ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ไล่เรียง 3 คนดังถูกพิพากษาให้จำคุก และในโอกาสมหามงคล จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ เรียกได้ว่า นับถอยหลังคืนวันที่พวกเขาจะได้ออกมาโบยบินในโลกอันกว้างใหญ่นี้อีกครั้ง จะมีใครบ้าง เรื่องราวแต่หนหลังของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ไปดู...

ไผ่ ดาวดิน ได้รับพระราชทานอภัยโทษ

“ไผ่ ดาวดิน” หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา อายุ 27 ปี นักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน

ไผ่ ดาวดิน ถูกอัยการจังหวัดขอนแก่นยื่นฟ้อง ในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีแชร์บทความจากเว็บไซต์บีบีซีไทย บนเฟซบุ๊กส่วนตัว

จากนั้น ศาลจังหวัดขอนแก่นได้มีคำพิพากษาให้จำคุก 5 ปี แต่ลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งคือ 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และให้รับโทษมาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2559

กระทั่งในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2562 ส่งผลให้ ไผ่ เป็นหนึ่งในนักโทษที่ได้รับการลดโทษ และปล่อยตัวก่อนกำหนดด้วยเช่นกัน

...

จำลอง ศรีเมือง อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษ

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 83 ปี แกนนำ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูกจำคุกจากคดีปิดยึดทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 25 พฤษภาคม 2551 เพื่อประท้วงรัฐบาลและขับไล่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ลาออก พร้อมปิดล้อมเข้าควบคุมทำเนียบรัฐบาล ห้ามข้าราชการเข้าปฏิบัติหน้าที่ ทำลายทรัพย์สินราชการได้รับความเสียหาย โดยศาลฎีกาพิพากษายืน จำคุก 6 แกนนำพันธมิตร เป็นเวลา 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และล่าสุด อยู่ในข่ายได้รับการอภัยโทษปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำด้วย

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ฉายา มหา 5 ขัน (เคยออกมาระบุว่า ปฏิบัติตัวสมถะ นอนไม้กระดานและอาบน้ำครั้งละ 5 ขัน) มีบทบาทครั้งสำคัญในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 32 โดยเป็นแกนนำต่อต้านรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ถึงขนาดประกาศอดข้าวประท้วง จนมีการจับกุม เป็นเหตุให้เกิดการปราบปราม จนมีประชาชนเสียชีวิต

ขณะที่ ความสัมพันธ์ของจำลอง กับ ทักษิณ ชินวัตร นั้น เป็นผู้ชักนำให้ ทักษิณ เข้าสู่เส้นทางการเมือง ในปี 2537 โดยเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมที่ตัวเองก่อตั้ง ได้ชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร มาตลอด จนกระทั่งปลายปี 2548 เป็น 1 ในกลุ่มประชาชนที่ต่อต้านและเรียกร้องให้ทักษิณลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ธาริต เพ็งดิษฐ์ อาจได้พิจารณาลดวันต้องโทษ

ขณะที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จากความผิดหมิ่นประมาท “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวหาว่ามีการล็อกสเปกให้ผู้รับเหมารายเดียว ในโครงการประมูลการก่อสร้างโรงพัก 396 แห่งทั่วประเทศ มูลค่า 5.8 พันล้านบาท

ก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาเพียงไม่กี่วัน นายธาริตทำหนังสือขอขมาผ่านนายคณิต ณ นคร ประธาณคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คปอ.) ไปยังนายสุเทพ และพยายามขอเจรจาไกล่เกลี่ยเรื่องคดีความผ่านผู้ใหญ่หลายครั้ง รวมทั้งส่งทนายอ่านคำขอขมานายสุเทพออกสื่อ

ทว่า ไม่สำเร็จ เพราะนายสุเทพปฏิเสธรับคำขอขมา และไม่ยอมความ ด้วยให้เหตุผลว่า นายธาริตได้เล่นงานตนเอง ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง และคนใกล้ชิดไปหลายกระทง ไล่ตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2557

ที่ผ่านมา นายธาริต เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ก่อนโอนมานั่งในตำแหน่งรองอธิบดีดีเอสไอ ก่อนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีในปี 2552 ยุคนายกรัฐมนตรี “อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ”

แต่เมื่อเปลี่ยนนายกฯ เป็น “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายธาริต กลับสั่งรื้อคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกฯ และนายสุเทพ ที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ขณะนั้นตกเป็นจำเลย

นอกจากนี้ ในช่วงการชุมนุมของ กปปส. นายธาริตได้เช็กบิล 9 แกนนำในหัวข้อร่วมกันสนับสนุนเป็นกบฏ รวม 8 ข้อหา ก่อนจะมาโดน “เอาคืน” อย่างอ่วมอรทัยในยุครัฐบาล คสช.

อย่างไรก็ดี นายธาริต ยังมีคดีความอีกจำนวนมาก บางคดีถูกพิพากษาจำคุกไปแล้ว แต่ยังรอลงอาญา ซึ่งเรื่องของนายธาริตยังไม่จบเพียงแค่นี้แน่นอน โดยล่าสุด 21 มี.ค.62 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 1 ปี คดีสั่งย้ายลดตำแหน่งโดยมิชอบ สุดท้าย อาจได้พิจารณาลดวันต้องโทษ.