จากผลการสำรวจความเห็นของประชาชน โดยสำนักโพลต่างๆ ที่ผ่านมา พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ต้องการนักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถ และความซื่อสัตย์สุจริต เข้าสู่การเมืองในการเลือกตั้งคราวหน้า และฝ่ายรัฐก็ตอบสนองด้วยการสร้างกฎกติกาใหม่ๆ เพื่อกำกับดูแลพฤติกรรมของนักการเมือง และพรรคการเมืองที่จะลงเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน มีบทบัญญัติระบุว่ากฎหมายการบริหารพรรคการเมือง จะต้องกำหนดให้มีการเปิดเผยและตรวจสอบได้ และเปิดโอกาสให้สมาชิกอย่างกว้างขวาง ในการกำหนดนโยบายพรรค และการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งยังต้องกำหนดมาตรการ ให้พรรคสามารถดำเนินการโดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำ โดยผู้ที่มิใช่สมาชิกพรรค

แม้จะมีเป้าหมายตรงกัน คือต้องการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วม และมีความเป็นเจ้าของพรรค เป็นพรรคของมวลสมาชิก หรือพรรคมวลชน แต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เน้นเรื่อง “ความเป็นประชาธิปไตยในพรรค” โดยกำหนดว่าการจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ ข้อบังคับของพรรค และมติพรรค ต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย

กฎหมายพรรคการเมืองที่ออกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีบทบัญญัติห้ามมิให้พรรคปล่อยให้คนที่มิใช่สมาชิก เข้าไปจุ้นจ้านแอบบริหารพรรคอยู่หลังม่าน ในลักษณะที่เป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมทางการเมืองของพรรค ทำให้พรรคหรือสมาชิกขาดความอิสระ มีบทลงโทษถึงยุบพรรค ส่วนผู้ที่แอบจุ้นจ้านพรรค มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ถึง 10 ปี

น่าสงสัยว่าการเขียนกฎหมายในลักษณะนี้ เปิดช่องให้หลีกเลี่ยงกฎหมาย หรือให้ตีความแบบศรีธนญชัยได้หรือไม่ เนื่องจากกฎหมายห้าม “ผู้ที่มิใช่สมาชิก” เข้าไปจุ้นจ้านครอบงำพรรค ถ้าบุคคลนั้นแก้ปัญหาด้วยการสมัครเป็นสมาชิกพรรค จะสามารถแอบบริหารจัดการพรรค จากหลังม่านได้หรือไม่ ขณะนี้ดูเหมือนว่าจะมีการพยายามเลี่ยงกฎหมายกันอยู่

...

ตัวอย่างเช่นการเดินสายพบปะนักการเมือง และประชาชน ของกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่ง เพื่อชักจูงให้เป็นสมาชิกพรรค พร้อมทั้งชี้แจงนโยบายของรัฐบาลที่ประชาชนชื่นชอบ ในขณะยังบังคับใช้คำสั่ง คสช. ทั้งเรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหว บางคนตีความว่าไม่ผิดเพราะเป็นกลุ่ม ไม่ใช่พรรคการเมือง

อีกตัวอย่างหนึ่งคือการบังคับให้พรรคการเมือง ดำเนินการให้สมาชิกพรรคเลือกผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค แต่พรรคส่วนใหญ่อาจทำไม่ทัน บางพรรคอาจ “ดูด” อดีต ส.ส.จากพรรคอื่นๆ เตรียมไว้แล้ว เมื่อกฎหมายบังคับให้ต้องทำไพรมารี จึงอาจต้องทำแค่เป็นพิธีกรรมการเมือง โดยให้สมาชิกเลือกผู้สมัคร ส.ส.ที่พรรคเตรียมการไว้แล้ว แบบนี้จะทำได้หรือไม่?