กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งในสภาและนอกสภา ทั้งจากองค์กรภาคเอกชนและกลุ่มนักวิชาการ ล่าสุดได้แก่คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ร่วมกับเครือข่ายพีเพิลโก เครือข่ายนิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบัน ร่วมกันรณรงค์ใน กทม. และอ่านแถลงการณ์เรื่องหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จาก ครช.
มีสาระสำคัญให้ตรา พ.ร.บ.การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนว่า ควรจะให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และให้ความเห็นประชาชนมีผลผูกพัน ทั้งทางกฎหมายและทางการเมือง ส่วนเนื้อหาสำคัญของรัฐธรรมนูญ ครช. เสนอประเด็นการสร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เข้มแข็ง และสร้างกลไกการเข้าสู่อำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน
ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอจากพรรค การเมืองฝ่ายค้าน และนักวิชาการหลายฝ่าย ให้แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ บางคนมองว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากเกินไป จนกลายเป็น “ซุปเปอร์องค์กร” ควรจัดตั้งองค์กรใหม่เป็นคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยผู้มีความรู้หลากหลายสาขาวิชา ไม่ใช่ชี้เป็นชี้ตายยุบพรรค
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประกาศ ว่า การฝ่าวิกฤติของประเทศไทยมีทางออกทางหนึ่ง คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แก้ไขแค่บางมาตรา แต่ต้องแก้ใหญ่แก้ด้วยพลังอำนาจประชาชน ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาปัจจุบัน แต่ต้องแก้ปัญหาอนาคตและอดีตด้วย และต้องกำหนดเวลาให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคม
สอดคล้องกับข้อเสนอ “ถอนฟืนออกจากเตา” นำประเทศออกจากภาวะวิกฤติ ของ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตั้งคำถามว่าเป็น ไปได้หรือไม่ ที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่แทนฉบับปัจจุบันที่มีปัญหา โดยใช้เวลา 60 วัน ตัวอย่างของปัญหาจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เช่น องค์กรอิสระ และการสืบทอดอำนาจ
...
ส.ว.แต่งตั้งที่มีสิทธิเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี เป็นเวลานาน 5 ปี ส.ว. 250 คน มีสิทธิร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีทุกครั้ง ทั้งยังมีอำนาจยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นักวิชาการบางคนชี้มาตรา 279 ที่รับรองคำสั่งของ คสช. เสมือนมีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับในเวลาเดียวกัน และเกิดภาวะรัฐคู่ขนานซ่อนตัวอยู่ในองค์กรต่างๆ เช่น ส.ว. เป็นต้น
ทุกองค์กรที่ออกมาเคลื่อนไหว เสนอตรงกันในหลายประเด็นสำคัญ เช่น จะต้องเป็นการแก้ไขใหญ่ ให้ ส.ส.ร. ซึ่งมาจากเลือกตั้งร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ส่วน ครช. เสนอให้ตรา พ.ร.บ.รับฟังความเห็นประชาชน ควรให้ยกร่างรัฐ-ธรรมนูญใหม่หรือไม่ ต้องตัดสินกันด้วยเสียงประชาชน ไม่ใช่ผู้มีอำนาจ หรือ ส.ว.เพียงไม่กี่คน.