บางอย่างก็ใช่ บางอย่างก็ไม่ใช่

ก่อนจะไปถึงวันเลือกตั้ง หากพรรคการเมือง นักการเมืองให้ความสำคัญกับแนวนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาของชาติและประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง

นั่นแหละคือ หัวใจสำคัญของความเป็นนักการเมือง

ที่เห็นและเป็นอยู่นั้น ดูเหมือนว่าบริบทมุ่งไปที่การเอาชนะการเลือกตั้งเป็นเรื่องหลัก การหาเสียง หาคะแนนจึงเป็นเรื่องของวาทกรรมการเมืองมากกว่า

เมื่อหลักคิด แนวปฏิบัติเป็นไปในลักษณะนี้ การเมืองไทยจึงมีลักษณะการต่อสู้ด้วยเดิมพัน การได้เป็นรัฐบาลมากกว่าการเข้าไปทำงานให้เกิดประโยชน์จริงๆ

แต่ละพรรคไม่เคยนำนโยบายมาต่อสู้กันเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ว่า พรรคไหนคิดอย่างไร จะทำให้อะไรให้ประเทศและพวกเขาบ้าง

มีข้อมูลที่น่าสนใจซึ่งเปรียบเทียบระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในเชิงโครงสร้างและการบริหารประเทศมีอยู่ 5 ข้อ

จำนวนประชากรไทยมี 65 ล้านคน ญี่ปุ่นมี 130 ล้านคน

กระทรวงของไทยมี 22 แห่ง ญี่ปุ่นมี 12 แห่ง

รัฐมนตรีของไทยมี 36 คน ญี่ปุ่นมี 18 คน

จำนวนข้าราชการไทยมี 2 ล้านคน ญี่ปุ่น 5 แสนคน

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไทยมี 4 แสนคน ญี่ปุ่นมี 3 ล้านคน

ข้อมูลนี้ทำให้เห็นอะไรและบ่งบอกว่า เกิดอะไรขึ้นในการบริหารประเทศ ซึ่งชัดเจนที่สุด โครงสร้างประเทศคือ ไม่มีการกระจายอำนาจอย่างเป็นจริงเป็นจัง ของไทยนั้นแม้จะมีองค์กรบริหารท้องถิ่น แต่เป็นเพียงการ “ซ่อนรูป” เท่านั้น

คือเหมือนจะใช่แต่ไม่ใช่...

นั่นทำให้เกิดปัญหาความทับซ้อนในเรื่องอำนาจ งบประมาณ ส่วนกลางยังมีอำนาจทั้งด้านการปกครอง การบริหารและงบประมาณ

ญี่ปุ่นมีประชากรมากกว่าไทยถึง 2 เท่า แต่เขามีกระทรวงน้อยกว่า มีข้าราชการทั้งระบบน้อยกว่า มีรัฐมนตรีน้อยกว่า

แต่เขามุ่งเน้นไปที่การกระจายอำนาจ ทำให้มีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมากถึง 3 ล้านคน แต่ของไทยมีเพียงแค่ 4 แสนคนเท่านั้น

...

ข้าราชการส่วนกลางจึงมีมากกว่าทั้งที่อยู่ในส่วนกลางและส่งไปอยู่ในระดับภูมิภาค ท้องถิ่น ไม่ใช่ข้าราชการท้องถิ่นแท้จริงแถมยังไปกันทุกกระทรวง

เมื่อระดับท้องถิ่นไม่สามารถบริหารกันเองได้ ไม่มีงบประมาณเป็นของตัวเอง ไม่มีข้าราชการท้องถิ่นจริงๆ ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง

ปัญหามันเลยกลายเป็นเรื่องอย่างที่ปรากฏให้เห็นกันอยู่

ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างตำรวจ ซึ่งเป็นปัญหาต้นๆของประเทศมีความพยายามที่จะปฏิรูปด้วยข้อเสนอให้กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เพื่อให้แต่ละจังหวัดไปจัดการกันเองก็มีเสียงคัดค้าน

การสอบสวนขอให้มีการจัดระบบใหม่ ให้หน่วยงานอื่น หรือแยกออกไปจากตำรวจก็ไม่ยอมกัน อ้างว่าเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ

การขอแยกหน่วยงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตำรวจก็ไม่ยอม อ้างว่าต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ทำไปทำมาก็ทำอะไรไม่ได้

ที่ตรงกันอีกเรื่องทั้งตำรวจ-ทหารคือ ระดับ “นายพลโพล” เพราะมีการตั้งระดับนายพลจนแทบจะเดินชนกันตาย แต่ไม่มีงานให้ทำ อ้างว่าแก้ปัญหาการบริหารบุคคล

ลองคิดดูว่าต้องใช้ “งบประมาณ” แต่ละปีมากแค่ไหน

แทนที่จะนำเงินจำนวนนี้ไปให้ผู้น้อย หรือนำไปซื้ออาวุธจะได้ประโยชน์มากมาย.

“สายล่อฟ้า”