ม็อบการเมืองปี 53 ชี้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง 24 แกนนำคนเสื้อแดง ในคดีร่วมกันก่อการร้ายและ อื่นๆในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 53 เพื่อกดดันรัฐบาลช่วง “มาร์ค” เป็นนายกฯ ชี้เป็นการชุมนุมโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีพยานเบิกความยืนยันจำเลยคนใด ทำการเข้าข่ายก่อการร้าย “ตู่-จตุพร” บอกศาลชี้แล้ว นปช.ไม่ใช่พวกก่อการร้าย ยังต้องเดินหน้าสะสางเพราะมีแนวร่วมติดคุก อยู่ระหว่างสู้คดีอีกจำนวนมาก ด้าน “บิ๊กตู่” เหน็บ พอรอดไม่เห็นบอกศาลยุติธรรม แต่พอผิดกลับบอกศาลไม่ยุติธรรม เป็นแบบนี้ทุกครั้ง

ที่ห้องพิจารณา 701 ศาลอาญา เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 14 ส.ค. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้องนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อายุ 71 ปี อดีตประธาน นปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ อายุ 54 ปี ประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อายุ 44 ปี เลขาธิการ นปช. นพ.เหวง โตจิราการ อายุ 68 ปี นายก่อแก้ว พิกุลทอง อายุ 54 ปี นายขวัญชัย สาราคำ หรือนายขวัญชัย ไพรพนา อายุ 67 ปี นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก อายุ 61 ปี นายนิสิต สินธุไพร อายุ 63 ปี นายการุณ โหสกุล อายุ 52 ปี นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อายุ 68 ปี นายภูมิกิติ สุขจินดาทอง อายุ 59 ปี นายสุขเสก พลตื้อ อายุ 43 ปี นายจรัญ ลอยพูล อายุ 48 ปี นายอำนาจ อินทโชติ อายุ 63 ปี นายชยุต ใหลเจริญ อายุ 46 ปี นายสมบัติ มากทอง หรือผู้กองแดง อายุ 57 ปี นายสุรชัย เทวรัตน์ อายุ 34 ปี นายรชต วงค์ยอด อายุ 38 ปี นายยงยุทธ ท้วมมี อายุ 63 ปี นายอร่าม แสงอรุณ อายุ 58 ปี นายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ อายุ 38 ปี นายมานพ ชาญช่างทอง อายุ 58 ปี นายสมพงษ์ บางชม อายุ 40 ปี และนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อายุ 55 ปี ทั้งหมดเป็นแกนนำการ์ดและแนวร่วม นปช. เป็นจำเลยที่ 1-24 ในความผิดข้อหาร่วมกันก่อการร้าย โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ โดยมีความมุ่งหมายขู่เข็ญรัฐบาลไทยให้กระทำการใด หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ตาม ป.อาญา ม.135/1 ขู่เข็ญว่าจะทำการก่อการร้าย โดยสะสมกำลังพลหรืออาวุธหรือตระเตรียมการสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ม.135/2 และร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในท้องที่ผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความใน ม.9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เหตุเกิดในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่การชุมนุมเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ บริเวณแยกราชประสงค์และอื่นๆ

...

คดีนี้จำเลยที่ 7 ถูกฟ้องเพิ่ม ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำเลยที่ 24 ถูกฟ้องเพิ่มฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายฯ มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธฯ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำแล้วไม่เลิก นัดนี้จำเลยมาครบยกเว้นจำเลยที่ 16 เสียชีวิต ส่วนจำเลยที่ 17 หลบหนี

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยยุยงปลุกปั่นประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-20 พ.ค.53 เพื่อกดดันต่อต้านรัฐบาลและบังคับขู่เข็ญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 พวกจำเลยเดินขบวนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆ ใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่บ้านพัก ประชาชน สะสมกำลังพลและอาวุธสงครามร้ายแรง จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำอันเป็นความผิดฐานก่อการร้าย ต้องเป็นการกระทำอันเข้าองค์ประกอบความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อาญา ม.135/1 (1) ถึง (3) คือต้องมีลักษณะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายหรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ กระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ แต่หากเป็นการเดินขบวน ชุมนุมประท้วงหรือเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรม อันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย และจากการนำสืบของโจทก์ ไม่มีพยานเบิกความยืนยันว่า มีจำเลยคนใดกระทำการอันเป็นการขู่เข็ญ ยุยงปลุกปั่นตาม ป.อาญา ม.135/1 (1) ถึง (3) การกระทำของจำเลยที่ 1-15 และจำเลยที่ 18-24 ไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง

ส่วนประเด็นจำเลยที่ 7 กับพวกขัดขวางการลำเลียงกำลังพลของทหารบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ยึดเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ไปแสดงต่อสื่อมวลชนบริเวณเวทีปราศรัย ต่อมาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลายเหล่านั้นกลับคืนไปหมดแล้ว การกระทำดังกล่าวมิได้ประสงค์เอาแก่ตัวทรัพย์เพื่อเอาเป็นของตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ เหตุวางเพลิงเผาทรัพย์และทำลายทรัพย์สินของทางราชการบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เกิดขึ้นภายหลังจากจำเลยที่ 7 นำเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ไปแสดงต่อสื่อมวลชนแล้ว ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 7 เดินทางกลับไปอีก กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 7 ร่วมกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วย ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษเฉพาะนายอริสมันต์ จำเลยที่ 24 ในความผิดฐานต่างๆ ฟังได้ว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันกับคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 24 กับพวกต่อศาลจังหวัดพัทยา กรณีพาพวกไปขัดขวางการประชุมผู้นำอาเซียน และศาลจังหวัดพัทยามีคำพิพากษาแล้ว คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ

ภายหลังศาลพิพากษายกฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า วันนี้ศาลท่านชี้แล้ว พวกเราไม่ใช่ขบวนการก่อการร้าย วันนี้ไม่ใช่วันที่จะต้องมาดีใจกัน ยังมีพวกเราจำนวนมากถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ อยู่ระหว่างต่อสู้คดี มีเรื่องราวรออยู่ข้างหน้าอีกมาก ต้องขอบคุณศาลที่พิจารณาคดีอย่างยุติธรรม ทีมทนายความ นปช.และพี่น้องประชาชนที่ให้กำลังใจตลอดระยะเวลา 9 ปี รวมทั้งขอขอบคุณพี่น้องประชาชน ญาติวีรชน ผู้สูญสิ้นอิสรภาพทั้งหลาย

อีกด้านที่มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เวลา 12.10 น. วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีศาลยกฟ้องคดี 24 แกนนำ นปช.ฐานร่วมกันก่อการร้ายว่า เป็นเรื่องของศาล ไม่ใช่เรื่องของการเป็นมาตรฐานให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมอื่นๆ แต่เป็นเรื่องที่ว่ากันตามวัตถุพยานและพยานบุคคล หากพยานหลักฐานไม่สมบูรณ์ก็ต้องยกฟ้องเป็นธรรมดา ทีอย่างนี้พอรอดไม่เห็นบอกว่าศาลยุติธรรมเลย แต่พอมีความผิดกลับบอกว่าศาลไม่ยุติธรรม เป็นอย่างนี้ทุกที

ขณะที่นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงขั้นตอนในการอุทธรณ์คดี หลังศาลพิพากษายกฟ้องคดีนี้ว่า ขั้นตอนต่อจากนี้อัยการจะคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาทั้งหมดส่งสำนักงานอัยการคดีศาลสูงพิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตาม ป.วิ อาญา ถ้าเห็นด้วยกับคำพิพากษาแล้วจะไม่ยื่นอุทธรณ์ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยจะยื่นอุทธรณ์ ภายในเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษา และสามารถขอขยายเวลาอุทธรณ์ได้ก่อนที่จะครบกำหนด ส่วนจะอุทธรณ์หรือไม่ ยังเร็วไปที่สรุป