เป็นอันได้ข้อยุติแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ มีสิทธิ์ร่วมดีเบตนโยบาย ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงกับพรรคได้ แต่เลขาธิการ กกต.เตือนว่าต้องระมัดระวัง ตาม ม.78 ของกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. เรื่องวางตัวเป็นกลาง รวมทั้งการใช้ทรัพยากรรัฐ เช่น รถและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

จากคำกล่าวข้างต้น กกต.ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” และจะใช้ทรัพยากรของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการหาเสียงไม่ได้ ขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ที่ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ผู้ฝ่าฝืนอาจต้องโทษจำคุก 1–10 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

ตรงกันข้ามกับรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ที่ยืนยันว่ารัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ แต่มีอำนาจเต็ม มีอำนาจใช้ทรัพยากรรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงเลือกตั้ง และยังมีรายงานข่าวจากฝ่ายรัฐบาลที่ยืนยันว่าหัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยอ้างมติของ ป.ป.ช. ตั้งแต่ปี 2557 และยังเปลี่ยนสถานะในเพจนายกรัฐมนตรี เป็น “บุคคลสาธารณะ”

นอกจากเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นกลางในการเลือกตั้งแล้ว ความเป็นกลางยังเป็นประเด็นปัญหาในการสรรหา ส.ว.ด้วย เมื่อนักข่าวถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ว่า จำเป็นต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆร่วมเป็นกรรมการสรรหาด้วยหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีตอบว่า “ไม่จำเป็น” เป็นอำนาจของ คสช. แสดงว่าไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญมาตรา 269 ให้มีคณะกรรมการสรรหา ซึ่ง คสช.แต่งตั้งจาก “ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง” ตั้งแต่ 9 ถึง 12 คน มีหน้าที่สรรหาบุคคลผู้สมควรเป็น ส.ว. 400 คน เพื่อให้ คสช.เลือกเหลือ 194 คน และแต่งตั้งเป็น ส.ว. เขียนไว้ชัด กรรมการสรรหาต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นกลาง

...

รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ ไม่เหมือนกับกฎหมายเรื่องการยุบพรรคระบุเหตุที่จะทำให้พรรคถูกยุบเรื่องหนึ่งคือ “กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย...” ความหมายครอบจักรวาล กลายเป็นยอดนิยมในการยื่นยุบพรรค แต่ไม่อ้างเหตุ “กระทำการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งคน ธรรมดาที่ไม่ใช่นักกฎหมายก็อ่านเข้าใจโดยไม่ต้องตีความ

รัฐธรรมนูญที่แกนนำบางคนของพรรค พปชร.ประกาศว่า “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ไม่ได้บังคับแม้แต่กรรมการองค์กรอิสระ เช่น กกต. หรือ ป.ป.ช. ต้อง “เป็นกลางทางการเมือง” แต่ทำไมจึงเจาะจงที่กรรมการสรรหา ส.ว. แสดงว่ารัฐธรรมนูญให้ คสช.แต่งตั้ง ส.ว.ทั้งหมดก็จริง แต่ต้องผ่านการคัดกรองของผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลาง ไม่เฉพาะในแวดวงเพื่อนพ้องน้องพี่ ใช่หรือไม่?