ยังวนอยู่ที่เก่า...

ก็เรื่องวิธีคิดคำนวณ ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำร้องให้วินิจฉัยเรื่องนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่จะตัดสินเองได้

นึกว่าแค่นี้จะจบคือ กกต.ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้

แต่ปรากฏว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งได้รับคำร้องด้วยเช่นกัน ได้มีมติเอกฉันท์ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน

เมื่อเหตุเป็นเช่นนี้ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการใน 2 ส่วน คือ รอผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต.ต้องตัดสินใจเอง หากผลการวินิจฉัยยังไม่ออกมา

กกต.ระบุว่า จะเลือกเอาวิธีการของ กกต.ที่เสนอร่วมกับ กรธ.และมั่นใจว่าจะทันต่อการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พ.ค.62

ปัญหาก็คือ ถ้าผลที่ออกมาไม่ตรงกันจะเกิดอะไรขึ้น?

เท่าที่มีข่าวออกมาระบุว่า สำนักงาน กกต.จะเสนอวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อ กกต.ชุดใหญ่ทั้งหมด 3 วิธีการ

1 ใช้วิธีการคำนวณให้พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (ประมาณ 71,057 คะแนน) ต่อ ส.ส. 1 คน จำนวน 27 พรรค

2 คิดคำนวณตามข้อเสนอของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ซึ่งคำนวณออกมาได้เพียง 16 พรรค

3 วิธีคิดคำนวณของนายโคทม อารียา อดีต กกต. เช่นกันจะได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 16 พรรค

กกต.น่าจะเลือกวิธีการที่ 1 มากกว่า เพราะรับฟังคำยืนยันจาก กรธ. ซึ่งให้ข้อมูลและชี้ชัดว่าสามารถกระทำได้

เพราะแม้จะได้คะแนนต่ำกว่า 71,057 เสียงก็ตาม อ้างเหตุผลว่าทุกคะแนนมีค่า เมื่อยอดทั้งหมดเกินจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 150 ส.ส. ก็ต้องมาจัดลำดับกันใหม่ไล่คะแนนเรียงกันไปจนครบจำนวน

ตั้งแต่พรรคที่ได้คะแนนส่วนที่เหลือจากมากไปหาน้อย

...

ที่สำคัญก็คือ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพียงวิธีเดียวไม่มีแนวคิดไปทางอื่น

ว่าไปแล้วการคำนวณสูตรปาร์ตี้ลิสต์จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ค่อนข้างจะคิดง่ายๆ เพราะมีการแยกบัตรเลือกตั้งจากกันชัดเจนคือ เลือกบุคคลและพรรค

ได้คะแนนเท่าใดก็เอามานับรวมกันเป็น ส.ส.ของพรรคการเมืองนั้น

แต่เมื่อมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดคำนวณแบบใหม่มันก็เลยยุ่งไม่น้อย และยิ่งเมืองไทยพวก “หัวหมอ” เยอะทำให้เกิดการตีความไปต่างๆนานา อ้างว่าต้องคิดแบบเขาจึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

หากคิดเป็นอื่นถือว่าผิดหมด...

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ มีการใช้วาทกรรมการเมืองระบุว่า แนวคิดของ กกต.นั้นเพื่อช่วยขั้วการเมืองหนึ่งให้ได้เสียงมากพอตั้งรัฐบาลได้ เพราะสามารถดึงพรรคที่ได้ ส.ส. 1 คน มาร่วมสนับสนุนตั้งรัฐบาลได้ แต่งานนี้ กกต.เลยโดนทั้งขึ้นทั้งล่องเหนื่อยอีกแน่

การทำงานของ กกต.อย่างที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันนั้น เนื่องมาจากการทำงานของ กกต.เองถูกกดดันทางการเมืองอีกด้วย

จากการนับคะแนนใหม่ที่เขต 1 นครปฐม ก็มีปัญหา เพราะเดิม พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร ว่าที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ แต่มีคำร้องให้นับคะแนนใหม่ ปรากฏว่า พ.ท.สินธพแพ้ในเบื้องต้น

น.ส.สาวิกา ลิมปะสุวัณณะ จากพรรคอนาคตใหม่ ชนะโดย กกต.นครปฐม ประกาศผล แต่สุดท้ายเลขาธิการ กกต.ประกาศอย่างเป็นทางการประชาธิปัตย์ชนะเพียง 4 คะแนน

ผีซ้ำด้ำพลอยเพราะทำพลาดเองแท้ๆ.

“สายล่อฟ้า”