แล้วยังไงต่อ?

ผมว่าประเด็นนี้น่าสนใจและเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะมีผลกระทบต่อเกษตรกรที่เคยใช้มาก่อน

มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ “แบน” สารเคมีกำจัดวัชพืช 3 ตัวคือ คลอร์ไพริฟอส พาราควอตและไกลไฟเซต

คณะกรรมการชุดนี้มี 29 คน แต่เข้าร่วมประชุมเพียง 26 คน ไม่รู้ว่าหายตัวไปไหนกับเรื่องใหญ่ๆแบบนี้ที่ควรจะต้องใส่ใจ

ในจำนวนกรรมการที่เข้าร่วมประชุมนั้นแม้มีมติร่วมกันให้ยกเลิกตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.62 แต่บางส่วนให้ยกเลิก 1 ธ.ค.64

ยังมีที่เห็นว่าควรจำกัดการใช้อีกด้วย

หลังทราบผลการประชุมกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงซึ่งไม่ยอมรับพร้อมที่จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง

ผลจากเรื่องนี้ได้รับความชื่นชมจากในประเทศและต่างประเทศต่อการตัดสินใจในครั้งนี้เพราะถือว่าเป็นการคำนึงถึงผลกระทบด้านสุขภาพทั้งเกษตรกรเองและผู้บริโภค

แน่นอนว่าผลกระทบตรงๆก็คือ “ต้นทุน” ที่จะต้องเพิ่มขึ้นอันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเยียวยาเพื่อสนับสนุนและแบ่งเบาภาระที่อยู่ 3 ระดับ

1. ใช้เครื่องมือกลและเครื่องจักรกลทางการเกษตรเข้ามาแทนที่

2. การปลูกพืชคลุมดิน

3. การจัดระบบการปลูกพืชแบบผสมผสาน

ที่สำคัญก็คือจะต้องหาสารที่ไร้พิษเข้ามาทดแทนทำให้ราคาจะสูงขึ้น รัฐบาลจะต้องปรับเปลี่ยนไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆ อีกทั้งจะต้องจัดเก็บภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามลำดับความเป็นอันตรายเมื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงจากผลกระทบภายนอก ที่มีมูลค่า 20,000 ล้านบาทต่อปี

ขั้นต่อไปก็คือการนำภาษีที่เก็บได้ไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการจัดการวัชพืชแล้วศัตรูพืชที่ปลอดภัย ต่อสุขภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

...

หากพัฒนาไปสู่การปลูกพืชด้วยระบบ “ออร์แกนิก” น่าจะดีที่สุด

ปัจจุบันเกษตรกรที่ใช้สารเคมีมีพื้นที่กว่า 137 ล้านไร่ แต่เกษตรอินทรีย์มีพื้นที่แค่ 3 ล้านไร่เท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา

เกษตรกรเองแม้จะได้รับผลกระทบ แต่ก็ต้องคำนึงถึงสังคมโดยรวมในเรื่องสุขภาพและพลานามัยด้วย

เพราะสารทั้ง 3 ชนิดนั้นได้มีการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์มาแล้วว่าเป็นอันตราย หลายประเทศยกเลิกการใช้ไปแล้ว

อีกส่วนหนึ่งยังมีคดีฟ้องร้องระหว่างบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรายใหญ่กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารดังกล่าว

ว่าไปแล้วกว่าจะแบนสารทั้ง 3 ตัวนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

หากไม่รวมพลังจากภาคส่วนต่างๆคงไม่สามารถมีผลออกมาอย่างนี้ได้

คณะกรรมการชุดนี้กว่าจะมีมติออกได้ก็มีการประชุมกันหลายรอบ และยังมีลับลมคมในอย่างที่เห็นก็คือ การประชุมลับไม่เปิดเผยว่าใครค้านหรือใครสนับสนุน

เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีผลประโยชน์มหาศาล แม้เกษตรกรบางส่วนจะได้รับผลกระทบ แต่เพราะความเคยชินและมองไม่เห็นว่าจะหาอะไรมาทดแทนได้

ที่สุดแล้วจะต้องคำนึงถึงด้วยการรับความเห็นว่ามีอันตรายมากกว่า เพียงแต่ว่าจากนี้ไปรัฐบาลจะต้องเข้ามารับผิดชอบโดยตรง

เพราะนี่เป็นเพียงการแก้ปัญหาขั้นต้นเท่านั้น!

“สายล่อฟ้า”