เอาให้เหมาะ เกาะอำนาจต่อ

ล่าสุดมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้ทูลเกล้าฯกฎหมายลูกสำคัญ 2 ฉบับคือ พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ส. และ ส.ว.แล้ว

นั่นก็หมายความว่ากระบวนการนำไปสู่การเลือกตั้งใหญ่เดินไปข้างหน้าอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในท่วงทำนองที่ควรจะเป็นไป

ปลายเดือน มิ.ย.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกฯให้นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมกับตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง

จะมีเงื่อนไขอะไรบ้างน่าสนใจไม่น้อย

การเลือกตั้งนั้นน่าจะเกิดขึ้น 2 ส่วนคือการเลือกตั้ง ส.ส. และการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งมีความสำคัญที่สอดรับกันอย่างแยกไม่ออก

ตามไลน์ที่ควรจะเป็นนั้นหากมีการเลือกตั้งใหญ่ ก.พ.ปี 62 การเลือกตั้งท้องถิ่นน่าจะเกิดขึ้นถัดไปราว พ.ค.ปี 62 คือห่างกัน 3 เดือน

ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นน่าจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งใหญ่ เพื่อเป็นการซ้อมใหญ่ก่อนที่จะไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส. อย่างน้อยก็เพื่อดูว่าบรรยากาศจะเป็นอย่างไร ฐานเสียงเก่าจะคงอยู่มากน้อยแค่ไหน

เมื่อ คสช.อยู่บนฐานอำนาจมา 4 ปีกว่าๆ

แต่ดูจากการดำเนินการด้านกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นยังไม่เรียบร้อย เป็นร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเปิดรับฟังความเห็นมีทั้งหมด 141 มาตรา

ขั้นตอนต่อไปเมื่อรับฟังความเห็นแล้ว กกต.จะนำมาพิจารณาอีกครั้ง จากนั้นจะส่งให้ สนช.พิจารณาราวเดือน ก.ค.61 ซึ่งจะต้องใช้เวลา 60 วัน ก่อนจะทำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งใช้กรอบเวลาอีก 90 วัน

คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในเดือน ธ.ค.2561 นอกจากนั้น ยังมีกฎหมายเลือกตั้งอีก 5 ฉบับ ซึ่งจะต้องดำเนินให้เสร็จ

เหตุผลตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่จะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลือกตั้ง ส.ส.ได้เพราะเงื่อนไขเวลาไม่เอื้ออำนวยหากรัฐบาลประกาศเลือกตั้งใหญ่ ก.พ.62

...

ตรงนี้เป็นเพียงเงื่อนไขทางกฎหมาย

นักวิชาการในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่น ได้ประเมินว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับจะต้องเลื่อนออกไป 3 เดือนหลังจากเลือกตั้ง ส.ส.คาดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ค. ปี 62 ซึ่งไม่เกินความคาดหมายกันไว้ล่วงหน้า

เขาให้เหตุผลออกมาเป็น 2 ประเด็น

1. แนวทางการสืบทอดอำนาจจากนายกฯคนนอกยังมีปัญหา จากการสนับสนุนของหลายฝ่ายที่มีหลายปัจจัย ทำให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ คสช.วางกรอบไว้ เนื่องจากฐานการเมืองบางพื้นที่ที่ทาบทามไว้ยังไม่ตอบรับ ทำให้ ส.ส.ยังไม่ถึงเป้าที่วางไว้ 126 เสียง

2. ผู้บริหารท้องถิ่นที่รักษาการมาอย่างยาวนานเกือบครบ หรือเกิน 1 วาระ ถือว่าอาจบรรลุข้อตกลงในการรับผลประโยชน์ร่วมกัน เนื่องจากไม่ต้องหาเสียงเลือกตั้งเพราะทำหน้าที่ยาวนานพูดง่ายๆว่าผู้บริหารเหล่านี้กลายเป็นกลไกของ คสช.ไปแล้ว

เท่ากับว่า คสช.มีผู้บริหารท้องถิ่นครบทั้งระบบ และส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานเสียงการเมืองไปโดยปริยาย

การจัดทำกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ล่าช้ามาถึงวันนี้ก็เพราะรัฐบาลไม่ได้เร่งรีบ แต่ต้องการให้เชื่อมโยงกับสภาพความเป็นจริงทางการเมืองมากกว่า

เป็นความได้เปรียบเชิงกลเพื่อเป้าหมายที่ชัดเจน.

“สายล่อฟ้า”