ไขกุญแจลงถนน...

ประกาศนับหนึ่งนำโดย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมคณะ ได้ปลุกระดมให้ผู้สนับสนุนมาร่วมชุมนุมที่สกายวอล์ก ปทุมวัน

เขาบอกว่า...นี่เป็นการเริ่มต้นยกที่ 1

นั่นเท่ากับว่าจะมีการชุมนุมครั้งต่อๆ ไป หากไม่ถูกจับแพ้ฟาวล์หรือถูกน็อกเสียก่อนก็ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถ “จุดกระแส” ในความจริงได้มากน้อยแค่ไหน

ว่าไปแล้วทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่าจะได้รับแรงสนับสนุน ที่เป็นจริงอย่างที่มุ่งหวังหรือไม่ หากไม่สุกงอมพอ

อาจจะเป็น “กระแสด้าน” ก็ได้...

มีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้ง 2 ด้านคือเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในส่วนของพรรคการเมืองและนักการเมืองอื่นๆ

“เพื่อไทย” นั้นส่งเสียงสนับสนุนและให้นักการเมืองในสังกัดเข้าร่วมด้วย อ้างว่าเป็นสิทธิในการแสดงออกของประชาชน

แต่พรรคการเมืองในส่วนของรัฐบาล แม้จะเห็นอกเห็นใจในฐานะนักการเมืองด้วยกัน แต่ไม่เห็นด้วยกับการปลุกระดมชุมนุมประท้วงอย่างนี้

เมื่อเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ควรที่จะเล่นในสภา ไม่ใช่สู้ในสภาไม่ได้ก็ป่าวร้องให้ผู้คนมาร่วมชุมนุมบนถนน

ยิ่งการนัดชุมนุมครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากที่ กกต. ได้มีแต้ม 5 ต่อ 2 ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ และส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เท่ากับว่าเป็นเพียงการสร้างปฏิกิริยา เพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัย อันเป็นประเด็นที่เรียกร้องเพื่อตัวเองมากกว่าการเมืองโดยรวม

...

แม้จะซ่อนประเด็นเอาไว้เพื่อหวังให้เกิดความชอบธรรม ด้วยการให้ผู้ร่วมชุมนุมเข้าใจว่าเพื่อเป็นการแสดงออก

ไม่เอารัฐบาลสืบทอดอำนาจที่ปิดหูปิดตาประชาชน

เอากันจริงๆแล้วการนัดชุมนุมครั้งนี้ น่าเชื่อว่ามีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะมีการประสานไปยังกลุ่มต่างๆที่สอดรับกัน แม้กระทั่งการรณรงค์ “วิ่งไล่ลุง” ซึ่งรู้กันดีว่าคือกิจกรรมส่วนหนึ่งอย่างแยกไม่ออก

แม้ตอนแรกนายธนาธรจะอ้างว่า พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย แต่สุดท้ายก็เป็นเนื้อเดียวกันที่ยากจะปฏิเสธได้

เพราะทิศทางการเดินงานการเมืองของพรรคอนาคตใหม่นั้น จะเห็นได้ว่าเป็นไปในลักษณะคู่ขนาน

เป็นการเมืองสองขาคือสู้ในสภาและนอกสภา

เมื่อเห็นว่าการเมืองในสภานั้นประสบความพ่ายแพ้ ไม่สามารถยึดเป็นสนามต่อสู้ได้ก็ต้องหันมาเล่นเกมนอกสภา

การขับเคลื่อนการเมืองที่เคยเกิดมาแล้วสมัยที่ “ทักษิณ” เป็นนายกฯนั้นแบ่งเป็น 3 ขา คือเกมในสภา กลุ่มแนวร่วม นปช. (เสื้อแดง) และกลุ่มชุดดำ

ที่เรียกว่า “แก้ว 3 ประการ”...

“อนาคตใหม่” นั้นมุ่งหวังไปยังคนรุ่นใหม่ ที่ให้การสนับสนุนนับแต่การเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาจนประสบผลสำเร็จ

จนเมื่อมีเงื่อนไขที่เห็นว่าน่าจะ “จุดกระแส” ได้จึงเริ่มปฏิบัติการเพื่อวัดจำนวนมวลชนว่าจะให้การสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน ถ้าจุดติดได้ก็จะเดินหน้าต่อไปเพื่อล้มรัฐบาลให้ได้

เท่ากับว่าสามารถเดินลัดสนามเพื่อมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายต่อไป.

“สายล่อฟ้า”