หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีนักการเมืองชื่อดังหลายคนแสดงความเห็นว่าทุกฝ่ายต่างผ่านการเลือกตั้งตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ จึงไม่ควรแบ่งแยกเป็นฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายเผด็จการครึ่งใบ หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ แม้แต่ระดับแกนนำพรรคที่ชูธงประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ ฝ่ายที่ยืนยันแนวคิดนี้ได้แก่พรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในการให้สัมภาษณ์สื่อ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรค พปชร. กล่าวว่า ขอให้พรรคเพื่อไทยยอมรับว่าไม่สามารถรวบรวมเสียง ส.ส. และ ส.ว.ได้เกินกึ่งหนึ่ง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลแทบเป็นไปไม่ได้ และอย่าไปโทษกติกา เพราะการเลือกตั้งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ทุกคนเข้าสู่การเลือกตั้งตามกติกาอย่างเท่าเทียมกัน

เป็นความจริงหรือ ที่ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และกติกาที่เท่าเทียมกัน เริ่มต้นด้วยที่มาของสมาชิกรัฐสภา คือ ส.ว. และ ส.ส. คนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศกว่า 35 ล้านคน เลือกผู้แทนคือ ส.ส. ได้ 500 คน แต่หัวหน้า คสช.กับคณะสิบกว่าคน เลือก ส.ว.ได้ 250 คน ครึ่งหนึ่งของ ส.ส. และ ส.ว. มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี

เนื่องจาก ส.ว. แต่งตั้ง 250 เสียง อาจทำให้ประเพณีการจัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนไป จากที่เคยให้พรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดเป็นแกนนำรัฐบาล ถ้าไม่มีพรรคที่ชนะขาดได้เสียงข้างมาก เปลี่ยนมาให้พรรคที่ได้ ส.ส. อันดับ 2 เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากมี ส.ว. อยู่ในมือถึง 250 เสียง เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ถูกต้องหลักประชาธิปไตยหรือไม่

ผู้ชี้ขาดการเลือกนายกรัฐมนตรี แทนที่จะเป็น ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของคนทั้งประเทศ แต่กลายเป็น ส.ว. ที่ประชาชนไม่ได้เลือก ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่สอดคล้องหลักประชาธิปไตย เพราะการกระทำที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นประชาธิปไตยเสมอไป ตัวอย่างเช่น เยอรมนีสมัยฮิตเลอร์ มีทั้งรัฐธรรมนูญและเลือกตั้ง แต่กลายเป็นเผด็จการ

...

นักการเมืองไทยมักจะอ้างว่า “ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง” เป็นความจริงที่ไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ เพราะประชาธิปไตยยังมีองค์ประกอบอื่นๆอีกมาก เช่น หลักนิติธรรม หลักสิทธิเสรีภาพ และหลักการตรวจสอบถ่วงดุล คอมมิวนิสต์หลายประเทศมีการเลือกตั้ง ตั้งชื่อประเทศว่า “สาธารณรัฐประชาธิปไตย” แต่เป็นการเลือกตั้งพรรคเดียว ประชาคมโลกไม่ยอมรับ

หลังการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ รัฐธรรมนูญจะเป็นประเด็นการเมืองที่สำคัญ เพราะมีบางพรรคตั้งท่าขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะที่ขัดหลักการประชาธิปไตย และลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน เช่น พ.ร.บ. ข่าวกรองฉบับใหม่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่กลายเป็นกฎหมายห้ามการชุมนุม และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ใช้ปิดปากผู้ที่เห็นต่าง.