จากการที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีนายจิรชัย มูลทองโร่ย เป็นประธาน ได้ไปประชุมร่วมกับผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อหารือกันถึงการผลักดันการปฏิรูปประเทศในด้านที่รับผิดชอบนั้น

พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งรักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์อีกตำแหน่งหนึ่ง ยังได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการของกรมประชาสัมพันธ์อีกว่าในด้านการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ สามารถแบ่งแผนการดำเนินการออกได้เป็น 3 ส่วนคือ

เร่งรัดการดำเนินงานของคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติโดยมีความร่วมมือระหว่าง กรมประชาสัมพันธ์ กับ สำนักโฆษกในการสร้างระบบที่คอยสอดส่องสื่อในทุกช่องทาง เช่น Social media สื่อวิทยุ เป็นต้น โดยจะทำการตรวจสอบข้อมูลที่อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด มีผลกระทบทางสังคม หรือเป็นเรื่องสำคัญที่มีผู้รับรู้น้อย แล้วส่งต่อให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องที่เกี่ยวข้องรับทราบและให้ข้อมูลแก่กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะสามารถนำข้อมูลนั้นเผยแพร่ หรือชี้แจงต่อประชาชนได้ทันที

ด้านการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารของภาครัฐประจำวันและประจำปี มีเป้าหมายว่าต้องมีระบบชี้แจงประเด็นข่าวสารที่สำคัญและทันต่อสถานการณ์ และมีคลังข้อมูลข่าวสารอัจฉริยะ

รวมทั้งการปรับบทบาทของกรมประชาสัมพันธ์ให้เป็นสถาบันด้านการประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนของประเทศ

ในการนี้ที่ประชุมมีความเห็นว่ากรมประชาสัมพันธ์ ต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือด้านข้อมูลข่าวสารมากที่สุดในสายตาประชาชน โดยต้องทำตัวเป็นอิสระจากภาคการเมืองให้ได้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อถือว่ากรมประชาสัมพันธ์ จะไม่ปกปิดความจริงหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนความจริงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

...

ดร.เสรี วงษ์มณฑา ซึ่งเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสาร มวลชนฯ แสดงความคิดเห็นว่า การพัฒนาความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มประชาชนนั้น กรมประชาสัมพันธ์ มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ 1) การประชาสัมพันธ์รายการใหม่ให้เกิดกระแสความสนใจในสังคม 2) โปรโมตผู้ดำเนินรายการให้คนดูเกิดความสนใจ อยากติดตาม 3) ระมัดระวังการใช้คำพูดจาที่อาจทำให้เกิดการกระทบกระทั่งหรือความรู้สึกเป็นศัตรูกับคนดู ในส่วนของการสอดส่องเฝ้าระวังทางดิจิทัล สิ่งที่จำเป็นคือการพัฒนาบุคลากรมาเป็นผู้ค้นหาข้อเท็จจริงและผู้ทำหน้าที่ติดต่อโดยตรง โดยมีโปรแกรมทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าระวัง

นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ กรรมการปฏิรูปอีกคนกล่าวว่ากรมประชาสัมพันธ์ ต้องวางตัวเป็นแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือของประชาชน จึงไม่ควรใช้วิธีเล่าข่าวในการจัดรายการ เนื่องจากการนำเสนอด้วยรูปแบบการเล่าข่าวที่เน้นความบันเทิงและเข้าใจง่ายนั้น อาจทำให้สาระสำคัญที่เป็นความจริงถูกบิดเบือนไปได้

ส่วน นายสุทธิชัย หยุ่น กรรมการชุดเดียวกัน ระบุว่าเสนอข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการปฏิรูป NBT ต้องตระหนักว่าเป็นสื่อของรัฐ ไม่ใช่สื่อของรัฐบาล โดยต้องสร้างความน่าเชื่อถือในข้อมูล ปฏิรูปแนวคิดโดยมุ่งทำความเข้าใจวิธีคิดของประชาชนในแต่ละพื้นที่รวมถึงการปูพื้นฐานการสร้างกลไกสื่อของรัฐที่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ เป็นต้น

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ ยังมีรายการไปพบปะกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านนี้อีกเป็นระยะ.

“ซี.12”