การเมืองจะไปทางไหน?
ว่าจะรอฟังผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 7 ขอนแก่นแต่อยากให้ชัวร์ๆ เสียก่อนดีกว่าผลจะออกมาอย่างไรแล้วค่อยว่ากัน
องคาพยพทางการเมืองใกล้จบปีเก่าผ่านไปสู่ปีใหม่ดูเหมือนว่ามีการวางแผน เตรียมการและซ่องสุมกำลังเอาไว้ให้พร้อม
เพื่อเปิดศึกใหญ่กันในปีชวด (2563)
เริ่มตั้งแต่ต้นปีเดือนแรกเลยทีเดียวเป็นกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่ผสานการเมืองอย่างแยกไม่ออกเพราะฝ่ายผู้จัดงานนี้ในวันที่ 12 ม.ค. 63 เพื่อรับศักราชใหม่ทางการเมือง
“วิ่งไล่ลุง” นั้นว่าไปแล้วน่าจะเป็นการ “ต่อยอด” หลังจากประเดิม “ลงถนน” ไปแล้วเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้ออกมาให้คำจำกัดว่าเป็นขบวนการ “Proxy crisis” คือ วิกฤตการณ์ที่มีคนบางคนอยู่เบื้องหลังไม่ออกมาสู้เอง
เพราะไม่สามารถต่อสู้กับภาครัฐได้โดยตรงก็ต้องมีการสร้างตัวแทนขึ้นมาซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์เมืองไทยในขณะนี้
พูดง่ายๆว่าจะยังเกิดสงคราม แต่ก็มีความพยายามที่จะไปให้ถึงจุดนั้น
จากนั้นฝ่ายค้านก็เตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเบื้องต้นวางเอาไว้ 4 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายวิษณุ เครืองาม นายดอน ปรมัติวินัย ล่าสุด เพิ่มมาอีก 1 คน
“พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา”...
เอาให้ใกล้เวลาดีเดย์อาจจะมีการเพิ่มเติมก็ได้ เพราะมันเป็นเหลี่ยมทางการเมืองที่ต้อง “อุบงำเอาไว้ก่อน”
เพราะมันมีค่าและราคาในทางการเมืองไม่น้อย
อีกประเด็นที่น่าจะกล่าวได้ว่าเป็น “ชนวนใหญ่” ทางการเมืองเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นจุดที่นำไปสู่การต่อสู้ที่มีน้ำหนักหมัด และมีผลต่อพรรคการเมืองและนักการเมืองทั้งระบบ
...
รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 นั้น มีเป้าหมายเพื่ออะไร อย่างไรนั้นรู้กันดีอยู่แล้ว เอาแค่คำพูดของระดับแกนนำพรรคพลังประชารัฐเป็นตัวประกันคำตอบได้
“รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”
นั่นแหละจึงกลายเป็นปัญหาที่ 7 พรรคฝ่ายค้านจะต้องแก้ไขให้ได้ แม้แต่ประชาธิปัตย์เองก็เดินหน้ามาแล้ว
มติสภาผู้แทนราษฎร 445 เสียง ให้มีการตั้ง กมธ.เพื่อศึกษาเรื่องนี้ มี กมธ.จำนวน 49 คน และให้เวลา 120 วัน ในการดำเนินการ
ตัวแทนแต่ละพรรคที่ได้เป็น กมธ.ล้วนมีการคัดเลือกบุคคลระดับ “เซียน” เป็นส่วนใหญ่ เพราะถือเป็นเกมที่ต้องชิงไหวชิงพริบกันทุกรูปแบบ
“ส.ว.” ที่ไม่ได้เข้ามาร่วมใน กมธ.ชุดนี้ แต่ก็ต้องเหลือบมองดูความเป็นไปอย่างไม่วางตาเนื่องจากมีได้มีเสียด้วย
อย่างน้อยก็ต้อง “ปกป้อง” เพื่อไม่ให้ถูกเขี่ยไปจากแวดวงการเมืองไทยเนื่องจากเป็น ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.อันเป็นเสาค้ำยันรัฐบาลที่ชัดเจนที่สุด
การแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้จะต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรแต่การแก้ไขในรูปแบบไหน ประเด็นไหนล้วนสัมพันธ์กันทั้งหมด
พูดง่ายๆคงจะทะเลาะกันตั้งแต่ยกแรกไปจนกว่าจะถึงที่สุดเนื่องจากความเห็นที่ต่างกัน แนวคิดต่างกัน เป้าหมายต่างกัน
ทิศทางการเมืองข้างหน้าจะสู้กันใน “เวที” หรือ “ลงถนน” ก็เรื่องนี้แหละ...
“สายล่อฟ้า”