ข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” รายงานว่าขบวนล้อการเมืองในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ปีนี้ ความเข้มข้นหายไป อาจเพราะถูกเซ็นเซอร์ หรือต้องเซ็นเซอร์ตนเอง แต่ก็ยังมีการล้อการเมืองกันตามประเพณี ล้อเลียนทั้งรัฐธรรมนูญ รัฐประหาร และรัฐบาลที่ “มือไม่ถึงก็ออกไป”
หุ่นล้อการเมืองตัวที่ 1 ของกลุ่มอิสระล้อการเมือง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชื่ออนุสาวรีย์ประชาธิป “ตาย” เขียนข้อความว่า “อำนาจรัฐ ชัดเจน ว่าแกร่งกล้า สูงสุดฟ้า ลำปืน รัฐประหาร...” สื่อความหมายว่ารัฐธรรมนูญกำลังมีภัย เพราะกลุ่มคนสีเขียวผลักเอียง หากไม่มีประชาชนเป็นคนค้ำยัน ร่วมกันดันอนุสาวรีย์ให้มั่นคง
แนวคิดในการล้อเลียนการเมือง ของนิสิตนักศึกษาสอดคล้องกับเสียงวิพากษ์-วิจารณ์ของนักการเมืองฝ่ายค้านในสภา สื่อมวลชนและสังคมทั่วไปในสภามี ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ มีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้นำ เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหาร
นายปิยบุตรชี้แจงเหตุผลว่า 88 ปี นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย ประเทศไทยมีรัฐประหารถึง 13 ครั้ง เฉลี่ย 6 ปีต่อครั้ง จึงต้องหาแนวทางป้องกัน เช่น ปฏิรูปกองทัพให้เป็นประชาธิปไตย แก้ไขมาตรา 113 ของ ป.อาญา ให้ประชาชนเป็น “ผู้เสียหาย” สามารถฟ้องคดีกบฏได้ ห้ามตุลาการยอมรับ เป็นรัฏฐาธิปัตย์
ต้องถือว่าเป็นความมุ่งมั่นและความกล้าหาญของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหาร ที่กลายเป็นประเพณีการเมืองไทยอย่างน่าเศร้า ขณะที่นักการเมืองรุ่นก่อนๆอาจจะท้อแท้และสิ้นหวัง ตัวอย่างเช่น นายอุทัย พิมพ์ใจชนม์ อดีตประธานรัฐสภา เคยฟ้องคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจ เมื่อปี 2514 แต่ถูกจับเข้าคุกเสียเอง
...
ข้อหาที่ฟ้องต้องเป็น ป.อาญา มาตรา 113 แน่นอน กล่าวหาว่าคณะรัฐประหารล้มล้าง หรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารเป็นความผิดฐานกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต เป็นข้อกล่าวหาที่เป็นจริง แต่คณะรัฐประหารนิรโทษกรรมให้ตนเองเสียแล้ว ในฐานะที่เป็น “รัฏฐาธิปัตย์”
แม้จะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ระบุชัดๆว่าคณะรัฐประหารไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ ประชาชนมีสิทธิ์ฟ้องคณะรัฐประหาร แต่รัฐธรรมนูญก็ฉีกทิ้งไปก่อนแล้ว แนวทางป้องกัน รัฐประหารที่ดีที่สุด ต้องทำให้การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็ง นักการเมืองต้องประชาธิปไตยแท้ ไม่ใช่งูเห่าหรือลิงหิวกล้วย ไม่ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาประชาธิปไตย.