ยังยุ่งเหยิงวุ่นวาย ปิดหีบกันไม่ลงตัวสักที
ล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้นับคะแนนใหม่ผลการเลือกตั้ง เขต 1 จ.นครปฐม ยกเขตทั้ง 236 หน่วยเลือกตั้ง หลังปรากฏเหตุอันควรเชื่อได้ว่า การนับและรวมคะแนนอาจไม่ถูกต้องตามมาตรา 124 พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
ตามหลักฐานที่ผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ยื่นต่อ กกต.ประท้วงผลการนับคะแนนที่ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ชนะ
อาจเป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงลำดับผู้ได้รับการเลือกตั้งที่ชนะกันอย่างเฉียดฉิว 147 คะแนน
ยังไม่นับรวมการสั่งเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งที่มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรลงคะแนน อาทิ หน่วยเลือกตั้งที่ 9 เขต 2 จ.ชุมพร
หรือการเตรียมหย่อนบัตรลงคะแนนรอบใหม่อีก 5 จังหวัด ใน 6 หน่วยเลือกตั้ง วันที่ 21 เม.ย.นี้
ตัวเลขหลายหน่วยเลือกตั้งไม่นิ่ง การคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ก็เลยอีนุงตุงนังไม่เลิก ทำให้การฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลยังฝุ่นตลบ
สถานการณ์เข้าทางพวกผิดหวังการเลือกตั้ง อาศัยแนวโน้มรัฐบาลใหม่ที่จะมีสภาพเสียงปริ่มน้ำ ไม่มีฝ่ายใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ปั่นกระแสการเมืองไทยถึงทางตัน
ลากบ้านเมืองเข้ารกเข้าพง ทั้งการกระพือข่าวลือการตั้งรัฐบาลแห่งชาติให้ตัวเอง
เกาะขบวนมีที่นั่งในรัฐบาล หรือกรณีลูกมือนายใหญ่ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการเลือกตั้งให้ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเลือกตั้งเป็นโมฆะ โดยอ้างมีข้อผิดพลาดในการจัดการเลือกตั้งมากมาย
ขอล้มกระดานเลือกตั้งกันดื้อๆ ผิดธรรมชาตินักเลือกตั้งอาชีพที่สู้กันดุเดือดมาแทบเป็นแทบตาย
และกรณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ชงข้อเสนอใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 270 ให้ ส.ว. มีอำนาจร่วมโหวต พ.ร.บ.งบประมาณร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร
...
แก้กับดักเสียงปริ่มน้ำ กลัวรัฐบาลอายุสั้น พังไม่เป็นท่าตั้งแต่เริ่มต้นทำงานไปไม่เท่าไร
แหกกฎทุกอย่าง รวมถึงประเพณีปฏิบัติที่เคยมีมา ช่วยผสมโรงราดน้ำมัน กระพือให้บ้านเมืองดูวุ่นวายขึ้นอีก ระดับมือกฎหมายใหญ่รัฐบาล “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ต้องออกโรงเบรก ร่วมกันคอนเฟิร์มกับนักกฎหมายอีกหลายคน ยืนยันให้ ส.ว.ร่วมโหวต พ.ร.บ.งบประมาณไม่ได้
แต่ละฝ่ายร่วมโหมกระแสจนเลยเถิด พยายามลากประเทศเข้าสู่ภาวะสุญญากาศ ทั้งที่โดยที่เงื่อนไขสถานการณ์ความเป็นจริงแล้ว ประเทศยังไม่ถึงทางตันแต่อย่างใด
ผิดกับสถานการณ์ของฝ่ายที่อวดอ้างสวมเสื้อคลุม ประชาธิปไตย
การจับขั้วฟอร์มทีมรัฐบาลก่อนหน้านี้ส่อแนวโน้มถูกแช่แข็ง ไม่มีความเคลื่อนไหว อย่างที่เห็นสภาพของแต่ละค่ายการเมืองตกที่นั่งลำบาก เผชิญวิบากกรรมถ้วนหน้า
อาทิ พรรคอนาคตใหม่ แกนนำพรรคทั้ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ถูกขึ้นแบล็กลิสต์คดีติดตัวมากมาย มีโอกาสโดนเช็กบิลทุกเมื่อ
หรือพรรคเศรษฐกิจใหม่ของ “เฮียมิ่ง” มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ก็โป๊ะแตก ถูกลูกพรรคยื่นเรื่องต่อ กกต. ข้อหาปล่อยให้นายทุนบงการ ครอบงำการบริหารกิจการภายในพรรค
อาการน่าห่วง มีโอกาสล่มสลาย โดนยุบพรรคได้
ยังไม่นับรวมใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ที่ กกต.รอควักแจก
หลังจากนี้ ต้นทุนฝั่งนายใหญ่มีสิทธิหายไปอีก
ความหวังการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลริบหรี่ลงเรื่อยๆ
ตัวเลข 255 เสียงที่ยกเมฆไว้ก่อนหน้านี้ อาจเป็นแค่ “รัฐบาลลม” วงแตกได้ตลอด
ทิศทางความได้เปรียบไปอยู่ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ หนุน “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้ได้ตั๋วไปต่อ
ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “ลุงตู่” ก็ถูกแท็กทีมเตะตัดขาสกัด
เจอปั่นกระแสสร้างเงื่อนไขให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง
สถานการณ์ทำท่ากลับตาลปัตร ฝ่ายที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งมาตลอด ตั้งท่าไม่อยากเดินตามกติกา จุดประเด็นรัฐบาลแห่งชาติ
หรือล้มกระดานให้ทุกอย่างเป็นโมฆะ
ตรงกันข้ามกับอีกฝ่ายที่ถูกถล่มมาตลอดว่า ไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง กลับเป็นฝ่ายต้องยืนหยัดให้ยึดหลักกติกาเดินตามรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธกลไกนอกรัฐธรรมนูญ
นาทีนี้ “ลุงตู่” จึงต้องไล่แก้ข่าวลือจนเหนื่อย.
ทีมข่าวการเมือง