ช่วงนี้กระแสเลือกตั้งกำลังมาแรง ยิ่งใกล้วันหย่อนบัตร 24 มีนาคม 2562 นักการเมือง หัวหน้าพรรค แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต่างเดินหน้าหาเสียงทั่วประเทศไทย และเพื่อเปิดโอกาสให้ได้แสดงวิสัยทัศน์ได้อย่างเต็มที่ สื่อหลายสำนักจึงพร้อมใจกันจัด “ดีเบต” เพื่อล้วงลับข้อมูล จุดยืน ประชันความคิดให้ประชาชนได้รับรู้ เพื่อคัดสรรคนที่ถูกใจให้ได้มากที่สุด

เวทีดีเบต ที่ได้รับเสียงตอบรับมากที่สุดเวทีหนึ่ง และเป็นที่พูดถึงคือ เวทีดีเบตของ “ไทยรัฐ” โดยมีผู้ดำเนินรายการสลับหมุนเวียน แต่ที่โดดเด่นจนเป็นที่พูดถึง แน่นอนคือ สาวก๋ากั่น “จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์” คนนี้นี่เอง

การเมือง The Series ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยถึงเบื้องหลังการทำงาน “ดีเบต” ของไทยรัฐกับนักข่าวและพิธีกรมากความสามารถผู้นี้ได้บอกเล่าเบื้องหลังอย่างเป็นกันเองให้ฟังว่า...

...

เบื้องหลัง เวที “ดีเบต ไทยรัฐ” กับจอมขวัญ สไตล์ ตึงโป๊ะ!

จอมขวัญ เล่าเบื้องหลังการทำงานดีเบตครั้งนี้ว่า จริงๆ ทั้งประเทศเตรียมเข้าหมวดการเมือง หรือเลือกตั้งมาหลายปีแล้ว ส่วนการทำงานกว่าจะจัดดีเบตนั้น ก็เตรียมตัวนาน ถึงแม้หน้าฉากอย่างจอมขวัญ แต่คนที่ทำงานหนักมากก็ยังมีทีมงานหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายประสานงานกับทางการเมือง สถานที่ ซึ่งทีมไทยรัฐเราเตรียมงานกันทั้งเครือ แล้วก็เจอปัญหาขลุกขลักนิดหน่อยตอนที่มีการเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะต้องยกเลิกทั้งหมดแล้วเลื่อน ซึ่งงานก็หนักหน่อย เพราะเราเตรียมงานกันมาแล้ว แต่เกิดเลื่อน จึงต้องเริ่มใหม่ 

“สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจมาก คือ ข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ เพราะเนื้อหาที่เปลี่ยนไป สามารถอธิบายออกมาได้ลำบากมาก ซึ่งหน้าที่ของเรา คือการย่อยสารให้ผู้ชมเข้าใจ ซึ่งกลไกการเลือกตั้ง สำหรับรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ อธิบายเป็นคำพูดได้ยาก เพราะแตกต่างจากหลักการของสากลทั่วไป เราจึงต้องทำความเข้าใจและอธิบายให้ประชาชนได้รับทราบ”

ส่วนการคัดเลือกประเด็น และบุคคลที่จะมาดีเบตนั้น จอมขวัญ อธิบายว่า จะมีทีมงานช่วยกลั่นกรอง แต่ส่วนตัวคิดว่า มาจากประเด็นหลักๆ ในห้วงเวลานั้น คือ สิ่งที่คนสนใจฟังที่สุด หรือถ้าเราไปต่างจังหวัด ก็จะมีประเด็นของภาค หรือจังหวัดนั้นเป็นพิเศษ ขณะที่การคัดเลือกบุคคลตรงนี้เป็นเรื่องง่ายมาก ด้วยการทำลำดับของแต่ละพรรคการเมือง บางพรรคก็จัดสรรมาให้ แต่ถ้ามองในรูปแบบการนำเสนอแบบทีวี ก็ต้องเป็นคนที่คุ้นหน้ามากที่สุด โดยมององค์ของภาพรวม บุคลิก ท่วงทำนอง 

การจัดดีเบตสไตล์จอมขวัญเป็นอย่างไร...“ฉันตึงโป๊ะ! นะ (หัวเราะลั่น) ก่อนจะเปลี่ยนมาเข้าน้ำเสียงจริงจังว่า เนื่องจากได้โอกาสพูดคุยกับคนมาเยอะ จึงไม่ค่อยรู้สึกว่ามีความเครียด ถึงแม้บางเรื่องที่คุยจะเป็นเรื่องเครียด แต่เชื่อว่าเนื้อหาจะไปถึงผู้รับได้ มันต้องทำให้ง่าย น่าสนใจ แล้วก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเป็นภาระที่จะรับสาร จะไม่ทำเนื้อหาให้มันสลับซ้อน หรือเรียกว่า “ดูฉลาดแต่ฟังไม่ออก หรือดูยากแต่เข้าไม่ถึง” เรื่องบางเรื่องต่อให้ดีแค่ไหน ถ้าไม่ถึงผู้รับ สารที่ดีมันก็จะอยู่ที่เดิม

ดีเบตป่วน ด่าในรายการ วิธีเอาตัวรอดสไตล์จอมขวัญ

“ฉันไม่รู้หรอกว่าต้องทำไง ฉันก็ทำตัวเล็กไป รอเขาเถียงกันเสร็จ...” ผู้ดำเนินรายการสาวมากฝีมือกล่าวแบบติดตลก เพราะเป็นเพียงมุกขำ ก่อนจะสาธยายว่า “ไม่ใช่หรอกค่ะ.. การที่คนเราถกเถียงกัน คิดต่างกัน มันควรจะเป็นบรรยากาศที่จะเคยชินในสังคมที่จะเป็นประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่ทั้งสังคมคิดเหมือนกันในทุกเรื่อง เราจะทำยังไงให้มองเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเราจะทำให้เกิดการพูดคุยกันได้ ไม่ใช่ว่าเห็นต่างกันแล้วจะไม่คุยกันอีกแล้ว”

สิ่งที่เราต้องทำคือ การประเมินสถานการณ์ตรงหน้า แต่จะไม่บอกว่าใครถูกหรือผิด ประเมินจากสถานการณ์ถูกเร่งเร้ามีสาเหตุมาจากอะไร เราจะพุ่งไปปมนั้น เช่น ผู้พูดมีความขัดแย้งกัน ถ้าเป็นส่วนของเนื้อหา เราจะบริหารให้ 2 ฝ่ายพูด แต่ถ้าเป็นเรื่องของอารมณ์ เราจะปล่อยนิดหน่อย เข้าใจว่า เวลาคนโมโหมันจะพุ่งออกมา แต่เราจะบอกเขาว่า “ให้ค่อยปล่อยออกมา อย่าปล่อยพรวดเดียว”

“แท้ที่จริงแล้ว การทำดีเบต เหมือนกับเรานั่งคุยกับคนหลายคนที่คิดไม่เหมือนกัน สิ่งสำคัญในวงนั้น อาจจะเป็นคนคนหนึ่ง หรือหลายคนก็ได้ แต่ต้องมีคนที่พร้อมจะฟัง อย่างน้อยมี “จข.” คนหนึ่งนะ ที่พร้อมฟังทุกคน

เดี๋ยวพี่แป๊บหนึ่งนะ...เขาพาดพิงพี่ใช่ไหมให้เขาพูดก่อน เมื่อพูดจบก็ไปถาม อ้าว..เขาเข้าใจพี่ผิดหรือไม่...

เราทำให้เขารู้ว่า ถึงจะมีการพูดพาดพิง เรารับฟัง แม้เขารู้สึกไม่พอใจ แต่อาจจะมีข้อมูลบางอย่างก็ได้

เบื้องหลังการทำงานก่อนดีเบต
เบื้องหลังการทำงานก่อนดีเบต

อีกแบบหนึ่งที่มีกองเชียร์ ที่มีความเดือดดาล แต่ส่วนใหญ่จะเจอน้อยมาก เพราะเขาจะให้เกียรติเรา โดยเขาจะรับฟังแต่...

“พี่เชียร์ได้ แต่อย่าดุดัน ไม่ใช่อะไร... กลัว” (หัวเราะลั่น) 

นักจ้อเจนจัดบนเวที กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา หากเราเป็นคนหนึ่งที่พร้อมฟังเขา ให้เกียรติและเคารพเขา เมื่อเขารู้สึกได้ เขาก็จะให้เกียรติและเคารพเราเช่นกัน

การที่เราเป็นผู้หญิง คิดว่ามีส่วนไหม ที่ทำ... (ยังถามไม่ทันจบ) ตอบสวนมาทันที “แน่นอน! (ตอบเสียงดัง ฉะฉาน) การที่ฉันกรีดตา ติดขนตา (หัวเราะ) ..ทาลิปสติก ไดร์ผม มีผลแน่นอน... แต่น้อยมาก (หัวเราะลั่น) พร้อมสบถเล็กน้อย ว่า “สวยมาจากไหนวะ!” 

“คืองี้.. การเป็นผู้หญิงหรือชาย อาจจะมีผลบ้างในแง่ของ “ภาพจำ” ผู้หญิงอาจจะอ่อนโยนกว่าเล็กน้อย แต่บุคลิกของเราเป็นคนเสียงดัง พูดแข็ง ส่วนตัวคิดว่าบุคลิกอาจจะมีผลมากกว่าความเป็นหญิงหรือชายเสียอีก”

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการ ถามตรงๆ กับ จอมขวัญ
จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการ ถามตรงๆ กับ จอมขวัญ

“เป็นกลาง” ไม่จำเป็นต้องแสดง มุ่งเน้นที่ “สาร” เพื่อคนดู กระแสโจมตีโซเชียลมีผล แต่จะเลือกรับเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข

“ความเป็นกลาง” ถือเป็นสิ่งที่ผู้ดำเนินรายการมักถูกหยิบยกมาโจมตีมากที่สุด จอมขวัญ นักข่าวและผู้ดำเนินรายการชื่อดัง ตอบอย่างจริงจังว่า “เราไม่จำเป็นต้องแสดงว่าเราเป็นกลาง เพราะ “แสดง” ก็คือ “การแสดง” เราแค่มองว่าเป้าหมายของงานเราคืออะไร เราจะต้องไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ถ้าเรามัวแต่มองว่าเราควรแสดงท่าทีของเรายังไง เพื่อให้คนดูเข้าใจว่าอย่างไร.. แสดงว่าเราไม่ได้ให้น้ำหนักไปที่ “สาร” ที่จะออกมาแจกแขกรับเชิญ แต่มันเป็นการแค่ห่วงตัวเองเท่านั้น ดังนั้น เราจึงไม่สนใจเรื่องนี้เลย แต่สิ่งที่เราจะเน้น คือ เราจะตั้งคำถามแบบไหน คุยกับเขาอย่างไร ฟังคำพูดจากเขาแล้วเอามาคิดต่อ แล้วก็ถามออกไป โดยที่เราไม่ได้เอาเรื่องตัวเองมาตั้งเป็นโจทย์

จอมขวัญ ยอมรับว่า ช่วงที่ทำงานด้านข่าวการเมืองใหม่ๆ มีบ้าง รับแรงเสียดทานแทบไม่ทัน แต่ก็โชคดีที่เราอยู่กับผู้หลักผู้ใหญ่ มีคนให้กำลังใจ ก็เลยผ่านมันมาได้ โดยผ่านมาแบบได้เรียนรู้ และเติบโตขึ้น

ถ้ามีกระแสโซเชียลฯ โจมตีเรา อาทิ “ทำไมทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการแบบนี้.. ทำไมทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง” จอมขวัญ ตอบว่า ต้องยอมรับว่ากระแสโซเชียลที่ถาโถมเข้ามาอาจจะมีผล แต่เราจะเลือกรับ เช่น หากเขาบอกว่าเราทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง ทำไมไม่ทำแบบนี้ เราก็จะพิจารณาคำวิจารณ์ของโซเชียลฯ ว่าเขามองเราจากมุมไหน ซึ่งหากมีข้อมูลที่ดี ตรงนี้จะมีประโยชน์จากงานเรา แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เป็นการ “เขวี้ยงปาอารมณ์” ใส่กัน สาดความรู้สึกใส่กัน เราจะกรองออก เพราะเราจะนำประโยชน์มาใช้ได้น้อยมาก 

เสื้อแดง = จอมขวัญ?

มองยังไง ว่าหลายฝ่าย โยงว่า “จอมขวัญ” เลือกข้างเป็นเสื้อแดง จอมขวัญ ตอบว่า เวลาเราจะพูดอะไร เราจะอิงจากหลักการ หากเราพูดอะไรไปแล้ว ถูกนำไปตีความเพื่อหมายถึงใคร เอื้อประโยชน์ต่อข้างใด หรือสีใด อันนี้คือเรื่องเกินขอบเขตที่พูด และจะไม่ก้าวล่วงสิทธิ์ใคร

“ความเป็นจริง สื่อมวลชนควรจะถูกคาดหวังด้วยซ้ำไปว่า ควรจะยืนอยู่บนหลักการสากลของสื่อมวลชนหรือสังคม หากยึดตามนี้ สังคมก็จะเดินไปได้ ถ้าถามถึงแรงเสียดทานที่ถูกตีความ เราอาจจะรู้สึก แต่เราสามารถอธิบายในส่วนของเราได้”

กลัวไหม จะถูกใช้เป็นเครื่องมือ โดยเอาสิ่งที่เราพูดโดยไม่หมด หรือเพียงครึ่งเดียว นักข่าวและผู้ดำเนินรายการชื่อดัง กล่าวว่า เวลาเราโพสต์ข้อความออกไป แต่กลับถูกใช้แค่บางส่วน เราเชื่อว่าผู้ที่เชี่ยวชาญต่อความขัดแย้งจะหาต้นทางว่าสิ่งที่เขาเอาไปพูดต่อ มันจริงไหม... คงไม่ได้หวั่นไหว หรือสั่นคลอนมาก เพราะเราพูดโดยหลักการ เราไม่มีเป้าโจมตีใครคนใดคนหนึ่ง แต่ถ้าสิ่งที่เราพูด ไปเข้าทางใครเพื่อทำร้ายใคร หรือเข้าทางใครเพื่อไปให้ใคร มันไม่เกี่ยวกับเราเลย หากเราพูดบนหลักการ..ก็ไม่ควรสั่นคลอน

ก่อนที่เราจะทวีต (ทวิตเตอร์) ออกไป เราได้กลั่นกรองแล้ว สิ่งที่เราห่วงคือ คนจะเข้าใจไหม เพราะเป็นตัวหนังสือสั้นๆ ไม่ยาวมาก นอกจากนี้ เรายังห่วงที่ปลายทางด้วย วิธีการรับของเขา รับแบบไหน

สมมติว่า นี่ กล้องอยู่ตรงนี้... เมื่อยกออกมา อีกจุดหนึ่ง ถามว่าเราอยู่ที่เดิมไหม... คือที่เดิม แต่มุมเปลี่ยนไป

ทำไมต้อง ขมวดคิ้ว
ทำไมต้อง ขมวดคิ้ว

หัวใจสำคัญ “ดีเบต” คือถามแทนประชาชน ได้ข้อมูลมากที่สุดก่อนใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

เวลาที่เราทำหน้าที่ถามเพื่อต้องการคำตอบ แต่ในใจรู้สึกไม่เชื่อ จอมขวัญ กล่าวว่า เวลาเราถามแขกรับเชิญ แล้วในใจเริ่มรู้สึกไม่เชื่อ เราจะไม่คิดว่า “เขาโกหกเรา” เพราะการที่เราไม่เชื่อ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องโกหก แต่เราต้องฉุกคิดว่า สิ่งที่เขาพูดมันอยู่บนพื้นฐาน เหตุผล หรือข้อมูล อะไร เราก็จะค่อยๆ ไต่จากคำตอบของเขา เช่น "ทำไมมันเป็นอย่างนี้คะ แล้วเป็นแบบนี้แล้วมันจะยังไงต่อล่ะคะ เป็นแบบนี้ได้ด้วยหรือคะ"

การที่เราคุยกับใครและใช้อารมณ์และคอยแต่จับผิด เราจะไม่ได้อะไร เพราะเหมือนกับเราปิดหู ปิดตา ปิดใจเราหมดแล้ว แต่ถ้าเราลองเปิด มองว่าเป็นไปได้ ไม่ว่าใครจะใช้ชุดความคิดอย่างไร สิ่งที่น่าสนใจกว่าคำตอบคือ “ที่มาของคำตอบ” ว่าเขามีชุดความคิดอย่างไร 

บางเรื่องไม่ได้มีคำตอบเดียวนะ เราจึงต้องสาวข้อมูลไป ไม่ใช่มัวแต่คิดว่า “แกโกหกฉันหรือเปล่า แกโกหกฉันแน่ๆ เลย ฉันจะจับโกหกแกให้ได้ โอ๊ยยย (ลากเสียง) แกเหนื่อย ฉันก็เหนื่อย” (หัวเราะ)

หัวใจสำคัญในการจัดดีเบต จอมขวัญ เน้นว่า เราต้องพยายามให้คนดูได้ข้อมูลไปเพื่อเปรียบเทียบ แล้วนำไปตัดสินใจได้ ว่าจะเลือกใช้ใคร เลือกแต่ละคนเหมือนหรือแตกต่างกันไหม ต่างกันในรายละเอียดแค่ไหน เราต้องการให้ผู้ที่จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้รู้ว่าตัวเลือกที่เขามีอยู่ เขาควรจะเลือกใคร จากคำถามที่เราถามแทนเขา นี่คือ “เป้าหมาย” 

“สิ่งที่แฝงไว้ ตลอดเวลา เวลาจัดรายการ เรื่องการเมือง สังคม คือเราต้องทำให้เห็นบรรยากาศให้ได้ว่าความแตกต่างเป็นเรื่องปกติในสังคมเรา แม้จะต่างกันแค่ไหนเราคุยกันได้ เราจะพยายามแฝงไปตลอดเวลา เพราะในความรู้สึกส่วนตัว “เราเชื่อเรื่องนี้จริงๆ” 

หน้าที่ “นักการเมือง” คือตอบคำถาม ไม่มีสิทธิ์เลี่ยง ยันไม่ไล่บี้ใครตายคาเวที

เคยรู้สึกไหมว่า อาจจะมีนักการเมืองกลัวที่จะมาเจอจอมขวัญ “เอาดีๆ เขากลัว หรือ เขาเกลียด (หัวเราะลั่น) คงไม่มีใครกลัวหรอกค่ะ แต่อาจจะสบายใจหรือไม่สบายใจ ในแง่รูปแบบของเรา แต่อยากให้เข้าใจ ว่ารูปแบบ (รายการ) ของเราเหมือนกับบุคลิกของแต่ละคน อยากให้คุณสบายใจว่า หากคุณมาคุณจะได้รับเกียรติจากพื้นที่ของรายการแน่ๆ  

“เราไม่ได้มีเป้าหมายจะคาดคั้น บี้ให้เสียคน ไม่ได้อยู่ในนิยามนี้ แต่ถ้าเขารู้สึกว่าเราจะไล่บี้เขา เราก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน” 

จริงๆ เป็นหน้าที่ของนักการเมืองหรือไม่ ที่ต้องคอยตอบคำถาม จอมขวัญ ตอบว่า หน้าที่ของบุคคลสาธารณะ อย่างหนึ่งคือ การสื่อสารกับประชาชน หรือสังคม นักการเมือง ถือเป็นกลุ่มที่ชัดเจนกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าคุณชอบหรือไม่ชอบ หรืออยากหรือไม่ คุณต้องรับใช้ คุณต้องตอบคำถาม คุณต้องมีความรับผิดชอบต่อการชี้แจง เมื่อเจ้าของพื้นที่ทั้งหมดเขาถามจากคุณ ไม่มีเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น โดยหลักการพื้นฐานที่คุณจะเลี่ยงมัน 

โต๊ะทำงานของจอมขวัญ คือพื้นที่สาธารณะ มาพร้อมความรับผิดชอบ 

จริยธรรมในใจในฐานะ “สื่อ” คนหนึ่ง ให้น้ำหนักอะไรสำคัญ จอมขวัญ อธิบายให้เราเห็นภาพว่า เราจะนึกเสมอว่า “โต๊ะทำงาน” ของเรา คือ การเข้าไปในพื้นที่ว่าทุกคนเป็นเจ้าของ มันเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีคำว่า “รับผิดชอบ” มากกว่าจะบอกว่า นี่รายการจอมขวัญนะ นี่รายการของฉัน (พูดเน้น) นะ แบบนี้ไม่ใช่ เราจะบอกว่าเราต้องทำงานรับใช้คนที่เป็นเจ้าของพื้นที่นี้ร่วมกัน สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญต้องยังอยู่ ไม่ได้รู้สึกหวงแหน ว่ามันเป็นของเรา

หากเด็กรุ่นใหม่ อยากดำเนินรอยตาม หรืออยากก้าวขึ้นมาเป็นผู้ดำเนินรายการที่ดี สิ่งที่ควรทำมีอะไรบ้าง เหยี่ยวข่าวสาว ผู้ดำเนินรายการผู้มาดมั่น ตอบว่า เราจะนึกอยู่เสมอว่าเราเป็นนักข่าว ไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งใด มันก็คือสื่อมวลชน งานที่เราทำก็เพื่อผู้ชม คนดูทั้งนั้น เรารู้ว่างานที่ทำเพื่อรับใช้เขาด้านข้อมูลข่าวสาร

“ถ้าใครอยากเป็นคนที่นั่งอยู่ในหน้าจอทีวี ไม่ว่าจะเป็นอ่านข่าว เล่าข่าว วิเคราะห์ข่าว หรือจะสัมภาษณ์ข่าว เราต้องไม่ลืมที่มาของวิชาชีพ คือเรารับใช้ผู้ชม ผู้ดู หรือผู้อ่าน เราต้องรู้ว่าคุณค่าของมันมีมากและต้องระมัดระวังแค่ไหน เราคาดหวังว่า การทำงานของเรามีผลต่อผู้ชมจริง”

ชื่อเดียวในใจ ณ เวลานี้ อยากสัมภาษณ์ตอนนี้

มีไหม สัก 3 คนที่ไม่เคยสัมภาษณ์แล้วอยากสัมภาษณ์ ผู้ดำเนินรายการนาม “จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์” ตอบทันทีว่า จริงๆ แล้วไม่ได้เฉพาะเจาะจง เพราะทุกคนมาโดยหน้าที่อยู่แล้ว เราเป็นคนคุยกับใครก็ได้ 

ถามว่า ความคิดแรกที่ชื่อขึ้นมาในหัวตอนนี้เลยล่ะ เป็นใคร จอมขวัญ ตอบว่า ณ เวลานี้มีชื่อเดียว   

ขมวดคิ้ว หน้าหมางง! คือ กำลังคิดตาม

คำถามสุดท้ายละ.. ทำไม พี่ชอบขมวดคิ้ว.. “ทำไม...” จอมขวัญขึ้นเลย! มันไม่ใช่ขมวดคิ้วหรอก แต่มันเหมือนการทำหน้า “หมางง” ออ..คิดตาม การขมวดคิ้วไม่ใช่ว่า ดุ สงสัย หรือไม่เชื่อ คือเรากำลังคิดตาม และไม่เคยสังเกตตัวเองเลยนะคะ ว่าขมวดคิ้วตลอดเวลา จนมีคนมาบอก ฉันก็พยายามจะไม่นะ..เพราะฉันไม่ได้อยากมีริ้วรอย แต่ไม่ได้หรอกค่ะ เราจะมาห่วงว่าหน้าตาเราจะเหยเกได้ยังไง เราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน