ไม่มีมหกรรมหลอกลวงต้มตุ๋นเรื่องไหนจะงามไส้ยิ่งกว่า...

1,โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดแบบพกพา หรือที่เรียกอย่างเท่ๆว่าเครื่องจีที 200

2,การจัดซื้อเครื่องตรวจสารเสพติดชนิดพกพา หรือที่เรียกอย่างโก้ๆว่า “เครื่องอัลฟ่า 6”

ทำให้รัฐบาลไทย หลงเชื่อกลายเป็นเหยื่อต้มตุ๋น เสียค่าโง่ฟรีๆนับพันล้านบาท

จนกลายเป็นตำนาน “ไม้ล้าง ป่าช้า” แหกตาบันลือโลก

“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่า ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2553 ได้มีการอนุมัติจัดซื้อเครื่องจีที 200 และเครื่องอัลฟ่า 6 มาใช้ในกองทัพ และหน่วยราชการอื่นๆกันบานแห้ว

มีการอนุมัติจัดซื้อราคาแพงหูฉี่ ตั้งแต่เครื่องละ 4.2 แสนบาท จนถึงเครื่องละ 1.3 ล้านบาท รวมจำนวนทั้งสิ้นถึง 1,390 เครื่อง

สูญเงินซื้อ “ไม้ล้างป่าช้า” ไปกว่าหนึ่งพันล้านบาท

แต่ภายหลังได้พบความจริงว่า ไอ้เครื่อง ตรวจจับวัตถุระเบิดแบบพกพา หรือเครื่องตรวจหาสารเสพติด มันเป็นสิ่งประดิษฐ์ แหกตา ใช้ตรวจจับอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น

แต่เมื่อทำให้ราชการเกิดความเสียหาย จึงต้องมี “ผู้รับผิดชอบ”

โดย ป.ป.ช.ได้รับคำร้องไว้สอบสวนข้อเท็จจริง รวมทั้งสิ้น 12 เรื่อง

เวลาผ่านไป 6 ปี คดีไม้ล้างป่าช้า เพิ่งจะสรุปเสร็จได้เป็นคดีแรก

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด การทุจริตจัดซื้อ “เครื่องอัลฟ่า 6” ของจังหวัดพิษณุโลกเป็นคดีนำร่อง

พบว่าอดีตข้าราชการ 6 คน มีส่วนร่วมกันอนุมัติจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 เพื่อตรวจหาสารเสพติด แต่ไม่สามารถใช้งานได้

ป.ป.ช.จึงส่งสำนวนคดีนี้ต่ออัยการสูงสุด ส่งฟ้องอดีตข้าราชการ 6 คน ในข้อหาความผิดทุจริตประพฤติมิชอบ

...

“แม่ลูกจันทร์” มองแง่ดีว่า การที่ ป.ป.ช.มีมติเช็กบิลคดีทุจริตจัดซื้อเครื่อง อัลฟ่า 6 จังหวัดพิษณุโลกเป็นคดีแรก (จากทั้งหมด 12 เรื่อง)

แสดงว่าคดีจัดซื้อเครื่องจีที 200 และอัลฟ่า 6 ที่ยังเหลืออีก 11 เรื่อง จะค่อยๆทยอยออกมาเรื่อยๆ

โดยเฉพาะกรณีกองทัพบกจัดซื้อเครื่องจีที 200 เพื่อใช้ตรวจหาสารวัตถุระเบิดในภาคใต้มูลค่ากว่า 659 ล้านบาท

แต่สุดท้ายต้องเก็บเข้ากรุ เอาไปใช้งานไม่ได้

คาดว่าอีกไม่นาน ป.ป.ช.จะต้องมีมติออกมาแน่ๆ

แต่จะออกมาเมื่อไหร่? และจะมีใครถูกฟ้องบ้างหรือไม่? อย่าเพิ่งคาดเดาล่วงหน้า

อย่างไรก็ดี “แม่ลูกจันทร์” ไม่แน่ใจว่า การซื้อเครื่องจีที 200 หรือการจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 ทั้งหมดจะเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบหรือไม่??

หรือเป็นการอนุมัติจัดซื้อ เพราะหลงเชื่อว่าเครื่องมือดังกล่าวเป็นของดีมีคุณภาพ??

พูดง่ายๆ คือเป็นเหยื่อโฆษณา ชวนเชื่อ

อย่างนี้จะเข้าข่ายทุจริตประพฤติมิชอบ? หรือจะเข้าง่ามบกพร่องโดยสุจริต? ยังตีความได้ทั้งสองแง่

แต่ที่แน่ๆ การจัดซื้อไม้ล้างป่าช้าทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทำให้ราชการเสียเงินฟรีๆ และเสียค่าโง่ทั้ง 2 เด้ง

ปัญหาคือ...ถ้าคนที่ร่วมกันอนุมัติจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 และเครื่องจีที 200 มีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่

แล้วคนที่เคยประกาศยืนยันการันตีว่า “ไม้ล้างป่าช้า” พวกนี้เป็นของดีมีคุณภาพ ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าตรวจหาสารระเบิดได้แม่นยำสุดยอด

คนที่เคยรับรองคุณภาพ “ไม้ล้าง ป่าช้า” มีส่วนร่วมกระทำผิดด้วยหรือไม่??

อืมม์...มันก็น่าคิดเหมือนกันนะคุณพี่.

"แม่ลูกจันทร์"