ระหว่างรอ กกต.นับคะแนนเลือกตั้งเสร็จ การเมืองก็ค่อยๆคุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ มีการฟาดฟันโจมตีกันในโลกแห่งความจริงและโลกโซเชียล รวมไปถึงประเด็นที่ว่า ทหารไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวเรื่องการเมือง แต่เท่าที่ผ่านมาย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ชาติไทย ทหารนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาแล้วกว่า 14 คน มีทั้งการรัฐประหารยึดอำนาจ และเลือกตั้งเข้ามาตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทหารหลายนายก็ได้ดำรงตำแหน่งมากว่า 1 สมัย 

ในขณะที่ตำรวจ มีเพียง 1 เดียวคือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามานั่งเก้าอี้ 2 สมัย ท้ายที่สุดก็โดนทหารยึดอำนาจ ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ จะไล่เรียงนายกรัฐมนตรี ที่เป็นทหารมาในรอบ 87 ปี ประชาธิปไทยมาให้ทราบเป็นข้อมูล  

พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

เดิมชื่อว่า "พจน์ พหลโยธิน" เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 2 เกิดวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2430 เวลา 03.30 น. ณ บ้านหน้าวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน) กับท่านผู้หญิงจับ พหลพลพยุหเสนา สมรสกับท่านผู้หญิงบุญหลง พหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี 5 สมัย รวมระยะเวลา 5 ปี 5 เดือน 21 วัน ยังได้รับสมญานามว่า เชษฐบุรุษ ด้วย ถึงแก่อสัญกรรมด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 เวลา 03.05 น. รวมอายุได้ 60 ปี

พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

...

จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ แปลก พิบูลสงคราม

หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "จอมพล ป.พิบูลสงคราม" เป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด คือ 15 ปี 24 วัน รวม 8 สมัย และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายที่สำคัญคือ การมุ่งมั่นพัฒนาประเทศไทย ให้มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศ มีการปลุกระดมให้คนไทยรู้สึกรักชาติ โดยออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย "รัฐนิยม" หลายอย่าง ซึ่งบางอย่างได้ประกาศเป็นกฎหมายในภายหลัง หลายอย่างกลายเป็นวัฒนธรรมของชาติ เช่น การรำวง, ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย เป็นผู้เปลี่ยนชื่อ "ประเทศสยาม" เป็น "ประเทศไทย" และเป็นผู้เปลี่ยน "เพลงชาติไทย" มาเป็นเพลงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

แปลก พิบูลสงคราม
แปลก พิบูลสงคราม

รองอำมาตย์เอก หลวงโกวิทอภัยวงศ์ หรือ พันตรี ควง อภัยวงศ์

อดีตนายกรัฐมนตรีไทย 4 สมัย ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก "ควง อภัยวงศ์" เป็นสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนซึ่งร่วมการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เคยมีบรรดาศักดิ์เป็น รองอำมาตย์เอก หลวงโกวิทอภัยวงศ์

นอกจากนี้ "พ.ต.ควง" ถือเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งกระทรวงคมนาคมยุคใหม่ เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการคนแรก ด้วยประสบการณ์ที่เคยรับราชการจนมีตำแหน่ง เป็นถึงอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข นอกจากนี้ยังเคย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, กระทรวงการคลัง, กระทรวงเกษตราธิการ และกระทรวงมหาดไทยด้วย 

พันตรี ควง อภัยวงศ์
พันตรี ควง อภัยวงศ์

พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

หรือชื่อเดิมคือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) นายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2489-2490 พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้เข้าร่วมในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยตัดสินใจเป็นสมาชิกคณะราษฎรเพียง 1 วันเท่านั้นก่อนการปฏิวัติจากการชักชวนของ หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เพื่อนนายทหารเรือด้วยกัน ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารเรือในคณะราษฎร หลังจากที่ได้ทาบทามมาก่อนหน้านั้น

 ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ ถนอม กิตติขจร

อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของประเทศไทย ผู้บัญชาการทหารบก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลในเหตุการณ์ 14 ตุลา ปี 2516 ซึ่งเป็นเหตุการณ์การประท้วงของ นิสิต นักศึกษา และประชาชน โดยในเหตุการณ์ ทหารได้ใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

เป็นผลให้ จอมพล ถนอม กิตติขจร ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง และเดินทางออกจากประเทศ พร้อมกับ จอมพล ประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ภายหลังเหตุการณ์ จอมพล ถนอม กิตติขจร ก็ได้เดินทางกลับ แล้วบวชเป็นพระสามเณร เป็นชนวนไปสู่การ ขับไล่ ของนักศึกษาธรรมศาสตร์ จนโยงไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา ปี 2519 ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายจำนวนมาก

 ถนอม กิตติขจร
ถนอม กิตติขจร

จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ พลตำรวจเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ 

เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 11, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารบกและอธิบดีกรมตำรวจ เป็นผู้ริเริ่มการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ก่อตั้งสำนักงบประมาณ เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารทหารไทย และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด เจ้าของคำพูดที่ว่า "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ" และ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" 

ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันเป็นรัฐบาลชุดสุดท้ายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่หลังจากนั้น 10 วันก็ลาออก สาเหตุเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งมีการกล่าวขานว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก

 สฤษดิ์ ธนะรัชต์
สฤษดิ์ ธนะรัชต์

ซึ่งผลคือ พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเสียงข้างมาก และได้ตั้งรัฐบาล ท่ามกลางความวุ่นวายอย่างหนักจากการเดินประท้วงของประชาชนจำนวนมาก ที่เรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ลาออกจากตำแหน่ง

เมื่อสถานการณ์ลุกลาม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ เพื่อคอยควบคุมสถานการณ์ แต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์สั่งไม่ให้ทหารทำอันตรายประชาชนที่เดินขบวนชุมนุมประท้วง และเป็นผู้นำประชาชนเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบ ทำให้กลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที จนได้รับฉายาในตอนนั้นว่า "วีรบุรุษมัฆวานฯ

พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ 

อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เจ้าของฉายา “อินทรีบางเขน” เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากมติของคณะปฏิวัติในปี พ.ศ. 2521 ภายใต้การนำของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองวิกฤติ เกิดความแตกแยกแบ่งเป็นฝักฝ่าย

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ถือได้ว่าเป็นผู้ที่สามารถประสานประโยชน์และสร้างความสมานฉันท์ให้บ้านเมือง เนื่องจากท่านมีนโยบายที่ประนีประนอมทุกฝ่าย ดังวลีที่ท่านได้กล่าวว่า “เราไม่มีเวลาทะเลาะกันอีกแล้ว”

เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 16 ดำรงตำแหน่ง 3 สมัย ระหว่างปี พ.ศ. 2523 ถึง พ.ศ. 2531  

ในปี พ.ศ. 2502 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลเอกเปรมได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ และวุฒิสมาชิก ช่วง พ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2516 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร  พลเอกเปรมเข้าร่วมรัฐประหารในประเทศไทย 2 ครั้ง ซึ่งนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร

 เปรม ติณสูลานนท์
เปรม ติณสูลานนท์

พลเอกเปรม รับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ 

เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 17 และเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในหลายกระทรวงคือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงกลาโหม 

พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531[17] มีการปรับคณะรัฐมนตรี 1 ครั้งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ได้ดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นระยะเวลารวมประมาณ 2 ปีครึ่ง

ผลงานที่โดดเด่นมากของรัฐบาล พลเอกชาติชาย ได้แก่ การดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะใน กลุ่มอินโดจีน เช่น การประสานงานให้มีการเจรจาร่วม ระหว่างเขมร 4 ฝ่าย เพื่อยุติการสู้รบ และสนับสนุน ให้มีการจัดตั้งรัฐบาลประเทศกัมพูชาภายใต้การนำของ สมเด็จสีหนุขึ้น นโยบายต่างประเทศของ รัฐบาลพลเอกชาติชาย มีชื่อเรียกที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือ นโยบาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า"

ชาติชาย ชุณหะวัณ
ชาติชาย ชุณหะวัณ

พลเอก สุจินดา คราประยูร 

เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอก สุจินดา เป็นบุคคลสำคัญในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่เข้ายึดอำนาจการปกครองจากพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จนกระทั่งหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 พรรคการเมือง 5 พรรค

คือ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุนให้พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านั้น พรรคร่วม 5 พรรคประกาศสนับสนุนณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด แต่โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาแถลงข่าวว่า ณรงค์ วงศ์วรรณ ติดบัญชีดำ ถูกห้ามเข้าสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด

สุจินดา คราประยูร
สุจินดา คราประยูร

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ 

เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย คนที่ 22 อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม อดีตผู้บัญชาการทหารบกและอดีตรักษาการผู้บัญชาการทหารสูงสุด

เป็นเจ้าของสมญา "ขงเบ้งแห่งกองทัพบก" เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น สมาชิกวุฒิสภา ขณะดำรงตำแหน่งทางทหาร เป็นผู้ก่อตั้ง และหัวหน้า พรรคความหวังใหม่ คนแรก และเป็นอดีต ส.ส.หลายสมัย มีคะแนนเสียงหนาแน่นในจังหวัดนครพนม

สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป เรียก พล.อ.ชวลิต ว่า "บิ๊กจิ๋ว" และในพื้นที่ภาคอีสาน เรียก พล.อ.ชวลิต ว่า "พ่อใหญ่จิ๋ว" นอกจากนี้แล้วยังมีอีกฉายาหนึ่งว่า "จิ๋วหวานเจี๊ยบ" จากการมีบุคลิกพูดจาอ่อนหวาน นุ่มนวล

 ชวลิต ยงใจยุทธ
ชวลิต ยงใจยุทธ

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

องคมนตรี นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 24 จากการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549

ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์เคยดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และองคมนตรี ในปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2550 นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลาออกจากตำแหน่ง พล.อ.สุรยุทธ์ ได้เข้าดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แทนนายอารีย์อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

สุรยุทธ์ จุลานนท์
สุรยุทธ์ จุลานนท์

8 เมษายน พ.ศ. 2551 พล.อ.สุรยุทธ์ ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ จาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้กลับดำรงตำแหน่ง องคมนตรี เป็นครั้งที่สอง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีฉายาว่า "บิ๊กแอ้ด" วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560 มีพระราชโองการโปรดเกล้าเป็น ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นนายทหารเกษียณอายุราชการชาวไทย ปัจจุบันเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองในรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 29 และผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่ปีนั้น เขายังเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี 94 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลารักษาการนายกรัฐมนตรีที่ยาวนานรองจาก สฤษดิ์ ธนะรัชต์

วันที่ 19 กันยายน 2549 เมื่อเกิดรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) พลตรีประยุทธ์เป็นผู้รับคำสั่งตรงจากพลโท อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 พลตรีประยุทธ์ได้เลื่อนชั้นยศเป็น "พลโท" และรับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ระหว่างวันที่ 4 กันยายน 2551 ถึง 14 กันยายน 2551 พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและรองผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในเหตุการณ์ นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช, วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2552 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาธิการทหารบก

ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ประยุทธ์ จันทร์โอชา

และต่อมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2553, วันที่ 13 เมษายน 2552 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปฏิบัติงานในกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552 เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็นเสนาธิการทหารบกในขณะนั้นจนสิ้นสุดการประกาศสถานการณ์ในวันที่ 24 เมษายน 2552

นายทักษิณ ชินวัตร 

เป็นเพียงตำรวจคนเดียวที่ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ถึง 2 สมัย ทักษิณ ชินวัตร อดีตเคยดำรงตำแหน่ง "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองชาวไทย นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2544 ถึง 2549 เขาดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสาร ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อดีตเจ้าของและประธานสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ปัจจุบันอาศัยอยู่นอกประเทศและถือสัญชาติมอนเตเนโกร

ปี 2537 ทักษิณเข้าสู่วงการเมืองสังกัดพรรคพลังธรรม โดยการชักนำของพลตรี จำลอง ศรีเมือง ต่อมาก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ในปี 2541 หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในสภา จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก นโยบายเด่นของเขา ได้แก่ การขยายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การลดความยากจนและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการประกาศสงครามยาเสพติด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท เขาดำรงตำแหน่งสมัยแรกจนครบวาระสี่ปี

ผลการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 ทำให้ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ รัฐบาลทักษิณถูกกล่าวหาหลายอย่าง เช่น ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นเผด็จการรัฐสภา มีผลประโยชน์ทับซ้อน และควบคุมสื่อ ส่วนข้อกล่าวหาของตัวทักษิณเอง ก็มีว่าเลี่ยงภาษี หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตลอดจนขายทรัพย์สินของบริษัทไทยให้นักลงทุนต่างชาติ กรณีขายหุ้นชินคอร์ปเป็นชนวนเหตุให้เกิดการประท้วงใหญ่โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2549

วันที่ 19 กันยายน 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) รัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ ทำให้ทักษิณพ้นจากตำแหน่ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ คมช. แต่งตั้งอายัดทรัพย์ของทักษิณและครอบครัวในประเทศไทยรวม 76,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าเขาร่ำรวยผิดปกติขณะอยู่ในตำแหน่ง

นายทักษิณ ชินวัตร
นายทักษิณ ชินวัตร

ทักษิณเคยเดินทางกลับประเทศไทยครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 หลังพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นอาศัยอยู่ต่างประเทศโดยตลอด เขาถูกตัดสินจำคุก 2 ปีในคดีที่ดินรัชดาฯ ทักษิณเป็นผู้สนับสนุนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2552 รัฐบาลอภิสิทธิ์เพิกถอนหนังสือเดินทางของทักษิณ

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยให้ทรัพย์สินของทักษิณประมาณ 46,000 ล้านบาทตกเป็นของแผ่นดิน ทักษิณถูกถอดยศ "พันตำรวจโท" โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2558 และในปี 2562 ถูกริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของไทยทั้งหมด