เจตนาจะปิดปากนักการเมือง ปชป.อยากให้คสช.ทบทวน ห้ามใช้โซเชียลมีเดียหาเสียง

พท.ยังข้องใจ ไม่เชื่อเลือกตั้ง ก.พ.62 เพราะเลื่อนมาแล้วหลายกระทอก ชี้ไม่ปลดล็อกเต็มที่เพราะกลัวโดนถล่มผลงานโบดำ คสช. “อ๋อย” ซัดยิ่งคลายเหมือนยิ่งล็อก ตลกร้ายห้ามหาเสียง ปิดหูมัดตาประชาชนไปหย่อนบัตร เย้ยเจตนาทำกระบวนการเลือกตั้งพิกลพิการเพราะหวาดกลัว “ชูศักดิ์” บี้เคลียร์นิยามหาเสียงให้ชัด ปูดแบ่งเขตใหม่เอื้อประโยชน์บางพรรค ชทพ.ยังมึนวิธีติดต่อสมาชิก ถามเขียนมาทำไมไพรมารีสุดท้ายก็ทำไม่ได้ “อนุทิน” ย้ำพร้อมเป็นฝ่ายค้านถ้าร่วมรัฐบาลแล้วนโยบายเป็นหมัน ด้าน “สนธยา” บอกไม่เห็นมีปัญหาอะไร สบายๆทุกเรื่อง พร้อมสยบข่าวยุบรวมพรรคอื่น “สามมิตร” วอนพรรค การเมืองอย่าจิตตกเกินเหตุ จี้เลิกสาดโคลนจมปลักขัดแย้ง ปชป.สวดยับขวางโลกห้ามหาเสียงโซเชียล คาดได้หัวหน้าพรรคใหม่ พ.ย.

แม้โรดแม็ปเลือกตั้งจะมีความชัดเจนมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง ภายหลังกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการ เลือกตั้งทยอยประกาศบังคับใช้ แต่สุ้มเสียงจากบรรดานักการเมืองยังคงไม่เชื่อมั่นอย่างสนิทใจ นอกจากนี้ยังคงเรียกร้องให้ คสช.ทำการปลดล็อกแบบเบ็ดเสร็จให้เคลื่อนไหวอย่างอิสระ เพราะมองว่าคำสั่งคลายล็อก ยังคงคลุมเครือ

“ชัยเกษม” ยังไม่เชื่อเลือกตั้ง ก.พ.62

นายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีหัวหน้า คสช.มีคำสั่งที่ 13/2561 คลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ว่า หลักจริงๆพรรคการเมืองต้องหาเสียงกันทั้งปีทั้งชาติ ไม่ใช่พอใกล้เลือกตั้งถึงหาเสียง และยิ่งต้องทำนโยบายยิ่งต้องคุยกับประชาชนมากขึ้น เพื่อให้รู้ว่ารัฐบาลที่แล้วมาทำอะไรดีหรือไม่ดี อะไรควรสานต่อ อะไรควรตำหนิติเตียน การไม่ปลดล็อกอย่างเต็มที่เพราะเกรงจะไปพูดอะไรที่เขาทำไม่ดีมากกว่า เมื่อเป็นนักการเมืองและอยากอยู่ต่อแล้วก็ต้องแฟร์ๆ เพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่คงยาก เพราะเห็นมาตลอดอะไรที่พอได้เปรียบก็ทำทุกวิถีทาง เพียงแค่ไม่ถึงกับผิดกฎหมายเท่านั้นเอง ทั้งที่ความจริงแล้วเมื่อมีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้ว ไม่ควรนำมาตรา 44 มาใช้กับกระบวนการเลือกตั้ง ควรให้อิสระทางการเมืองได้แล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วถามว่ามั่นใจไหมการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ.62 เรียกได้ว่ายอมเสียสัตย์มาหลายครั้งแล้ว ก็ไม่แน่อาจจะเกิดขึ้นอีกก็ได้ จึงอยากให้เป็นไปตามที่ได้พูดไว้

...

“อ๋อย” ซัดตลกร้ายห้ามหาเสียง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. คลายล็อกพรรคการเมืองว่า คำสั่งคลายล็อกกลายเป็นล็อกแน่นเข้าไปอีก โดยเฉพาะการห้ามหาเสียงเป็นตลกร้าย จะขำก็ขำไม่ออก คำสั่งนี้กำลังทำลายการเลือกตั้งที่ผู้มีอำนาจต้องการให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลน้อยที่สุดคือ สักแต่ให้ไปหย่อนบัตร โดยไม่ต้องรู้อะไร เลย ที่พิลึกที่สุดคือห้ามพรรคการเมืองใช้โซเชียลมีเดียหาเสียง ไม่รู้คำว่าหาเสียงแปลว่าอะไร แต่ถ้าตาม กฎหมายไม่ใช่ห้ามพูดนโยบายหาเสียง เว้นโจมตีใส่ร้ายคู่แข่งด้วยความเท็จต้องถูกดำเนินคดี และอีกความหมายหนึ่งคือ พูดให้คนชอบหรือเกิดความนิยมในตัวผู้พูดหรือองค์กรของผู้พูด เช่นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.พูดอยู่ทุกวัน เพียงแต่ไม่แน่ว่าจะทำให้คนชอบหรือไม่เท่านั้น คำสั่งคลายล็อกนี้ทำให้การประชาสัมพันธ์นโยบายพรรค พูดถึงบุคลากรหรือสิ่งที่พรรคทำอยู่เป็นเรื่องต้องห้าม

จวกคำสั่ง คสช.ปิดหูปิดตา ปชช.

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ความจริงการเปลี่ยนแปลงนี้ คือพัฒนาการทางการเมืองที่สำคัญของประเทศไทยที่ทำให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดการบริหารประเทศได้มากขึ้น แต่กระบวนการนี้กลับเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจขณะนี้ไม่เพียงไม่เชื่อถือ น่ารังเกียจ ดูถูกดูแคลน แต่ยังหวาดกลัวเป็นอย่างยิ่งด้วย เพราะเกลียดกลัวการเลือกตั้งที่ทำให้ประชาชนกลายมาเป็นผู้กำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง แทนผู้มีอำนาจมาแต่เดิม ทำให้ คสช.กับพวกจ้องหาทางทำลายการเลือกตั้ง ไม่ให้ทำหน้าที่อย่างที่ควรเป็น ทำการเลือกตั้งพิกลพิการ และพอคาดการณ์ได้ไม่ยากว่า เมื่อมีรับสมัครแล้ว การหาเสียงเลือกตั้งจะถูกจำกัดอย่างมากจากกฎระเบียบ กกต. ที่น่าเกลียดคือคำสั่งนี้มัดมือมัดเท้า ปิดปากพรรคการเมือง ปิดหูปิดตาประชาชนแล้ว ยังสร้างเกราะคุ้มกันแก่ คสช.จากการวิพากษ์วิจารณ์ของนักการเมืองและประชาชน ทั้งที่ผู้นำ คสช.กำลังเสนอตัวเข้าแข่งขันเป็นนายกฯในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง คสช.กับพวกอาจมองผิดไปอย่างหนึ่งคือ ประชาชน ไม่โง่อย่างที่พวกเขาคิด ไม่เชื่อก็คอยดู

สะท้อนบ้านเมืองยังไม่ปกติ

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า การที่รัฐบาลไม่ปลดล็อกพรรคการเมืองเท่ากับชี้ให้ต่างชาติเห็นว่าประเทศไทยยังไม่ปกติ ทั้งที่ 4 ปีที่ผ่านมาบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือการสร้างความปรองดองในชาติ แต่การที่ทำให้ดูเหมือนบ้านเมืองยังไม่ปกติ ใช้อำนาจมาตรา 44 ควบคุมประเทศจึงไม่สอดคล้องสถานการณ์บ้านเมือง ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้นอกจากรัฐบาลทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง แต่ผลร้ายตกอยู่ที่ประเทศและประชาชนที่ถูกต่างชาติมองประเทศไทยยังไม่ปกติ

บี้เคลียร์นิยามหาเสียงให้ชัด

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานกรรมการฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คำสั่งคลายล็อก คสช. ให้พรรค การเมืองติดต่อสื่อสารสมาชิกด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ต้องไม่ใช่ลักษณะหาเสียงนั้น เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพพรรคการเมืองอย่างรุนแรง คำว่าห้ามหาเสียงเป็นคำที่ตีความได้กว้างขวาง ในคำสั่งไม่ได้ให้นิยามที่ชัดเจนไว้ สุดท้ายจะกลายเป็นการจ้องจับผิดกันของฝ่ายการเมือง อาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติดำเนินคดีเฉพาะฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลได้ เหมือนการชุมนุมทางการเมืองที่เห็นอยู่ว่าฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเคลื่อนไหวได้ แต่ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถทำอะไรได้ ดังนั้น คสช. และ กกต.ควรระบุให้ชัดเจนอะไรทำได้หรือไม่ได้ จะได้ไม่ต้องเอาประเด็นนี้ไปตีความให้วุ่นวายในภายหลัง

ปูดแบ่งเขตใหม่เอื้อบางพรรค

นายชูศักดิ์กล่าวว่า ส่วนที่ กกต.ระบุจะให้เวลาแบ่งเขตเลือกตั้ง 60 วันนั้น พรรคเพื่อไทยไม่มี ปัญหา ขอเพียงให้ กกต.เปิดโอกาสพรรคการเมืองมีสิทธิเสนอความเห็นโต้แย้งการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ เพราะทราบข้อมูลเป็นการภายในว่า มีความพยายามแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อเอื้อต่อพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งให้สะดวกในการหาเสียง ดังนั้น จังหวัดใดมีจำนวนเขตเลือกตั้งเท่าเดิม ไม่เพิ่มไม่ลดลง ก็ไม่ควรแบ่งเขตใหม่ ควรยึดเขตเลือกตั้งเดิมไว้ขอให้ กกต.รับฟังความเห็นพรรคการเมืองเรื่องนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างยุติธรรมที่สุด

จี้ปลดล็อกเต็มที่ให้ทดสอบกึ๋น

นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า การไม่ปลดล็อกเต็มที่ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามกฎหมายพรรคการเมืองในแง่พรรคการเมืองนั้นได้เปรียบเสียเปรียบกัน เพราะขาดโอกาสที่จะหาเสียงอย่างเท่าเทียม ถ้าคิดกลับกัน การปลดล็อกและการให้ใช้สื่อโซเชียลสื่อสารทางนโยบายจะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์เนื่องจาก 1. พรรคมีเวลาพบปะประชาชนฟังความเห็นมากลั่นกรองทำนโยบาย การทำนโยบายที่ดีใช้เวลา เหมือนการแกะสลักไม้ ไม่ใช่แค่ตัดไม้ทำท่อนซุง 2.ทุกพรรคจะแข่งกันทำนโยบายที่ดี ให้ประชาชนเลือก ไม่ใช่เน้นแข่งที่ตัวบุคคล 3.สังคมจะมีวาระนโยบายมาถกเถียงกันมากขึ้น ไม่ใช่ถกเถียงกันเรื่องคลายล็อกหรือปลดล็อก 4. ประชาชนมีสิทธิรู้ว่ากึ๋นของแต่ละพรรคเป็นอย่างไร และติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามนโยบายได้ง่ายว่าหากเป็นรัฐบาลแล้วทำตามนั้นหรือไม่ 5.การสื่อสารทางสื่อออนไลน์มีค่าใช้จ่ายน้อย เข้าถึงประชาชนได้ทั่วถึง เอื้อให้พรรคใหญ่หรือเล็กแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่ใช้ดารามาช่วยก็สื่อสารนโยบายให้ประชาชนทราบได้

ห่วงแต่มั่นคงจนกระทบสิทธิ

นายศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การประกาศ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. ทำให้การเลือกตั้งยิ่งมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ส่งผลให้การประกาศขยายตัวทางธุรกิจภาคเอกชนมีความตื่นตัวสูงขึ้น ตลาดหุ้น ตลาดการลงทุนแสดงการตอบรับการเลือกตั้ง จึงเป็นสัญญาณเตือนให้รัฐบาล ควรรับฟังว่า การเลือกตั้งเป็นแนวทางการนำประเทศไปสู่ความเจริญเติบโตตามหลักสากล การรัฐประหารโดยประชาชนไม่มี ส่วนร่วมจะนำประเทศให้เป็นที่พอใจของประชาชนไม่ได้ เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์มีความรักชาติ รักสถาบัน เพราะเคยเป็นทหารมาก่อน เพียงแต่ยังมีความเข้าใจเรื่องการมีส่วนร่วมน้อยกว่าที่ควร การคำนึงถึงแต่ ความมั่นคงจนละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีมองข้าม และการคงคำสั่งห้ามพรรค การเมือง ห้ามประชาชนชุมนุมเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ขัดหลักสากล อยากให้ทบทวนกรณีนี้ ไม่อยากให้แสดงความรักประเทศด้วยการผูกขาดอำนาจไว้ผู้เดียว

“ยิ่งลักษณ์” เดินชมเมืองเบลารุส

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ภาพคู่กับพี่ชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ระหว่างเดินเที่ยวเล่นอยู่ที่มอสโก ประเทศรัสเซียลงเฟซบุ๊ก ล่าสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้โพสต์ภาพลงเฟซบุ๊กอีกครั้ง เป็นภาพระหว่างเดินชมตลาดและตัวเมืองของประเทศเบลารุส (Belarus) ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ติดกับรัสเซีย ตามคำเชิญของเพื่อนนายทักษิณ เพื่อดูการสร้างเมืองให้เกิดความมั่งคั่งก้าวเข้าสู่ new economy ที่มีบริษัทขนาดเล็กเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก มีรายได้ประชากรต่อครอบครัวสูง เพราะรัฐบาลนำภาษีอากรที่เก็บได้มาทำสวัสดิการให้ประชาชน เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล และสวัสดิการอื่น

ชทพ.ยังข้องใจวิธีติดต่อสมาชิก

นายวราวุธ ศิลปอาชา อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี และแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการคลายล็อกทางการเมือง โดยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ว่า ต้องขอบคุณ คสช. เรื่องนี้ไม่เหนือความคาดหมาย เพื่อให้พรรคการเมืองดำเนินงานตามกฎหมายกำหนด แต่ที่น่าห่วงคือการติดต่อสมาชิกพรรคโดยผ่านวิธีสารสนเทศ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องขอความชัดเจนจาก คสช.หรือ กกต.ในแนวทางปฏิบัติ ทั้งเว็บไซต์และเฟซบุ๊กของพรรคการเมือง เพราะยังนึกไม่ออกว่าการควบคุม หรือพูดกับคนบนโซเชียลแบบที่ไม่เปิดสาธารณะนั้นเป็นอะไรที่ยากมาก นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงเรื่องความพร้อมส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะ กกต. ทั้งด้านกำลังคนเทคโนโลยี พรรคการเมือง 30-40 พรรคจะต้องส่งนโยบายสาธารณะให้ กกต.วิเคราะห์ เป็นห่วงว่า กกต.จะทำทันหรือไม่

เย้ยไพรมารีเขียนไว้แต่ไร้ค่า

นายวราวุธกล่าวว่า ส่วนกรณีที่คำสั่งดังกล่าวมีผลให้ยกเลิกการใช้ไพรมารีโหวต และให้ใช้รูปแบบคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครแทนนั้น คงเป็นการเอื้อพรรคการเมืองที่เพิ่งตั้งใหม่ ซึ่งระบบไพรมารีไม่เหมาะตั้งแต่แรก จึงพิสูจน์ว่าสิ่งที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเขียนมาทำไม่ได้ เพราะถ้าทำได้ คสช.คงไม่ออกมาตรา 44 มายกเว้นเรื่องนี้ ทั้งนี้ พรรคชาติไทยพัฒนารอให้ได้พูดคุยระหว่างพรรคการเมืองกับ กกต.ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ก่อน จึงจะประชุมกรรมการบริหารพรรค จากนั้นประชุมใหญ่พรรคในวันที่ 5 ต.ค.นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถนนวิภาวดีรังสิต

“ระวี” ฉะกลืนน้ำลายเลิกไพรมารี

นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงกรณี คสช.ประกาศมาตรา 44 คลายล็อกทางการเมืองว่า น่าเสียดายโอกาสปฏิรูปการเมืองในประเด็นยกเลิกไพรมารีโหวต เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ทุกพรรคหยุดใช้นายทุนบงการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการเริ่มต้นปฏิรูปการเมือง เป็นการกลืนน้ำลายตัวเองอีกครั้งที่ คสช.เคยประกาศปฏิรูปการเมือง ความจริง คสช.ควรคงไพรมารีโหวตไว้ แล้วใช้มาตรา 44 เลื่อนวันประกาศรับสมัคร ส.ส.ทั้ง 2 ระบบไป 2 เดือน เพื่อให้ทุกพรรคมีความพร้อมทำไพรมารีโหวตทัน จะได้เริ่มต้นปฏิรูปการเมือง อย่างไรก็ตาม แม้ คสช.จะยกเลิกไพรมารีโหวต แต่พรรคพลังธรรมใหม่ยืนยันจะใช้หลักไพรมารีโหวตคัดเลือก ส.ส.พรรคทั้ง 2 ระบบ นอกจากนี้ ไม่เห็นด้วยที่ คสช.คลายล็อก แต่ไม่ปลดล็อก ควรให้ทุกพรรคดำเนินการทางการเมืองได้ หากพรรคใดก่อความวุ่นวายสามารถใช้มาตรา 44 จัดการได้อยู่แล้ว

“อนุทิน” ย้ำนโยบาย ภท.ต้องได้ใช้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวหลังจาก คสช. คลายล็อกพรรคการเมืองว่า เป็นเรื่องดี เพราะส่งสัญญาณชัดเจน ต้องมีการเลือกตั้งในปีหน้า จากนี้ตนยิ่งต้องคิดให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของนโยบาย ขอยืนยันว่าเอาจริงกับนโยบายแก้ปัญหาหนี้ กยศ. นอกจากการศึกษา ตนให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงกฎหมายให้สอดรับกับความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะทุกวันนี้ประชาชนมีโอกาสทำมาหากินมากมายจากทรัพย์ที่ถือครองอยู่ แต่ติดขัดในเรื่องกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของบ้านพักโฮมสเตย์เป็นของประชาชน แต่กลับนำมาใช้ทำมาหากินไม่ได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ลดขนาดพรรคขนาดใหญ่ หากอยากเป็นรัฐบาล ต้องมาคุยกับพรรคอื่น เป็นโอกาสให้พรรคภูมิใจไทยได้เสนอนโยบาย พรรคจึงขอใช้เป็นเงื่อนไขแรกในการร่วมงาน แน่นอนว่า หากนโยบายเราถูกปฏิเสธเราก็เป็นฝ่ายค้าน ดังนั้นอย่ามองว่าพรรคภูมิใจไทยรอเป็นรัฐบาล ส่วนกระแสการโจมตีพรรคภูมิใจไทย โดยบางคน บางกลุ่มเป็นเรื่องของลูกพรรค ตนไม่ใส่ใจ

พลังชลไร้ปัญหาคลายล็อก

นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล กล่าวถึงกรณีหัวหน้า คสช. มีคำสั่งที่ 13/2561 คลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคได้ติดตามและเตรียมการภายในไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว ตามหลักของรัฐธรรมนูญที่กำหนดอย่างการแก้ไขข้อบังคับพรรค ส่วนที่เหลือแค่ดูว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.จะออกมาแบบไหนก็ทำตามนั้น ส่วนวันประชุมพรรคยังไม่ได้กำหนดเพราะยังมีเวลาอยู่ สำหรับการหาสมาชิกพรรคเพิ่มหรือต้องกำหนดนโยบายพรรคก็ไม่ได้มีปัญหาหรือมีอุปสรรคอะไร จากที่ คสช.คลายล็อกให้แค่สื่อสารประชาชนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ได้แต่ห้ามหาเสียง ส่วนของสมาชิกพรรคตอนให้ยืนยันสมาชิกพรรคก็ได้มีสมาชิกทุกภาคเข้ามา แค่หาเพิ่มอีกนิดหน่อยเพื่อทำให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด ไม่มีอะไรมาก กฎหมายว่าอย่างไรเราก็ทำตาม เราไม่ได้กังวลสิ่งที่ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

สยบข่าวยุบรวมพรรคอื่น

นายสนธยากล่าวว่า ส่วนกรณีการยกเลิกทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งนี้นั้น จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นโดยเฉพาะสำหรับพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือพรรคเล็กๆ เพราะ คสช.คงต้องการให้การเลือกตั้งครั้งนี้เรียบร้อยและอำนวยความสะดวกพรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งถือเป็นการดี และพรรคพลังชลไม่ขัดข้องหากจะมีไพรมารีโหวต เพราะผู้สมัครที่จะเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองลงในแต่ละเขตต้องมีสมาชิกมาโหวตให้ได้อยู่แล้ว เพราะถ้าไม่โหวตให้แสดงว่าเขาไม่มีความพร้อม และยืนยันพรรคพลังชลไม่ยุบไปรวมกับพรรคอื่นตามที่เป็นข่าว

สามมิตรขออย่าจิตตกเกินเหตุ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร เปิดเผยว่า ขณะนี้มั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแม็ปอย่างแน่นอน หลังจาก คสช.คลายล็อกแล้วทุกพรรคการเมืองก็สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆได้ แต่ยังห้ามหาเสียง เข้าใจว่าทาง คสช.เกรงจะเกิดความวุ่นวายขึ้น ตนคิดว่าเมื่อทุกพรรคยังมั่นใจในฐานคะแนนเสียงก็อย่าไปจิตตกเกินเหตุ ในเมื่อทุกพรรคต้องการให้มีการเลือกตั้ง ก็เอาเวลาไปเตรียมการต่างๆ เพื่อไปสู่การเลือกตั้งจะดีกว่า ส่วนประเด็นการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียนั้น หากเป็นการดำเนินการอย่างสร้างสรรค์คงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ขนาดยังไม่เลือกตั้งแต่ละกลุ่มก็เริ่มสาดโคลนใส่กันแล้ว กลุ่มสามมิตรอยากเห็นการเมืองแบบสร้างสรรค์เพื่อนำพาประเทศไทยเดินไปข้างหน้า ไม่จมปลักอยู่กับความขัดแย้ง อยากให้รักสามัคคีและมีน้ำใจเสมือนโมเดลหมูป่าอะคาเดมี ส่วนกลุ่มสามมิตรจะสังกัดพรรคการเมืองทันกฎหมายใหม่หรือไม่คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะเตรียมพร้อมอยู่ตลอด

ปชป.อัดขวางโลกห้ามโซเชียล

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการห้ามใช้สื่อโซเชียลมีเดียหาเสียงเลือกตั้งว่า อยากให้ คสช.หารือกับ กกต.เรื่องการใช้โซเชียลมีเดียของพรรคการเมือง เพราะการกำหนดกว้างๆ ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไม่เป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลประกาศ เป็นไทยแลนด์ 4.0 ขณะนี้สังคมเราใช้เทคโนโลยีสื่อสารกว้างขวาง แต่กลับห้ามใช้ช่องทางดังกล่าวสื่อสารระหว่างพรรค การเมือง สมาชิก และผู้สมัคร การใช้โซเชียลมีเดียคงไม่กระทบความมั่นคงประเทศ แต่หากพบนัก การเมืองทำผิดก็สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้ จึงขอให้ คสช.ทบทวนเรื่องนี้ด้วย

คาดเดือน พ.ย.ได้ผู้นำใหม่

นายองอาจกล่าวว่า หลังมีคำสั่งคลายล็อก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 17 ก.ย. และจะจัดประชุมใหญ่สมาชิกพรรควันที่ 24 ก.ย. เพื่อพิจารณาข้อบังคับพรรคใหม่ ส่วนการเลือกหัวหน้าพรรคจะเลือกแบบหยั่งเสียงโดยตรงจากสมาชิกพรรคผ่านแอปพลิเคชันที่พรรคทำขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ส่งเสริมประชาธิปไตยในพรรค คาดว่าจะใช้เวลาเลือกหัวหน้าพรรค 1 เดือน จะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่เดือน พ.ย.นี้

หยั่งเสียงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

นายถวิล ไพรสณฑ์ คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงระเบียบข้อบังคับพรรคใหม่เกี่ยวกับการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคว่า กรรมการ บริหารพรรคชุดปัจจุบันจะกำหนดวันหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค โดยเปิดกว้างให้สิทธิ 2 กรณี คือ 1.อดีตสมาชิกพรรคเดิม 2.9 ล้านคน 2.สมาชิกพรรคที่มายืนยันตัวตนหลังจากคำสั่ง คสช.สั่งสลายฐานสมาชิก ปัจจุบันมีอยู่ 90,000 คนเศษ ทั้งนี้ พรรคจะประกาศให้บุคคลที่ลงสมัครหัวหน้าพรรค หรือมีผู้อื่นเสนอชื่อก็ได้ โดยเจ้าตัวต้องยินยอม จะแบ่งผู้สมัครออกเป็น 1.ถ้าเป็นสมาชิกพรรคเดิมอยู่แล้วให้อดีต ส.ส.พรรคชุดสุดท้ายก่อนรัฐประหารรับรอง 20 คน และมีสมาชิกพรรครับรองภาคละ 500 คน รวม 4 ภาค จำนวนรวม 2,000 คน 2.ถ้าเป็นคนนอกที่ไม่เป็นสมาชิกพรรค ต้องมีอดีต ส.ส.ชุดสุดท้ายก่อนการรัฐประหารรับรอง 40 คน และมีสมาชิกพรรคภาครับรองภาคละ 1,000 คน รวม 4 ภาค 4,000 คน จึงถือว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนลงสมัครได้ เมื่อปิดรับสมัครแล้ว ให้บุคคลที่ลงแข่งขันหารือว่า จะให้ใครเป็นคณะกรรมการหยั่งเสียง 5 คนจากสมาชิกพรรค โดยให้โหวตหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น เมื่อทราบผลแล้วให้คณะกรรมการบริหารพรรคกำหนดวันประชุมใหญ่สมาชิกพรรค เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และหัวหน้าพรรค ซึ่งจะคำนึงถึงการหยั่งเสียงเบื้องต้นนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม สุดท้ายขึ้นอยู่กับที่ประชุมใหญ่อาจเสนอบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเหมาะสมเป็นหัวหน้าพรรคก็ได้

โพลเห็นด้วยคลายล็อกการเมือง

นายนพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลโพล เรื่องคลายล็อกพรรคการเมือง จากกลุ่มตัวอย่างประชาชน 1,014 คน ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่ 85.1% เห็นด้วยต่อการคลายล็อกพรรคการเมือง เตรียมพร้อมเลือกตั้ง ในขณะที่ 14.9% ไม่เห็นด้วย โดยเมื่อจำแนกออกเป็นกลุ่มที่จะเลือกตั้งครั้งแรกกับกลุ่มที่เคยเลือกตั้งมาแล้ว พบความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ กลุ่มเลือกตั้งครั้งแรกส่วนใหญ่หรือ 84.9% และกลุ่มที่เคยเลือกตั้งแล้วส่วนใหญ่หรือ 86.3% เห็นด้วยต่อการคลายล็อกพรรคการเมือง แต่ที่น่าสนใจคือ ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือ 76.2% ระบุความเห็นต่อการเตรียมพร้อมเลือกตั้ง แบบค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ 23.8% ระบุควรเร่งรีบจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ขณะที่ส่วนใหญ่หรือ 69.3% รับรู้ต่อการเคลื่อนไหวการเมืองวันนี้ เพื่อแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ของนักการเมือง ในขณะที่ 30.7% มองว่าเพื่อช่วยกันแก้ไขความขัดแย้งและความเดือดร้อนของประชาชน อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่าง 67.4% ยังคง กังวลต่อความขัดแย้งรุนแรงบานปลายช่วงเลือกตั้ง

“ไก่อู” ย้ำคลายล็อกเป็นระยะ

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองออกมาวิจารณ์ว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.คลายล็อกพรรคการเมืองทำกิจกรรม เป็นการล่ามโซ่พรรคการเมือง ปิดหูปิดตาประชาชน ว่า การคลายล็อกต้องเป็นระยะๆ เป็นไปตามขั้นตอนที่เคยแจ้งไว้แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาคิดวันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า มีเวลาพอดำเนินการ ตนเข้าใจว่าคงทำอะไรได้ไม่เต็มที่นัก แต่เพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เดินไปถึงวันเลือกตั้งได้อย่างที่ตั้งใจ ไม่ใช่ว่า คสช. จะเอาเรื่องความสงบมาเป็นข้ออ้าง แต่ถามว่าแล้วไม่กลัวความไม่สงบหรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เคยชี้แจงแล้วว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง เอาเป็นว่าจะคลายล็อกเป็นระยะๆ ขอให้อดทนหน่อยแล้วกัน

ทส.ตั้งซี 10 “รวีวรรณ” กรมน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะเสนอแต่งตั้งข้าราชการระดับ 10 จำนวน 5 ตำแหน่ง ทดแทนที่จะเกษียณอายุราชการ คือ รองปลัด ทส. อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีและกรมควบคุมมลพิษ โดยคาดหมายจะเป็นการหมุนข้าราชการระดับ 10 มาลงในตำแหน่งที่ว่าง โดยมีรายงานว่า นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมาเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งถือเป็นกรมใหญ่ที่สุดของ ทส. เป็นต้น ส่วนนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่ถูกตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีทุจริตกล้าไม้ ขณะดำรงตำแหน่ง ผอ. สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ จะยังอยู่ที่เดิม เนื่องจากมีความใกล้ชิดและได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรฯ

ชงอุทยานฯ “ศรีเทพ” มรดกโลก

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า การประชุม ครม.สัญจร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จะรายงานเกี่ยวกับแผนบริหารจัดการอุทยานประวัติศาสตร์ และแหล่งมรดกโลกใน 10 จังหวัด พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 และพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 โดยขณะนี้ ได้ขึ้นบัญชีมรดกโลกแล้ว 2 แห่ง ได้แก่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงอุดรธานี นอกจากนี้ จะรายงานถึงการขับเคลื่อนอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ให้เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของการนำเสนอมรดกโลกต่อยูเนสโก ภายในปลายเดือน ก.ย.นี้ ในส่วนของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี ซึ่งถูกยูเนสโกตีกลับมาให้ทบทวนการจัดทำเอกสารใหม่นั้น วธ.ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดี เร่งวิเคราะห์และพิจารณาข้อมูลให้รอบด้าน เพื่อให้มีเนื้อหาที่มีความสมบูรณ์ ก่อนจะส่งเอกสารเสนอใหม่อีกครั้ง

สธ.ชูโครงการหมอครอบครัว

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินโครงการไทยนิยมยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะระบบสุขภาพที่ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ (พชอ.) ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทั่วประเทศ เน้นที่กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอดำเนินการ 4 กิจกรรม ได้แก่ 1.โครงการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 4.0 2.โครงการมหัศจรรย์ 1,000 วัน 3.โครงการสร้างอาชีพสำหรับผู้ลงทะเบียนรายได้น้อยผ่านการอบรมนวดไทย 5,000 คน 4.โครงการติดตามผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงให้ความสำคัญโครงการหมอครอบครัว ให้ประชาชนเข้าถึงบริการแก้ปัญหาในพื้นที่ มีช่องทางปรึกษาหมอครอบครัวผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือช่องทางอื่นๆที่เข้าถึงได้ง่าย หมอครอบครัวมีหน้าที่เชื่อมประสานหน่วยรับส่งต่อให้การส่งต่อเป็นไปอย่างราบรื่น และติดตามหลังการส่งต่อจนสิ้นสุด ปัญหาความเจ็บป่วย ผลการวิจัยพบการจัดให้มีหมอ ประจำครอบครัว ช่วยลดเวลาการรอคอยในโรงพยาบาล ใหญ่ ลดการตายในทารกแรกเกิดร้อยละ 10-40 ลดค่าเดินทางประชาชนไปโรงพยาบาล คนละ 1,655 บาท และลดค่าใช้จ่ายสุขภาพหลายหมื่นล้านบาท

เห็นด้วยเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการ

วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย?” สำรวจระหว่างวันที่ 11-12 ก.ย. จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,253 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ทางรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นรายละ 100-200 บาท และสามารถเบิกเงินสดไปใช้ได้เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ พบว่า ร้อยละ 65.60 ระบุว่า ยังไม่ได้ลงทะเบียนรับสิทธิ ร้อยละ 34.40 ระบุว่า ลงทะเบียนแล้ว ร้อยละ 80.84 เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะประชาชนผู้มีรายได้น้อยจะได้นำเงินมาใช้จ่ายในส่วนอื่นที่ไม่สามารถใช้บัตรสวัสดิการซื้อได้ มีเพียงร้อยละ 17.80 ที่ระบุไม่เห็นด้วย เมื่อถามว่าการเพิ่มเงินช่วยเหลือจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ในระดับใด ร้อยละ 12.53 ระบุว่า ช่วยได้มาก ร้อยละ 32.08 ค่อนข้างมาก ร้อยละ 25.30 ระบุค่อนข้างน้อย ร้อยละ 14.92 ช่วยได้น้อย และร้อยละ 13.73 ระบุไม่สามารถช่วยกระตุ้นไทยได้เลย ส่วนสิ่งที่อยากเสนอให้รัฐบาลเพิ่มสวัสดิการคือ ค่ารักษาพยาบาล การช่วยเหลืออาชีพด้านเกษตรกรรม ให้เงินส่งเสริมผู้สูงอายุ/ผู้เกษียณอายุ

กระทุ้งอัยการแจงเงื่อนงำคดี นปช.

วันเดียวกัน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงอัยการสูงสุดและผู้เกี่ยวข้องในคดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.ลงบนเฟซบุ๊กว่า คอลัมน์มองรอบทิศ เรื่อง “นายพล” เดินแรง ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งวันที่ 6 ก.ย.2561 ระบุถึงเหตุการณ์วันที่ 3 ส.ค. 2561 ว่า มีนายทหารระดับนายพลเดินทางไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสำนวนคดีสลายการชุมนุมกลุ่มนปช.ปี 2553 โดยนายพลขอให้ผู้ใหญ่ฝ่ายอัยการยุติเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีเกือบ 20 ศพที่ศาลไต่สวนเป็นที่ยุติว่า เสียชีวิตเพราะถูกกระสุนปืนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ให้ทำเป็นสำนวนมุมดำ หาตัวผู้ทำความผิดไม่ได้ จึงไม่ต้องส่งฟ้องศาล เนื้อหาเช่นนี้กระทบต่อความน่าเชื่อถือของอัยการ มั่นใจจะมีการชี้แจงข้อเท็จจริงตอบโต้ แต่จนถึงวันที่ 16 ก.ย. ยังไม่ปรากฏคำชี้แจงใดๆ ทำให้นึกถึงหลักคิดทางกฎหมายว่า “การนิ่งเฉยถือเป็นการยอมรับ” ดังนั้นเรื่องนี้อัยการสูงสุดควรมีคำอธิบาย และจะมอบหมายฝ่ายกฎหมายไปยื่นคำร้องเรื่องนี้ต่อสำนักงานอัยการสูงสุดในสัปดาห์หน้า

ทวงคืบหน้าสินบนโรลส์รอยซ์

นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอทวงถามการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีสินบนโรลส์รอยซ์ ที่ศาลอังกฤษมีคำพิพากษาชัดเจนว่ามีการจ่ายสินบนจำนวนเงิน 1,300 ล้านบาท ให้กับเจ้าหน้าที่ของประเทศไทย ในการจัดซื้อเครื่องยนต์ T800 เพื่อติดตั้งในเครื่องบินโบอิ้ง 777 ที่การบินไทยจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าว ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2534 จนถึง 28 ก.พ.2548 โดย ป.ป.ช.มีคำสั่งคณะกรรมการสืบสวน และรวบรวมข้อมูลในคดีนี้ และตั้งอนุกรรมการไต่สวนคดีสินบนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2560 ผ่านมานับปียังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

“ฝายแม้ว” ร่วม 10 ปี ยังไม่สรุป

ส่วนกรณีการทุจริตในโครงการสร้างฝายแม้วเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรที่ดินและป่าไม้พื้นที่อนุรักษ์เพื่อลดผลกระทบภาวะวิกฤติโลกร้อน หรือ ทุจริตฝายแม้ว ซึ่งมติ ครม.ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เห็นชอบใช้งบประมาณ 7,700 ล้านบาท สร้างฝายแบบผสมผสาน จำนวน 119,600 แห่ง ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้มูลว่าโครงการนี้ส่อทุจริตมีการหักค่าหัวคิวกว่าร้อยละ 50 และ ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุฯไต่สวน เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2552 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเรื่องเป็นคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2552 ตรวจสอบมานานร่วม 10 ปีแล้วเมื่อไหร่จะเสร็จ หรือมีการใช้อิทธิพลทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงนี้คดีนี้หรือไม่ ขอให้ ป.ป.ช.ชี้แจงต่อสังคม ตนจะเสนอกฎหมายต่อสภาฯในสมัยหน้า ให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เจตนาปล่อยปละละเลยให้คดีทุจริตหมดอายุความ ต้องได้รับโทษ ทั้งทางแพ่งและอาญา จะเป็นมาตรการหนึ่งในการเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทำหน้าที่ตามกฎหมาย