มีกลอนที่ทั้งชาววัดชาวบ้านที่ท่องกันคล่องปาก บทหนึ่ง...

ไม่ถึงที่ตายก็ไม่วายชีวาตน์ ใครพิฆาตเข่นฆ่าไม่อาสัญ ถึงที่ตายก็ต้องวายชีวัน ไม้จิ้มฟันแทงเหงือกก็เสือกตาย

เรื่องคนถึงที่ตาย...แล้วไม่ตาย มีในชาดก สมัยพุทธกาลครับ

ชาวบ้านฟังพระเทศน์แล้ว เล่าสอนลูกหลาน...จากนิทาน จนเป็นประเพณีปล่อยนกปล่อยปลา ลองฟังกันดู

(นิทานพื้นบ้านไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พิมพ์ พ.ศ.2536)

กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว ท่านสมภารเจ้าวัด ผู้ได้ชื่อว่าเป็นโหราศาสตร์ผู้ทำนายทายทักได้แม่นยำ มองไปลานวัด เห็นสามเณรน้อยกำลังกวาดลานวัด ใบหน้าหมองคล้ำหมดราศี

ท่านเรียกตัวมา ขอวันเดือนปี มาผูกดวงตรวจชะตา แล้วก็พบว่า สามเณรจะชะตาขาด คือถึงฆาตภายในเร็ววัน โดยมรรยาทของโหร ท่านสมภารไม่บอกสามเณรตรงๆ แต่ใช้วิธีทางอ้อม

เอ่ยปากว่า สามเณรบวชที่วัดนานปี ยังไม่เคยกลับไปเยี่ยมบ้าน วันเวลานั้นเป็นหน้าแล้งการเดินทางไปบ้านสามเณรต่างตำบล เดินทางสะดวก ท่านจึงอนุญาตให้สามเณรกลับไปเยี่ยมบ้าน

เช้าวันรุ่งขึ้น สามเณรก็ออกเดินทาง ขณะเดินไปตามท้องนาก็พบว่าสภาพพื้นดินแห้งแล้งมาก จนหนองน้ำตรงหน้า น้ำขอดแห้ง เห็นปลามากมายเบียดเสียดตกคลัก

สามเณรรู้ เมื่อน้ำแห้งสนิทเมื่อไหร่ ปลาก็ต้องตายเมื่อนั้น

แทนที่จะเดินทางต่อ สามเณรเดินไปที่ก้นหนอง เอามือช้อนเอาปลาขึ้นมา เดินไปปล่อยในลำคลองที่อยู่ใกล้ๆ

สามเณรวนเวียนเดินระหว่างก้นบ่อและลำคลองหลายเที่ยว จนปลาสุดท้ายถูกปล่อยลงคลอง

“ขอให้เจ้ามีชีวิตใหม่ ที่ยืนยาวต่อไป” สามเณรอวยพรให้ปลา แล้วก็เดินทางต่อจนถึงบ้าน สามเณรสนทนาวิสาสะกับญาติโยมสองสามวัน แล้วก็ร่ำลาเดินทางกลับวัด โดยสวัสดิภาพ

“โยมสบายดีหรือ” ท่านสมภารถาม ทั้งที่แปลกใจ

...

แต่ก็พอเข้าใจว่า ระหว่างเวลาที่เดินทางสามเณรคงได้ทำกรรมดีอะไรไว้บ้าง เมื่อได้รู้ว่าสามเณรช่วยจับปลาที่ตกคลักในหนองน้ำรอวันตาย เอาไปปล่อยลงคลอง ก็อนุโมทนา

ท่านสมภารเอาเรื่องนี้มาสอนญาติโยม โยมชอบก็เล่าต่อๆกันมา จนกลายเป็นการทำบุญด้วยการปล่อยปลา เพื่อสะเดาะเคราะห์ สืบเนื่องกันจนเป็นประเพณี ที่จังหวัดสมุทรปราการ

การทำบุญต่อชีวิตได้ การรู้สึกถูกผิด ผ่อนปรนเคราะห์ร้าย ให้เบาลง เป็นความเชื่อแน่นแฟ้นของคนในพุทธศาสนา ครับ

ผมอ่านนิทานเรื่องนี้ ตอนดูข่าวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ท่านตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติ

กรอบในการพิจารณาโทษ หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ศาลท่านว่า จำเลยยอมรับพระบรมราชโองการ ...แสดงความรู้สำนึก จึงผ่อนปรน ให้ลงโทษตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี

ผมคิดว่านี่คือข้อดีของกติกาประชาธิปไตย ที่มีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

อำนาจที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ ผ่านสถาบันตุลาการ...ยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความเมตตาปรานี ตามวิถีของคนไทย ที่มีการโอนอ่อนผ่อนปรน แทนวิถีการหักหาญในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ข้อหาแบบนี้ ถ้าเกิดในสมัยที่ยังมีโทษเจ็ดชั่วโคตร โทษตระเวนบกสามวัน ตระเวนน้ำสามวัน แล้วเอาตัวไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ถือว่าโชคดีเต็มที.

กิเลน ประลองเชิง