เป็นอีกพรรคการเมืองหนึ่งที่ถูกจับตา อย่างน้อยจะเป็นตัวแปรสำคัญหลังการเลือกตั้งใหญ่ จับขั้วกับฝ่ายไหนอนาคตประชาธิปไตยย่อมเบ่งบาน

แต่โอกาสเปิดถึงขั้นจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างไร ภายใต้สภาพพรรคใหญ่ถูกอำนาจพิเศษบอนไซและรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีอำนาจเต็มระหว่างมีการเลือกตั้ง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกถึงความท้าทายดังกล่าว โดยยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้หนักเป็นพิเศษในรอบ 20 ปี เพราะรัฐบาลได้รับข้อยกเว้นให้มีอำนาจเต็ม

มีอำนาจเปลี่ยนหลักเกณฑ์การเลือกตั้งได้

มีอำนาจเหนือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถปลดออกจากตำแหน่งได้ทั้งที่มี กกต.

ขอให้ กกต.กล้าหาญทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยเราหวังว่าจะต้องเริ่มจริงจังในทุกกรณี

ทั้งการระดมทุนเข้าพรรค ขณะนี้ก็ออกนโยบายหวังผลเพื่อการเลือกตั้ง การนำบัตรคนจนไปผูกกับการรับสมาชิกพรรค

การโกงการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบจะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นที่ยอมรับ กกต.ต้องไม่ทำให้มันเกิดขึ้น

อย่าไปกลัวถูกมาตรา 44 ปลดออกจากตำแหน่ง

หากหวังจะทำผิดหรือละเว้นโดยใช้มาตรา 44 คุ้มครอง ก็ไม่แน่ใจจะได้รับความคุ้มครองจากสังคมหรือไม่

มันไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการทำแบบสุจริต ซึ่งจะคุ้มครองทุกอย่าง

ถ้าทำโดยสุจริตแล้วถูกกลั่นแกล้ง อนาคต ก็จะสดใสกว่าความกลัวที่จะนำไปสู่ความผิดซึ่งติดตัวตลอดไป

หวังว่าการเลือกตั้งจะไม่เหมือนปี 2500 (เป็นการต่อสู้ศึกทางการเมือง 3 เส้าบนความขัดแย้ง หลังการเลือกตั้งจบสิ้นเกิดการประท้วงการเลือกตั้งขยายวงไปอย่างกว้างขวาง)

และคิดว่ามันจะไม่ง่ายที่เหมือนในปีดังกล่าว เพราะปัจจุบันสังคมกล้าแสดงออกมากขึ้น โดยเฉพาะสังคมโซเชียลมีเดีย มีการถ่ายรูป บันทึกคลิปเสียง วิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นต่างๆ ยากที่จะปิดบังอะไรที่ไม่ชอบมาพากล

...

บนสถานการณ์การเลือกตั้งปี 62 ผมไม่กล้าฟันธงถึงการตั้งเป้ากวาดเก้าอี้ ส.ส.ว่าจะได้เท่าไหร่

เพราะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ขอดูช่วงเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งก่อนว่าจะมีพรรคการเมือง จำนวนผู้สมัครเท่าไหร่ เท่าที่ฟังแม้มีพรรคการเมืองกว่า 90 พรรค แต่พรรคที่สามารถส่งผู้สมัครได้จำนวนมากมีไม่เยอะ

หากคิดตามตัวเลขเดิมมาเป็นฐาน โดยเราเคยได้ ส.ส. 160 ที่นั่ง คะแนนดิบ 9.8 ล้านเสียง คำนวณตามระบบจัดสรรปันส่วนตามรัฐธรรมนูญกำหนด จะได้ ส.ส. 140 ที่นั่ง

แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีคู่แข่งทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น จะต้องดูว่าสามารถรักษาฐานเสียงเอาไว้ได้แค่ไหน หากทำได้มากกว่าตัวเลขอ้างอิงที่ 140 ที่นั่ง ถือว่าประสบผลสำเร็จพอสมควร ถ้าลดลงมาสักหน่อยก็คงไม่แปลกใจ แต่คงลดลงไม่เยอะ

ใครปรามาสพรรคประชาธิปัตย์จะได้ต่ำกว่าร้อยที่นั่ง ขอให้ไปดูพรรคการเมืองที่อิงกับผู้มีอำนาจจะดีกว่าว่ามี ส.ส.ถึง 100 ที่นั่งหรือไม่

เชื่อมั่นว่าเราจะได้ไม่ต่ำกว่า 100 ที่นั่งแน่นอน เพราะมีคำตอบให้ประชาชนและประเทศหลังการเลือกตั้ง ภาระใหญ่อันหนึ่งจะต้องเข้าไปสะสางประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากหลายฉบับอาจไม่มีสถานะเทียบเท่ากฎหมาย แต่ไปแก้โครงสร้างระบบบริหาร

เช่น การนำกระทรวงมหาดไทยร่วมบริหารการศึกษา แบบนี้ต้องเปลี่ยนกลับ งานหลายอย่างเป็นปัญหา ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีเวลามานั่งดูตรงนี้

ประชาชนไม่ต้องการตกอยู่ในภาพแบบนี้ ไม่ต้องการวนเวียนอยู่กับการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นชนวนนำไปสู่การปฏิวัติ

“เราได้ทำการบ้านเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้มาอย่างเต็มที่ มั่นใจว่ามีคำตอบให้ประชาชนแน่นอนเพราะนโยบายของพรรค ไม่ได้แช่แข็งอยู่ที่เดิม แต่มันเป็นไปตามสภาพปัญหาของประชาชนเป็นตัวตั้ง”

หากผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามเป้าจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร นายอภิสิทธิ์ บอกว่า เคยประกาศไปแล้วหากได้ ส.ส.ไม่เกิน 100 ที่นั่ง พร้อมจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค

การเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่ใช่เดิมพันครั้งสุดท้ายในการเป็นหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ไม่ทราบ แต่ถ้าได้ไม่ถึง 100 ที่นั่งผมจะออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคและไม่เป็นหัวหน้าพรรคอีกแล้ว

ถือว่าทำให้พรรคถดถอย ต้องแสดงความรับผิดชอบ

และรอฟังว่าหัวหน้าพรรคคนใหม่จะให้ผมทำหน้าที่อะไรต่อไป

ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีคู่แข่ง คือ พรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ขณะนี้ไม่หนักใจที่เป็นแม่ทัพนำศึกเลือกตั้ง เป็นความรับผิดชอบปกติธรรมดาของนักการเมืองอาชีพ

วันนี้ต้องมองทุกพรรคการเมืองถือว่าเป็นคู่แข่งทั้งหมด

แต่พรรคเพื่อไทยเป็นแชมป์เก่า มีฐานเสียงในพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุด แม้ขณะนี้ไม่มีระดับหัวในการจ่ายท่อน้ำเลี้ยงได้มากมายเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆมา

หากมีความพร้อมส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี ก็ยังคงมีความได้เปรียบอยู่

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ ถือเป็นคู่แข่งเช่นกัน

ถึงวันเลือกตั้งจบ พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงไม่เพียงพอจัดตั้งรัฐบาลจะทำอย่างไร เพราะเคยประกาศขอเป็น 1 ใน 3 ทางเลือกให้ประชาชน นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ถึงวันนั้นจะต้องดูว่าเราได้ ส.ส.เยอะหรือไม่

หากได้จำนวน ส.ส.เพียงพอก็จัดตั้งรัฐบาล ถ้าได้เสียงไม่มากก็เป็นไปตามระบบรัฐสภา พรรคการเมืองไหนที่รวบรวมเสียงข้างมากได้ก็เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ถึงบอกว่าถ้าเราใหญ่ก็แสดงให้เห็นว่าได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน แนวทางนี้พรรคไหนจะมาร่วมกับเรา

ถ้าเราเล็กก็ต้องเจียมตัว ไปเรียกร้องอะไรไม่ได้ แต่สามารถเลือกได้ว่าจะไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคไหนหรือไม่ เมื่อไปร่วมรัฐบาลแล้วไม่ได้ทำให้เราทำงานตามอุดมการณ์ได้ ก็จะไม่เข้าร่วมรัฐบาล

ไม่ใช่แทงกั๊ก แต่เงื่อนไขหลักเราต้องมั่นใจได้ว่าสิ่งที่ต้องการกระทำมันทำได้จริง

จะให้ไปร่วมรัฐบาลที่มันโกงกินจนระบบพังก็ไม่เอา จะให้ไปร่วมรัฐบาลที่บริหารเศรษฐกิจแบบนี้ก็ไม่เอา

ไปตัดเลยก็ไม่ได้ ต้องดูว่าเขาจะเปลี่ยนนโยบายหรือไม่ ทั้งหมดเป็นไปตามหลักการและหลักคิด

ไม่ได้คิดเพื่อผลประโยชน์หรือตำแหน่ง พรรคไหนยอมรับแนวทางหรืออุดมการณ์ของเรา

จะเป็นพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคเพื่อไทย หากยอมรับแนวทางของเราก็ต้องแสดงท่าทีออกมาก่อน

ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าแต่ละพรรคมีจุดยืนและท่าทีอย่างไร

ที่สำคัญตอนเลือกตั้งจะถูกถามหมดว่าแต่ละพรรคอะไรเอา อะไรไม่เอา วันนี้ยังตอบไม่ได้ ไม่รู้ว่าอะไร อย่างไร

เราไม่เคยประกาศว่าจะไม่ร่วมกับใคร แต่เป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ก็เป็น ถ้าประชาชนเลือกเรา

สุดท้ายพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน นายอภิสิทธิ์ บอกว่า หากเราจับมือกันแล้ว รัฐบาลก็เป็นเสียงข้างน้อยจะอยู่ได้หรือ

แม้มีเสียง ส.ว.อยู่ในมือ แต่ก็ทำได้แค่ช่วงเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ก็ลองดูว่าจะเป็นรัฐบาลอยู่ได้นานแค่ไหนและจะจบลงอย่างไร

ทีมข่าวการเมือง ถามว่ามีมุมมองอย่างไรต่อการเมืองในปีมหามงคลที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นายอภิสิทธิ์ บอกว่า เป็นปีที่มีความสำคัญโดยมีเหตุการณ์สำคัญ 2 เรื่องใหญ่ของชาติ

ในด้านการเมืองจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. สามารถดำเนินการตามกระบวนการโรดแม็ป

ขณะเดียวกัน ถือเป็นปีที่สำคัญทางหน้าประวัติศาสตร์ชาติ

อีกปีหนึ่งของคนไทย โดยจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

จึงเป็นโอกาสที่ดีที่คนไทยทุกภาคส่วนจะร่วมแสดงออกให้เป็นหนึ่งเดียวตามพระบรมราโชวาท

เพื่อแสดงออกถึงความรักสามัคคีที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ.

ทีมการเมือง