเกษตรยังเป็นการทำลายโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้ดินเสื่อมโทรม ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้ผลผลิตต่ำ คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน
รวมทั้ง “เกษตรกร” ยังต้อง “ลงทุน” ในการปรับสภาพดินมากขึ้น
แนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนข้างต้น จะใช้ “เครือข่ายเกษตรกร” ของ “ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)” ร่วมเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังป้องกันในพื้นที่
น่าสนใจว่า...ผลการดำเนินงานที่ได้รับรายงานจากกรมส่งเสริมการ เกษตร มีการจัดตั้งชุดปฏิบัติการกว่า 1,500 ชุด มีการสร้างการรับรู้ผ่าน การอบรมหลักสูตรต่างๆกว่า 180,000 ราย ในชุมชนกว่า 20,000 ชุมชน รวมทั้งมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์กว่า 25,000 ครั้ง
อยากฝากถึงพี่น้องเกษตรกรว่า การปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรเพื่อลดการเผายังมีหลายวิธี อย่างเช่น การไถกลบตอซัง ฟางข้าว ใบอ้อย หรือเศษซากพืช เพื่อช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ และคืนชีวิตให้ดิน การนำฟางข้าวหรือเศษวัสดุการเกษตรที่เหลือทิ้งในแปลงเพาะปลูกมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ทดแทนปุ๋ยเคมี หรือการนำเศษวัสดุการเกษตรมาใช้เลี้ยงสัตว์ การผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง
“หรือ...แม้แต่การห่มดินโดยนำเศษใบไม้ เศษฟาง เศษหญ้า มาคลุมบริเวณต้นพืช เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้กับดินในสภาวะขาดน้ำ หรือฝนทิ้งช่วง
จึงอยากขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรงดการเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อร่วมกันบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และหมอกควัน ในพื้นที่ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง”
นอกจากนี้แล้วกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรนำมาตรการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร เข้าที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด...คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด
เพื่อยกระดับการทำงาน ทั้งยังขอความร่วมมือประชาชน หากพบ “การเผา” เศษวัสดุในพื้นที่การเกษตรให้แจ้งไปยังสายด่วนฉุกเฉิน “1784”...สำหรับทุกพื้นที่ หรือ “1362”...สำหรับพื้นที่ป่า
“หยุดเผา ลดฝุ่น เพื่อสุขภาพปอด” ต้องทำให้ได้และเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน.