“บิ๊กป้อม” ให้รอลุ้นชี้ขาดปลดล็อก โบ้ยไม่รู้ “พลังประชารัฐ” เนื้อหอม อดีต ส.ส.รุมตอม โต้เสียงแข็งยุค คสช.ช็อปปิ้งแหลกซื้ออาวุธพุ่ง 7 เท่า “วิษณุ” ถกร่วม กกต.-กรธ.-สนช.-กฤษฎีกา ชงนายกฯ และ คสช.เคาะทางเลือกใช้ พ.ร.บ.-พ.ร.ก. หรือ ม.44 ผ่าปมไพรมารีโหวต เปิดทางพรรคประชุมใหญ่ เฟ้น หน.สาขาพรรค แบ่งเขตหย่อนบัตร และบริหารจัดการกรอบเวลาหลังกฎหมายลูก ส.ส.และ ส.ว.บังคับใช้ พรรคการเมืองรุมถล่มยับ คสช.วางกับดักประเทศ “อ๋อย” สับขุดหลุมพรางขวางประชาธิปไตย มองข้ามช็อตอำนาจพิเศษแทรกแซงผลลงคะแนนค้านสายตาประชาชน พท.ชูธงเข้ามาแก้ รธน. โละยุทธศาสตร์ชาติ-แผนปฏิรูป “มาร์ค” ฉะกรรมการแปลงร่างเป็นผู้เล่น ซ่อนเร้น ม.44-250 ส.ว.ป่วนการแข่งขันไม่สุจริตเที่ยงธรรม “ธนาธร” กร้าวอาสาหยุดยั้งรัฐประหารฉุดรั้งสังคมไทย
แม้พรรคการเมืองพยายามเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกคำสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองทันที เพื่อเตรียมการเลือกตั้งได้ทันตามกำหนด แต่รัฐบาลเพิ่งขยับหารือรอบแรกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้รอร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว.มีผลบังคับใช้แล้วค่อยหารือกับพรรคการเมือง
“บิ๊กป้อม” ให้รอลุ้นจะปลดล็อกอะไร
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 มิ.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการเป็นประธานพูดคุยกับพรรคการเมืองในช่วงปลายเดือน มิ.ย. ว่า จะพูดคุยกันครั้งเดียวจบ หรือต้องมีครั้งต่อไปนั้น คงต้องดูก่อนว่าจะเอาอย่างไร และต้องรอ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ด้วย หลังการพูดคุยจะทราบชัดเจนว่าจะปลดล็อกเรื่องอะไรบ้าง เมื่อกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว จะพูดคุยกับพรรคการเมืองอีกครั้ง
...

ไม่มีเอี่ยวเกมดูดพลังประชารัฐ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายคนสนใจพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะนายอนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส.ชัยนาท พรรคไทยรักไทย ประกาศจะมีข่าวดีเร็วๆนี้ รวมถึงยังมีกลุ่มของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมาสนใจจะเข้าร่วม ล่าสุดมีการตกลงชัดเจนว่าจะมาพูดกันหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตกลงกับใคร ตนไม่ได้อยู่พรรคพลังประชารัฐ จะไปรู้ได้อย่างไร ใครบอกว่าเป็นพรรคของ คสช.ใครพูดอย่างไรไปถามคนนั้น ใครพูดว่าจะมีข่าวดีก็ไปถามคนนั้นไม่ต้องมาถามตน เมื่อถามว่าในฐานะเป็นพี่ใหญ่ใน คสช. ทราบเรื่องดังกล่าวหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่าไม่ทราบ ตนจะเป็นพี่ใหญ่ได้อย่างไร แค่อายุมากกว่าเขาเท่านั้นเอง เมื่อถามถึงกรณีที่มีนักการเมืองหลายคนออกมาระบุว่า สมาชิกในพรรคถูกคนของ คสช.ดูด พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ดูดที่ไหน ใครดูด ใครทาบทาม ตนไม่ทราบ ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนอะไรเลย
โต้ยุค คสช.ช็อปอาวุธเพิ่ม 7 เท่า
เมื่อถามถึงกรณีที่สำนักข่าวเอพีออกมาระบุว่าในช่วงยุค คสช. มีการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มากขึ้นถึง 7 เท่า พล.อ.ประวิตรกล่าวปฏิเสธว่า ไม่มี ไม่จริง เราไม่ได้ซื้อจากอังกฤษ
“กอบศักดิ์” เขินต่อเก้าอี้สมัยหน้า
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวในงาน “MEET the PRESS” หัวข้อ “ปฏิรูปแนวใหม่ ร่วมคิดร่วมใจ สร้างไทยไปด้วยกัน” ว่า เวลา 8 เดือนที่เหลือ รัฐบาลต้องขับเคลื่อนการ ปฏิรูปเรื่องเร่งด่วนตามที่นายกฯกำชับให้แก้จน แก้โกง ลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนการปฏิรูปกระทรวงกลางเดือน มิ.ย. ทั้ง 20 กระทรวงต้องส่งแผนมา ขณะที่กฎหมายสำคัญของรัฐบาลจะเร่งเข้าสู่ที่ประชุมสนช.ให้เร็วผ่านระบบฟาสต์แทร็ก ไม่ให้กฎหมายสำคัญตกหล่น เมื่อถามว่ามีใครมาจีบเป็นรัฐมนตรีสมัยหน้าหรือยัง หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯต่อหลังเลือกตั้ง นายกอบศักดิ์ตอบว่าต้องถามนายกฯสนใจให้ตนไปทำงานด้วยต่อหรือไม่ แต่ตอนนี้เร็วเกินไปที่จะพูด

“วิษณุ” ถกทีมเตรียมแนวจัดคูหา
เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องอาทิ กกต. นำโดยนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.และ กกต.อีก 3 คน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธาน กรธ. นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรธ. นายวิทยา ผิวผ่อง สนช. และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกาและตัวแทน คสช. เข้าร่วมการประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง
ชง 3 วิธีให้นายกฯ-คสช.คลายล็อก
ต่อมาเวลา 18.30 น. นายวิษณุเปิดเผยภายหลังประชุมว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุป 4 ข้อ ที่จะเสนอ คสช.และนายกฯพิจารณาในการแก้ไขปัญหาได้แก่ 1.จะทำอย่างไรเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ของพรรคอะไรที่ทำได้หรือไม่ได้ 2.คำว่าหัวหน้าสาขาพรรคที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายขั้นตอนคือ การประชุมใหญ่ ไพรมารีโหวต การคัดเลือกรับสมัครผู้รับเลือกตั้งที่มีหัวหน้าสาขาพรรคอยู่ จะทำอย่างไรในขณะที่ยังไม่สามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้ 3.การแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่จะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะกลายเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง จะยอมให้ทำได้ขนาดไหน 4.การบริหารจัดการ กำหนดเวลาต่างๆ ที่อาจจะมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาจไปผูกกับการประกาศใช้กฎหมาย 2 ฉบับ ผูกการเลือกตั้งท้องถิ่น ผูกกับ กกต.ชุดใหม่ พร้อมกับเสนอ 3 ทางออกคือ พ.ร.ก. พ.ร.บ. และมาตรา 44 เพื่อคลายปัญหาที่ติดขัด คลายล็อกแต่ไม่ใช่ปลดล็อก เพราะหากปลดล็อกไปทั้งหมดจะสะดุดบางอย่างได้ อย่างไรก็ตาม หากจะใช้ พ.ร.ก. เพื่อแบ่งเขตโดยเฉพาะไม่สามารถทำได้ หากมีสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง สามารถออกเป็น พ.ร.ก. โดยพ่วงเรื่องการแบ่งเขตเข้าไปได้
ไทม์ไลน์ ก.พ.62 อาจมีตัวแปรบวกลบ
นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องการที่ให้พรรคหาสมาชิกจะคลายล็อกให้ แต่ไม่ใช่ปลดล็อกเพื่อให้หาสมาชิก ถ้าคลายล็อกแล้วพรรคการเมืองหาสมาชิกไม่ได้ก็ช่วยไม่ได้ เมื่อถามว่ายืนยันหรือไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น ใน ก.พ.62 นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่กล้าพูด เป็นความคาดหมายที่บริหารจัดการได้ หากมีตัวแปรบางอย่างที่สมเหตุ สมผล สมจริง ก็บวกลบกันบ้าง แต่ต้องอธิบายได้ สำหรับเรื่องไพรมารีโหวต ถ้าต้องมีตามเดิมจะมีปัญหาอะไร และแก้ไขอย่างไรและถ้าไม่มีต้องทำอะไรบ้าง

พท.สับไร้ศักดิ์ศรีแอบอ้างหาเสียง
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเผยแพร่เอกสารคำปฏิญาณตนของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ มีเจตนาแอบแฝงอย่างไร กองทุนหมู่บ้านถูกสร้างขึ้นในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย ประสบความสำเร็จอย่างมาก หลายประเทศนำไปเป็นต้นแบบพัฒนาประเทศ หนี้เสียหรือเอ็นพีแอลน้อยมากเมื่อเทียบกับการปล่อยกู้ในสถาบันการเงินทั่วไป สะท้อนว่าประชาชนมีศักยภาพในการบริหารจัดการกองทุนและควบคุมด้วยตนเอง แม้ว่าจะถูกโจมตีว่าเป็นนโยบายประชานิยม แต่หลายปีที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลไหนกล้ายกเลิก ไม่อยากให้นำกองทุนหมู่บ้านไปฉกฉวยหาประโยชน์หาเสียงล่วงหน้า การพูดว่าเราจะประสานพลังประชารัฐ ตรงกับชื่อพรรคการเมืองและมีบุคคลที่สื่อมวลชนคาดว่าเป็นแกนนำจัดตั้งพรรคนี้ ไปอยู่ในคำกล่าวปฏิญาณตนของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองน่าจะไม่เหมาะสม รัฐบาล คสช.ต้องแยกแยะให้ออก จะบอกว่าบังเอิญเป็นคำที่ตรงกันคงฟังยากหรือไม่ ถ้าจะหาเสียงอะไรควรหาเสียงจากผลงานที่คิดขึ้นมาเอง อย่าไปฉกฉวยเกาะกระแสหาประโยชน์เล็กๆน้อยๆหาเสียงล่วงหน้าโดยแอบอ้างนโยบายของคนอื่น มาเป็นของตัวเอง จะมีศักดิ์ศรีกว่า
กาบัตร ก.พ.62 จริงรีบผ่อนกฎเหล็ก
นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ยืนยันชัดเจนจะเลือกตั้ง ก.พ.62 แต่วันนี้พรรคการเมืองยังไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆได้ ติดล็อกคำสั่ง คสช. รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ทุกอย่างติดขัดไปหมด ต่อให้ปลดล็อกพรรคการเมืองก็ยังทำไพรมารีโหวตไม่ได้ ที่กำลังจะแก้ไขปัญหากันยังไม่พอ ถ้าผู้มีอำนาจจริงใจจะให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นตามที่นายกฯพูดไว้ ถึงเวลาปลดล็อกแก้ไขข้อติดขัดต่างๆให้พรรคการเมืองได้เตรียมตัวได้แล้ว ไม่เช่นนั้นนายกฯจะต้องผิดคำพูดโดยเลื่อนการเลือกตั้งออกไป คสช.มีอำนาจมาตรา 44 จัดการได้ทุกอย่าง ฝ่ายการเมืองให้ความร่วมมือมาตลอด ไม่ควรต้องกลัวอะไรให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้แล้ว

“มาร์ค” ย้ำแบ่งเขตช้าถ่วงไพรมารี
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถ้า กกต.หรือ กรธ.ทำความกระจ่างให้ คสช.ทราบถึงสภาพที่ยังไม่ปลดล็อก และมีบทบัญญัติของกฎหมายบางมาตราที่ยังเป็นอุปสรรคการเดินไปสู่การเลือกตั้งอย่างราบรื่น อย่างน้อย คสช.ต้องรู้แล้วว่ามีบางเรื่องต้องปรับแก้ แล้วให้ไปพิจารณาสอดคล้องกับเรื่องที่จะปลดล็อกหรืออนุญาตให้ทำกิจกรรมเรื่องไหน อย่างไร เมื่อไหร่ พรรคการเมืองคงมีข้อคิดเห็นข้อเท็จจริง มุมมองเพิ่มเติมด้วย ส่วนกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ระบุว่า ตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ผ่อนปรนไพรมารีโหวตให้แล้วว่าใครมีสมาชิกในจังหวัดก็ทำได้ทุกเขต ตนไม่เห็นด้วยกับนายมีชัยที่บอกว่าก็ทำไปเพราะจะทำได้อย่างไร เนื่องจากคนที่จะตัดสินใจไปลงสมัครที่ไหน ต้องรู้ว่าเขตเลือกตั้งอยู่ที่ไหน ถ้าการแบ่งเขตเลือกตั้งเดินไม่ได้เลย ต้องไปรอให้กฎหมายบังคับใช้ไปแล้ว 90 วัน ทุกอย่างจะกระชั้นชิด
ชพน.โลกสวยนับสัญญาณบวก
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า ตามที่นายกฯมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม เป็นประธานประชุมครั้งแรกกับพรรคการเมือง กกต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง เป็นนิมิตรหมายที่ดีและถือว่านับถอยหลังสู่การเลือกตั้งที่จะเป็นสัญญาณบวกของประเทศ หวังว่าทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือ เนื้อหาคือประเด็นการปลดล็อกทางการเมืองบางส่วน เช่น การให้พรรค การเมืองหาสมาชิกพรรคได้ก่อน จะเป็นการหารือที่เป็นประโยชน์ต่อการเลือกตั้งสำหรับทุกฝ่าย ไม่ว่า พรรคใหม่หรือเก่า และประชาชน เรายินดีให้ความร่วมมือเต็มที่ให้ได้ข้อสรุป
อนาคตใหม่ย้ำไม่ร่วมสังฆกรรม
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงการนัดประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม นั่งหัวโต๊ะสิ้นเดือน มิ.ย.ว่า คงไม่ไป การจัดการเลือกตั้งเป็นเรื่องเจตจำนง 90 วันสามารถทำได้ไม่ต้องรอถึงเดือน ก.พ.62 เป็นเรื่องความตั้งใจมากกว่า เจ้าหน้าที่รัฐหรือ กกต.อยากทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือการคุกคามสมาชิกพรรคที่เข้ามาร่วมประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ขอยืนยันว่าตนไม่ใช่ภัยความมั่นคงต่อประเทศ แต่เป็นภัยความมั่นคงสำหรับคนที่ไม่ต้องการประชาธิปไตย

นักการเมืองรุมถล่มยับ คสช.
เมื่อเวลา 13.00 น. ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเสวนาในหัวข้อ “อนาคตประชาธิปไตยไทย : ข้ามพ้น กับดัก ความหวัง?” เนื่องในวาระคล้ายวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2561 มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ร่วมวงเสวนา
“อ๋อย” ฉะอำนาจพิเศษเเทรกเลือกตั้ง
นายจาตุรนต์กล่าวว่า กับดักที่เรากำลังเจอเป็นกับดักที่ดักการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย และความขัดแย้งในอนาคต ผ่านเงื่อนไขที่ถูกปลูกฝังมาตลอด 4 ปีว่าสังคมไทยขาดผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ได้ ในอนาคตยังไม่มีหลักประกันเรื่องที่ต้องแก้ไข อาทิ การทำผิดกฎหมายแต่ไม่มีการลงโทษ หรือในอนาคตอาจมีการร่วมมือกันของหลายฝ่าย สร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารอย่างเดิมอีก ช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาที่สำคัญในระบบเลือกตั้งคือประชาชนให้ความสำคัญกับนักการเมือง เลือกตามนโยบายพรรค อาจเกิดขึ้นยากมาก เพราะมีกับดักอำนาจของ คสช.ที่อาจแทรกแซงการเลือกตั้งอย่างไรก็ได้รวมทั้งมี ส.ว.250 คน อาจเป็นไปได้ว่าเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาผลลัพธ์ที่ตามมาอาจไม่ตรงกับสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ ขณะที่การมียุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป ที่กำหนดให้รัฐบาลหน้าทำตาม หากไม่ทำตามนำไปสู่การถอดถอนหรือลงโทษทางอาญา คสช.ได้วางแผนล่วงหน้าไปแล้วโดยวิธีการดังกล่าว
ชูธงแก้ รธน.โละยุทธศาสตร์-ปฏิรูป
“ดังนั้นต้องกำหนดวันเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เมื่อรู้วันเลือกตั้งแน่นอนเเล้ว 3 เดือนก่อนการเลือกตั้ง เสนอให้นายกฯและ ครม.ลาออก คสช.ต้องงดใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่กระทบต่อการเลือกตั้งทั้งหมดและคำสั่ง คสช.ที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ขณะที่การป้องกันไม่ให้ คสช.สืบทอดอำนาจ พรรคเพื่อไทยจะยืนยันไม่สนับสนุนคนนอกเป็นนายกฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อคัดค้านขัดขวางการที่ คสช.สืบทอดอำนาจ เข้าใจดีว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญเราจะปฏิตามอย่างเคร่งครัด แต่จะชูธงแก้รัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับแผนปฏิรูปจะเสนอนโยบายที่สอดคล้องกับแผนเหล่านั้น แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เราจะยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป” นายจาตุรนต์กล่าว
“มาร์ค” เฉ่งซ่อนกลใช้ ม.44-250 ส.ว.
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การกลับสู่ประชาธิปไตยและรักษาประชาธิปไตยไว้มีกับดักหลายขั้นตอน คำสั่ง คสช.ทั้งหลายทำให้ไม่สามารถเดินตามโรดเเม็ป คำสั่งห้ามทำกิจกรรมการเมือง การไม่อนุญาตให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองได้ตามปกติ เกิดคำถามว่าเราจัดการเลือกตั้งที่มีมาตรฐานได้จริงหรือ เนื่องจากมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลด กกต.มาแล้ว ทำให้เกิดคำถามว่า กกต.ที่รักษาความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง จะมีอิสระเป็นกลางได้มากน้อยแค่ไหน ผู้มีอำนาจส่งสัญญาณชัดเจนทุกวัน จากกรรมการห้ามมวยมาเป็นผู้เล่นด้วย จึงเป็นกับดักว่าเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งจะสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ กับดักต่อมาคือมี ส.ว.250 ที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งรออยู่ แต่กลับมีอำนาจลงคะแนนเลือกหัวหน้ารัฐบาล อาจใช้อำนาจสวนทางกับความต้องการของประชาชนผู้เลือกตั้ง
ท้าเเข่งขันเสรี-สุจริต-เท่าเทียม
“ท่ามกลางกับดักเหล่านี้ เราข้ามพ้นได้ยังมีความหวังอยู่ ขอให้ คสช.แสดงความชัดเจนต่อประชาชนว่าจะเอาอย่างไรต่อไป หากจะลงเลือกตั้งต้องแข่งขันอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมกับคนอื่น หากไม่เท่าเทียม ขอให้เลิกพูดเรื่องธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยไปได้เลย จุดยืนประชาธิปัตย์คือการเลือกหัวหน้ารัฐบาลต้องยึดโยงกับเสียงข้างมากในสภา ส.ว.ไม่ ควรแทรกแซงความต้องการของประชาชนส่วนมาก ขณะที่แผนการปฏิรูปที่ออกมา สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ แต่ยุทธศาสตร์กลับยังไม่ประกาศออกมา พรรคประชาธิปัตย์จะยังคงเสนอนโยบายที่เข้ากับการพัฒนาของประเทศ โดยมีประชาชนเป็นผู้ชี้ทิศทาง ขจัดอุปสรรคที่ยังเหลืออยู่” นายอภิสิทธิ์กล่าว

“ธนาธร” อาสาหยุดยั้งรัฐประหาร
นายธนาธรกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2475 มีเพียง 24 ปี 310 วันเท่านั้น ที่ประเทศไทยมีนายกฯจากการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่ คิดเป็นร้อยละ 29 ใน 86 ปีของการพัฒนาประชาธิปไตยไทยเท่านั้น แสดงให้เห็นว่ากับดักการทำรัฐประหารมีมานานแล้ว ช่วงชีวิตตน 40 ปีมีการพยายามรัฐประหาร 5 ครั้ง สำเร็จ 3 ไม่สำเร็จ 2 ครั้ง แต่ไม่เคยมีผู้นำรัฐประหารคนใดถูกนำตัวมาลงโทษ ขณะที่การรัฐประหารส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย คนร้อยละ 5 มีทรัพย์สินรวมกัน 3 ล้านล้านบาท เท่ากับงบประมาณของประเทศ ชัดเจนตั้งแต่อดีตว่าสิ่งที่ฉุดรั้งการพัฒนาสังคมไทยคือการทำรัฐประหารโดยคนกลุ่มน้อย พรรคอนาคตใหม่ขอปวารณาตัวหยุดกับดักเหล่านี้ ส่งต่ออนาคตที่ดีให้ลูกหลานต่อไปการพัฒนาประเทศไทยคือการทำให้สังคมมีความเชื่อต่อระบอบรัฐสภาอีกครั้ง
ปลุก ส.ส.รวม 376 เสียงตั้งรัฐบาล ปชต.
นายธนาธรกล่าวว่าการทำให้ประชาธิปไตยแข็งแกร่ง ต้องสร้างฉันทามติโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ข้อเสนอของตนคือ ส.ส. 500 คน ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง หากต้องการนำสังคมออกจากความขัดแย้ง การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้พรรค การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยต้องรวมตัวกันให้ได้กว่า 376 เสียง เพื่อเป็นรัฐบาล ก่อนจะเสนอทำประชามติ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต้องมีตัวแทนที่มาจากประชาชน ก่อนทำประชามติรองรับรัฐธรรมนูญฉบับที่จะร่างขึ้นใหม่ จึงทำให้ประเทศไทยไม่กลับไปเกิดปัญหาลักษณะเดิมอีก
“ไพบูลย์” ชูธรรมาธิปไตย
นายไพบูลย์กล่าวว่า กับดักที่จะทำให้ประชาธิปไตยไม่เติบโต ในมุมมองของตนต้องย้อนไปปี 2549 ช่วงก่อนเกิดรัฐประหาร มีความวุ่นวายทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ การชุมนุมต่อเนื่องจนถึงปี 2557 มีวาทกรรมการเมืองแบบแบ่งขั้ว ช่วงนั้น เราเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์หรือไม่ ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน มีการวางกลไกไม่ให้การเมืองไทยกลับเป็นแบบเดิม เป็นประชาธิปไตยอีกมิติหนึ่ง ทำให้มีความหวังในการตั้งพรรคการเมือง ยอมรับว่ามีส่วนที่ทำให้การรัฐประหารเกิดขึ้น แต่ไม่อยากให้มีการรัฐประหารในอนาคตข้างหน้า เรามุ่งให้อนาคต ที่เกิดขึ้น นำหลักธรรมาธิปไตยของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ อนาคตของประชาธิปไตยในนิยามตนต้องประกอบด้วยความสงบ มีการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้กฎหมาย อยากให้สังคมหลังการเลือกตั้งนำไปสู่ความเป็นนิติรัฐมากขึ้น
กมธ.หั่นงบกระทรวงคลัง 3 พันล้าน
ที่รัฐสภา พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 แถลงถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 2562 ว่า พิจารณางบฯ ในส่วนของกระทรวงการคลังเสร็จแล้ว โดยปรับลดเงินเพื่อชดใช้เงินทดรองราชการจาก 5,500 ล้านบาท เหลือ 2,500 ล้านบาท หลังจากนี้จะพิจารณาตามลำดับกระทรวง กระทรวงกลาโหมจะพิจารณาวันที่ 20 ก.ค.อย่างไรก็ตาม ปลายสัปดาห์นี้ กมธ.จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการ 2 ชุด ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาการใช้จ่ายดำเนินการในส่วนงบประชาสัมพันธ์ การอบรมดูงานต่างประเทศ 2.คณะอนุกรรมาธิการพิจารณางบประมาณการลงทุน การจัดซื้อครุภัณฑ์ ที่ดิน การก่อสร้าง เพื่อพิจารณาปรับลดงบฯเพิ่มเติม คาดว่าจะเริ่มประชุมได้สัปดาห์หน้า กมธ.จะยึดหลักความคุ้มค่า ประหยัด โปร่งใส เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่นายกฯบอกมา คาดว่าจะนำเข้าสู่วาระ 2 และ 3 ในที่ประชุม สนช.วันที่ 30 ส.ค.

ยื่น สนช.ค้านยุทธศาสตร์ชาติ
เมื่อเวลา 09.45 น. ที่บริเวณหน้ารัฐสภา ถนนอู่ทองใน กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำโดย น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา เดินทางมาคัดค้านการพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ ชาติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะมีการพิจารณาวันที่ 15 มิ.ย. โดย น.ส.ณัฏฐาอ่านแถลงการณ์ว่า ขอให้ สนช.พึงตระหนักว่า ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ไม่ยึดโยงประชาชน แต่กลับมาพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติที่มีผลผูกพันรัฐบาลพลเรือนที่จะมาจากการเลือกตั้ง ในอนาคตให้ต้องปฏิบัติตาม ถือว่าไม่ชอบธรรม นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว หยุดใช้คำสั่ง คสช.ทุกกรณี รวมถึงให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง เพื่อสร้างบรรยากาศที่พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง การคัดค้านร่างยุทธศาสตร์ชาติของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งแสดงให้เห็นว่า ได้คัดค้านเต็มที่แล้ว และสังคมต้องไม่หยุดสื่อสารความไม่ชอบของยุทธศาสตร์นี้ เพื่อให้ร่างยุทธศาสตร์ชาติได้รับการแก้ไขหรือถูกยกเลิกต่อไป เมื่อมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
ฮือฮาผึ้งหลวงทำรังหน้ารัฐสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ช่วงเช้าวันที่ 14 มิ.ย.บริเวณด้านนอกอาคารรัฐสภา 1 ได้มีผึ้งหลวงมาทำรังขนาดใหญ่ 1 รวง มีเจ้าหน้าที่ ข้าราชการรัฐสภา และสื่อมวลชน มายืนสังเกตการณ์พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนานา อาทิ เป็นเรื่องดีที่มีผึ้งหลวงมาทำรัง จากการสอบถามข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภามาหลายปี พบว่าเป็นเรื่องปกติประจำของทุกปีที่ผึ้งหลวงจะมาเกาะอยู่บริเวณดังกล่าว เนื่องจากบริเวณรอบอาคารรัฐสภามีต้นไม้ใหญ่ โดย เฉพาะช่วงนี้มีการปลูกไม้ดอกจำนวนมาก จึงเป็นที่ดึงดูดผึ้งหลวงมาทำรัง

“บิ๊กตู่” กระชับสัมพันธ์ 70 ปีเมียนมา
เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.ให้การต้อนรับนายอู วิน มยิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาและภริยา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล และเข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 14-16 มิ.ย. โดยนายกฯได้นำประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ
จากนั้นเวลา 18.45 น. มีการแถลงข่าวร่วมกัน โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีฉลองครบรอบ 70 ปีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ถือเป็นความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่แน่นแฟ้นทุกมิติ หัวใจสำคัญคือ ความร่วมมือพัฒนาตามแนวชายแดนเชื่อมโยง อย่างไร้รอยต่อ ต้องเร่งรัดพัฒนาอย่างครบวงจรในเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกและแนวระเบียงเศรษฐกิจใต้ ด้านประธานาธิบดีเมียนมา กล่าวขอบคุณประชาชนและรัฐบาลไทยที่สนับสนุนการสร้างสันติภาพการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมเมียนมา ในทุกด้าน รวมถึงความมั่นคงทั้งในเมียนมาและตลอดแนวชายแดนเป็นอย่างดี