บรรดาพรรคการเมืองเก่าต่างโดนอิทธิฤทธิ์ของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 กันถ้วนหน้า หลังจากเปิดให้สมาชิกยืนยันการเป็นสมาชิก และจ่ายค่าบำรุงภายใน 30 วัน มิฉะนั้นต้องขาดสมาชิกภาพ ผลปรากฏว่าสมาชิกทุกพรรคหายไปหลายเท่าตัว เช่น พรรคประชาธิปัตย์เคยมีสมาชิกถึง 2.5 ล้านคน เหลือแค่แสนคน ส่วนพรรคเพื่อไทยมี 1.3 แสนคน เหลือแค่หมื่นคน

ส่วนใหญ่เชื่อว่าสาเหตุที่สมาชิกหายไป เนื่องจากคำสั่ง คสช.ให้เวลายืนยัน และจ่ายค่าบำรุงพรรคแค่ 30 วัน ซ้ำยังไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมได้โดยสะดวก จึงไม่สามารถสื่อสารกับมวลสมาชิกได้ทั่วถึง สมาชิกส่วนใหญ่ไม่พร้อมที่จะจ่ายค่าบำรุงพรรค ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับการ เมืองไทย เพราะเมื่อก่อนอยู่ที่ความสมัครใจ

คนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบผูกพันตัวเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ส่วนหนึ่งยอมเข้าเป็นสมาชิกพรรค จากการชักจูงของนักการเมือง แถมยังอาจจ่ายค่าบำรุงพรรคให้ด้วย เพราะคนไทยไม่คุ้นชินกับการจ่ายเงินให้พรรค แต่เป็นฝ่ายรอรับการแจกเงินของพรรคมากกว่า ต่างจากวัฒนธรรมการเมืองของประเทศพัฒนา อย่างสหรัฐอเมริกา ที่คนชอบเป็นสมาชิกพรรคและจ่ายเงินบำรุงพรรค

จึงน่าเป็นห่วงว่ากฎหมายใหม่ของไทย ที่บังคับให้พรรคจัดการเลือกตั้งขั้นต้น หรือ “ไพรมารี” ให้สมาชิกพรรคเป็นผู้เลือกผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ทั้งระบบเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ หากมีสมาชิกออกมาใช้สิทธิแค่เขตละแค่ร้อยคน กรรมการบริหารพรรค หรือผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคในเขตนั้นๆ ยังสามารถชี้นำการเลือกผู้สมัครอยู่ดี ไพรมารีจึงเป็นแค่ปาหี่

พรรคการเมืองเก่าส่วนใหญ่โวยว่าคำสั่ง คสช. มุ่งเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมือง ลิดรอนเสรีภาพประชาชน เพิ่มภาระให้ประชาชนและพรรคเกินความจำเป็น จึงยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่นักวิชาการบางคนมองว่าคำสั่งที่ 53/2560 มุ่งเปิดช่องทางให้พรรคใหม่ๆได้เกิด รวมทั้งพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.

...

เป็นคำสั่งที่เปิดช่องให้สมาชิกพรรคเดิมได้ไหลออกจากพรรค และไหลเข้าพรรคใหม่ๆได้ ถ้าไม่เช่นนั้น พรรคใหม่ๆจะเอาสมาชิกมาจากไหน เนื่องจากคนไทยที่สนใจการเมือง และยอมผูกพันเป็นสมาชิกพรรคมีอยู่อย่างจำกัด ขณะเดียวกัน ก็เปิดช่องให้นักการเมืองย้ายพรรคถูกดูดเข้าพรรคใหม่ได้ โดยไม่ต้องลาออกจากพรรคเดิม แค่ไม่ยืนยันตนก็ขาดสมาชิกภาพ

วิธีการเช่นนี้ นักการเมืองบางฝ่ายอาจโวยวายว่า เป็นการเมืองนํ้าเน่าแบบเดิมๆ ทำลายพรรคการเมืองและระบบรัฐสภา แต่บางฝ่ายอาจจะบอกว่านี่แหละคือการปฏิรูปการเมือง ตามที่ คสช.เคยสัญญา นับแต่วันยึดอำนาจเมื่อเกือบ 4 ปีก่อน จะปฏิรูปประเทศในทุกด้าน รวมทั้งการเมืองจะต้องติดตามดูกันต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยปัญหานี้อย่างไร.