การสร้างภาพ ทางการเมือง ดูจะไม่มีขีดจำกัด เมื่อ กระแสโซเชียล กลายเป็นสื่อกระแสหลักชี้นำความคิดของประชาชน การสร้างภาพเป็นความจำเป็นสำหรับ นักการเมือง จนบางครั้งทำให้เสียจุดยืนทางการเมืองไปก็มี จะเอาสาระทางการเมืองในปัจจุบันเป็นเรื่องที่หายาก เพราะเมื่อกระแสสังคมชอบอะไรที่มีแต่เปลือก นักการเมืองก็ต้องสร้างเปลือกขึ้นมา ห่อหุ้มความเป็นจริงเอาไว้

แต่ระหว่าง ภาพลักษณ์กับภาพพจน์ มีความสำคัญต่อความเป็นนักบริหาร มีความสำคัญกับความเป็นผู้นำ อย่างกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำประเทศ ในฐานะ หัวหน้า คสช. มีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองประเทศ ภาพลักษณ์ของประเทศขึ้นอยู่กับภาพพจน์ของผู้นำประเทศ ซึ่งต้องมีบุคลิกความเป็นผู้นำและสร้างความน่าเชื่อถือในฐานะผู้นำด้วย

มีคนส่วนหนึ่งมองว่า บุคลิกของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่พูดจาโผงผาง ไม่เหมาะกับผู้นำประเทศ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ถือโอกาสระบายความในใจในฐานะที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ 4 ปีเต็ม การปลดล็อกทางการเมืองเป็นเรื่องที่จะพิจารณาเป็นกิจกรรมไป เพราะถ้าปลดล็อกทั้งหมด รับรองได้หรือไม่ว่าจะไม่มีปัญหา “ด่ากันตามถนนหนทาง เดินกันทั่วไปหมด รับได้หรือไม่ ถ้าสื่อรับไม่ได้ก็ต้องช่วยผมให้ทุกคนออกมารับประกันว่าการหาเสียงจะต้องประกาศนโยบายที่ตรงตามกฎหมายกำหนด ไม่ใช่มองว่ากฎหมายที่ออกมาเป็นการบังคับ มาตัดสิทธิ เพิ่มภาระ แล้วที่ผ่านมาไม่มีเรื่องพวกนี้แล้วเป็นอย่างไร ประเทศนี้ต้องมีกฎหมาย กติกา ผมถึงบอกว่าผมมีความเป็นมนุษย์ และความเป็นมนุษย์ของผมก็คือ ผมคิดและทำ และขับเคลื่อนโดยเอาทุกปัญหามาคลี่กันมันถึงหนัก แต่ผมไม่บ่น เพราะผมเข้ามาแล้ว แต่การจะอยู่ต่อไปหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาพิจารณาว่าอยากอยู่ต่อเพื่ออำนาจ ผมไม่เคยคิดว่าผมมีอำนาจ ถ้าพูดแต่เรื่องอำนาจและผลประโยชน์กลายเป็นคนเหลวแหลกไปหมด ไม่เช่นนั้นทุกคนที่อยู่ในการเมืองก็ต้องมีอำนาจและผลประโยชน์ แล้ววันข้างหน้าจะเป็นอย่างนั้นอีกหรือ ฉะนั้น กฎกติกาไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก ถ้าท่านต้องการรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลก็ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องการเตรียมการเลือกตั้ง ต้องระมัดระวังความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะทำให้เกิดปัญหา ทั้งการจลาจล ทั้งความขัดแย้ง นั่นคือหน้าที่สื่อมวลชนและประชาชนทุกคน”

...

ความจริงแล้วทั้งเรื่องของ ภาพลักษณ์และภาพพจน์ ไม่ว่าจะเป็น ผู้นำประเทศ หรือ นักการเมือง ล้วนเกิดขึ้นมาจาก พฤติกรรมและความเป็นจริง การเป็นตัวของตัวเองไม่ใช่เรื่องที่ผิด การที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำแบบ ชวน หลีกภัย หรือเป็นแบบ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือผู้นำอีกหลายคน คงเป็นไปไม่ได้เพราะเป็นคนละคนกัน ในขณะเดียวกัน การโจมตีผู้นำประเทศแบบสาดเสียเทเสียให้เสียหายถึงภาพลักษณ์ก็ไม่ควรทำเช่นกัน ท้ายที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับการวางภาพลักษณ์และภาพพจน์อยู่บนความสมดุลและเหมาะสมได้อย่างไรบนผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนมากกว่าอำนาจส่วนตัว.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th