“น้ำท่วม น้องว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้ง ให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า”

บทเพลงอมตะของราชาลูกทุ่ง “ศรคีรี ศรีประจวบ” ที่โด่งดังเมื่อครั้ง 40-50 ปีที่แล้ว ไม่น่าเชื่อมาถึงวันนี้ก็ยังเข้ากันกับสถานการณ์อากาศแปรปรวนในเมืองไทย

พลิกกลับไปกลับมายิ่งกว่าอารมณ์ “ไบโพลาร์”

แบบที่ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้ารัฐบาล ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนยังเครียดกับภาวะภัยแล้ง ข้าว พืชผลเกษตรยืนต้นตาย แต่ภายในไม่กี่อึดใจต่อมาก็ต้องเจอกับพายุฝนกระหน่ำ น้ำป่าไหลหลากท่วมเมือง ชาวบ้านต้องหอบลูกจูงหลานขนของหนีน้ำกันหูตาเหลือก

พายุ “โพดุล” ยังไม่หมดฤทธิ์ พายุ “คาจิกิ” กระหน่ำซ้ำ

น้ำท่วมอ่วมกันทั้งภาคอีสาน จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น ยโสธร พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร และยังต้องเฝ้าระวังจังหวัดภาคกลางที่ต้องรับน้ำเหนือ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ จากที่เครียดภัยแล้งต้องผวากับอุทกภัย

ที่แน่ๆจากผลกระทบเบื้องต้นหนีไม่พ้นรัฐบาลต้องมีมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยเป็นการเร่งด่วน โดยเฉพาะการเจียดงบประมาณชดเชยพืชผลทางการเกษตร ชาวนา ชาวไร่ที่เสียหาย

ประคองปากท้องเกษตรกร ชาวบ้านฐานรากที่ขาดรายได้

ตามตัวเลขที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมจะอยู่ที่ 5,000-8,000 ล้านบาท

โดยผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ เพิ่มโจทย์หนักๆซ้ำวิกฤติสงครามการค้า

สารพัดปัญหา รัฐบาลเปิดตำราแก้กันแทบไม่ทัน

อย่างไรก็ตาม ฟังจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กับนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ต่างประสานเสียงยืนยันมั่นใจ เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นภาวะถดถอย

...

เพียงแต่ค่อยๆเจริญเติบโตอย่างช้าๆ

เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่เผชิญวิกฤติสงครามการค้าอ่วมทั่วโลก เศรษฐกิจไทยยังโตได้

สะท้อนพื้นฐาน “Local Economic” ที่แข็งแกร่ง

ประกอบกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ชี้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 3-3.2 เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี เม็ดเงินจากการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลที่ประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท จะลงสู่ระบบและเห็นผลในทางปฏิบัติ ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ หลังจากราคาพืชผลทางการเกษตรสูงขึ้นจากนโยบายประกันรายได้

สรุปเศรษฐกิจพ่นพิษหนักทั่วโลก แต่ประเทศไทยยังประคองตัวได้

ณ วันนี้ต้องเร่งสร้างความมั่นใจในการดึงดูดนักลงทุนที่กำลังย้ายฐานหนีสงครามการค้า พร้อมทั้งกระตุ้นการเบิกจ่ายของหน่วยราชการและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

อย่างที่รองนายกฯ “สมคิด” ไล่จี้ ครม.เศรษฐกิจ กระทุ้งทีมหาเงินเข้าประเทศวิ่งกันขาขวิด ใช้ความฟิตเบียดกับแรงเสียดสีของทีมดูไบที่ผลิตวาทกรรมซ้ำ ถล่มรัฐบาลสอบตกแก้ปัญหาปากท้อง

“จิตแข็ง” พอที่จะไม่สั่นไหวตามแรงลมปาก

เรื่องของเรื่อง ปัจจัยถ่วงเศรษฐกิจมันอยู่ที่ปมป่วนทางการเมือง

ตามท้องเรื่องที่ยังวนเวียนๆอยู่กับประเด็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ อาจขัดรัฐธรรมนูญ

ในเหลี่ยมที่ฝ่ายค้านลากเกมตีกินกระแสมานานแรมเดือน

ล่าสุดถึงจังหวะรัฐบาลเขี้ยวกลับ ล็อกคิวบรรจุญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติกรณีนายกฯนำ ครม.ถวายสัตย์ฯไม่ครบ ในวันที่ 18 กันยายน เจาะจงวันสุดท้ายก่อนปิดประชุมสภาสมัยสามัญ

เปิดให้ “ด่าฟรีคิก” แค่วันเดียว เที่ยงคืนดับไฟปิดวิกทันที

ทีใครทีมัน เล่นเกมเอาล่อเอาเถิด ยื้อกันไปลากกันมา ตามฟอร์มการเมืองแบบไทยๆ

สาดสงครามน้ำลายแข่งกับน้ำท่วม ตามรูปเกมอย่างดีฝ่ายค้านก็ได้แค่เหน็บด่า เบิ้ลบลัฟ ประทับรอยด่าง “นายกฯลุงตู่” แต่เมื่อจบการอภิปรายก็แยกย้ายกลับบ้านใครบ้านมัน

ไม่มีการลงมติเหมือนศึกซักฟอกแต่อย่างใด

ในสถานการณ์ที่ต้องลุ้นจริงๆ วันเดียวกัน 18 กันยายน ตามคิวศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

รายการนี้ต่างหากที่อาจมีผลทำให้พลิกคว่ำพลิกหงาย

เช่นเดียวกับอีกหลายคิวหลายกรณีที่มีการลากเข้า “เงี่ยงกฎหมาย” ติดกับดักรัฐธรรมนูญฉบับ “ซือแป๋” มีชัย ฤชุพันธุ์ โดนกันถ้วนหน้าไล่ตั้งแต่นายกฯ รัฐบาลฝ่ายค้าน

สถานการณ์ต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันทุกองค์กร

สดๆร้อนๆศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องที่ประธานสภาฯส่งความเห็นของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ขอให้วินิจฉัยว่า ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านจำนวน 32 คน ถือครองหุ้นสื่อเข้าข่ายทำให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 93 (3)

แต่ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

เมื่อรวมกับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องกรณีถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนไว้พิจารณาอีก 32 คน ก่อนหน้านี้

รวม 60-70 คน ตัวเลขเยอะขนาดที่มีผลต่อคะแนนเสียงในสภาผู้แทนฯ

พลิกขั้วฝ่ายค้าน-รัฐบาลได้เลย

โดยเงื่อนไขสถานการณ์ติด “กับดัก” รัฐธรรมนูญ ต้องลุ้นกันเหนื่อยอีกหลายช็อต

ไหนจะวาระแทรก แรงกระเพื่อมในพรรคร่วมรัฐบาล แบบที่อยู่ๆก็มีปฏิบัติการป่วนของผู้สมัคร ส.ส.พรรค

พลังประชารัฐแฉทะลุกลางปล้อง ซัดบิ๊กกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯรับสินบนโยกย้ายข้าราชการ 600 ล้าน ทำให้ “เดอะท็อป” นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรฯ ลุยฟ้องหมิ่นประมาท

แล้วก็เป็น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ต้องเล่นบทมือเคลียร์ นำจอมแฉของพลังประชารัฐไปยกมือไหว้ขอโทษนายวราวุธ ยอมรับข้อมูลไม่เป็นความจริง ไม่ได้กลั่นกรองก่อน

ฉากหน้าจบแบบไม่มีอะไรในกอไผ่ แต่ฉากหลังกอไผ่มันแฝงปมร้าว โยงต่อเนื่องมาตั้งแต่ตอนฟอร์ม ครม.ที่คนนอกคนในต่างรู้กันดีว่า เด็กเส้นสาย “พี่ใหญ่” จ้องฮุบกระทรวงทรัพยากรฯ แต่เบียดโควตาไม่ได้ เลยมีการใช้ข้าราชการที่แบ่งขั้วแย่งผลประโยชน์ เปิดเกมเขย่า กระแทกชิ่งกันในที

ยุทธการ “ตีเมืองขึ้น” แต่เจอ “สายแข็ง” อย่างนายวราวุธ

มันคือจุดที่กระตุกรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล

แม้แต่ภายในพรรคแกนนำอย่างพลังประชารัฐเองก็ไม่ได้แนบแน่นเป็นผืนเดียวกัน ภายหลัง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เข้าไปคลุกวงในเต็มตัว

กลุ่มก๊วนมีทั้งพอใจและไม่พอใจ ไม่ได้เต็มใจแบบที่ฝืนยิ้มรับกันทั้งหมด

ภาพพรรคทหารกับนักเลือกตั้งอาชีพไม่เคยยืนระยะได้ยาวๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวการณ์ที่พรรคแกนนำอย่างพลังประชารัฐและผู้นำอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ โดนจอมเขี้ยวอย่างพรรคประชาธิปัตย์ “ขี่คอ” ร่วมรัฐบาล

เสียงน้อยแต่ถือไพ่แต้มเหนือกว่า ทั้งการหยิบชิ้นปลามัน ยึดโควตากระทรวงเศรษฐกิจทั้งพาณิชย์ เกษตรฯ ตีกินนโยบายหาเสียงประกันราคาพืชผลเกษตรยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าว

นั่นไม่เท่ากับการคุมเกมในสภาโดยจอมเก๋าอย่างนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

เกมในสภา พล.อ.ประยุทธ์ “ถูกไล่ต้อน” เมื่อไหร่ก็ได้

แต่ที่ละสายตาไม่ได้ จังหวะการขยับเดินเกมการเมืองนอกสภา

คลื่นใต้น้ำที่เคยถูกอำนาจพิเศษ ม.44 กดไว้ เริ่มโผล่มาเหนือน้ำ

ท้าทาย พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำจากการเลือกตั้ง ทั้งพรรคเพื่อไทยที่จัดทีมเดินสายจุดพลุรื้อรัฐธรรมนูญ ปลุกกระแสเร้ามวลชน

ขณะที่ “ไพร่หมื่นล้าน” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็เดินหมากรุกการเมืองท้องถิ่น ขยายกระแสความนิยมพรรคสีส้มไปตามหัวเมืองสำคัญ

จุดไฟเร้ากองเชียร์ช่วยกันรื้อกติกาฉบับ “ซือแป๋มีชัย”

ที่ต้องจับตาอีกด้านก็คือ ผลพวงจากการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจปากท้องของรัฐบาล ที่กำลังทุ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจลงไปแก้ปัญหาราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งการเยียวยาฟื้นฟูเกษตรกรฐานรากที่ประสบทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม

หากไม่เข้าเป้า ไม่ได้ผลเป็นรูปธรรม โดนกระแสการเมืองปลุกเร้า ม็อบคนเดือดร้อนออกมาเคลื่อนไหว

“ซินแสรัฐบาล” แทบไม่ต้องดูดวงเมืองเลย จะวุ่นแค่ไหน.

“ทีมการเมือง”