การประชุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ หลังปลดล็อกการเมือง ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนหัวหน้าพรรค จากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกโฟกัสมากที่สุด ในสถานการณ์ที่ต้องยอมรับว่าประชาธิปัตย์อยู่ในช่วงขาลง การปรับโครงสร้างพรรคจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นในลำดับต้นๆ
จะว่าไปแล้ว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผ่านสนามการเมืองมาพอสมควร กระดูกแข็งในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเคยเป็นนายกฯในช่วงที่มีวิกฤติการเมืองมาแล้ว ถ้าจะเปรียบชั้นนักการเมืองในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา อภิสิทธิ์ ก็ถือว่าไม่ธรรมดาคนหนึ่ง
ในพรรคประชาธิปัตย์มีบุคคลที่มีชื่อเสียงมานาน นับจากนายควง อภัยวงศ์, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, พิชัย รัตตกุล, ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, สุเทพ เทือกสุบรรณ, พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ โดยเฉพาะ อดีตนักการเมืองในภาคใต้ แทบจะท่องรายชื่อได้ทุกจังหวัด
วิกฤติครั้งนี้ไม่เหมือนกับวิกฤติทุกครั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ไม่สามารถชิงความได้เปรียบเหมือนทุกครั้ง พูดกันตรงๆก็คือการยึดอำนาจมีเป้าหมายทางการเมืองในระยะยาว ไม่ใช่แค่ปีสองปี แต่เป็น 20 ปี
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในเป้าหมาย แต่มีบุคคลที่เป็นเป้าหมายและเดินไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน อยู่แล้ว อย่างน้อยๆมี สุเทพ เทือกสุบรรณ และอดีต กปปส.ที่อยู่ในประชาธิปัตย์
ข่าวการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีมาตั้งแต่การกลับเข้าพรรคของอดีต กปปส. หรือการตั้งพรรคการเมืองของ สุเทพ เทือกสุบรรณ มีชื่อของแคนดิเดตหัวหน้าพรรค อาทิ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่ล่วงลับ ชื่อของ ดร.ศุภชัย พาณิชย์ภักดิ์ ต่อมาได้รับการปฏิเสธไปเรียบร้อย จนกระทั่งมาแรงในช่วงนี้ มีชื่อของ อลงกรณ์ พลบุตร อดีต ส.ส.เพชรบุรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เข้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค
...
แม้แต่ อภิสิทธิ์ เอง ก็แบ่งรับแบ่งสู้ พร้อมจะให้คนนอกเข้ามาร่วมเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค หรือให้มีการโหวตเลือกผ่านออนไลน์ ในขณะเดียวกันบรรดาลิ่วล้อออกมาปูด มีคนนอกอยากจะเข้ามาครอบงำพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ดังนั้น อาการใน พรรคประชาธิปัตย์ จึงอยู่ในช่วงของหัวเลี้ยวหัวต่อด้วยประเด็นต่อไปนี้คือ จะเปลี่ยนหัวหน้าพรรคสำเร็จหรือไม่ จะจับมือกับ พรรคเพื่อไทย เพื่อตั้งรัฐบาลในอนาคตได้หรือไม่ หรือจะยอมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯต่อไปหรือไม่
การที่กลุ่มญาติเหยื่อพฤษภาทมิฬไปยื่นหนังสือถึงพรรคประชาธิปัตย์ไม่ให้จับมือกับทหารในการตั้งรัฐบาลในอนาคตก็น่าคิด บนทางสองแพร่งของประชาธิปัตย์ ไม่ใช่แค่จะเลือกใครเป็นหัวหน้าพรรค แต่จะก้าวข้ามความเก่าแก่ของพรรคประชาธิปัตย์ไปได้อย่างไรมากกว่า.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th