นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
“เอนก” ตอกยํ้ายึดโมเดลแม่นํ้าห้าสายปฏิรูปการเมือง มั่นใจสิ่งที่ทำจะไม่เหนื่อยฟรี พร้อมรับคำเตือน “บรรยง” ไม่วางกับดักทำการเมืองเข้าสู่วิกฤติอีก โฆษก กห.กระตุกพวกคนส่วนน้อยที่ส่งเสียงดังกลับมาอยู่ใต้กรอบกฎหมาย กกต.จัดติวเข้ม ผอ.เลือกตั้งทั่วปท. กางปฏิทินย้ำได้เลือกตั้ง ส.ส.แน่ ส.ค.61 “วิษณุ” มึนยังไม่มีอะไรชัดเจนสักอย่าง “นิพิฏฐ์” แนะจับตาสัญญาณ คสช. ดึงเกมยื้อเลือกตั้ง “บิ๊กป้อม” ยันไม่มีเจ้าหน้าที่พา “ปู” หนี เชื่อสังคมไม่คาใจเพราะรู้ว่าไปแล้ว “มาร์ค” ไล่บี้ถอนพาสปอร์ต เตือนถ้าขอลี้ภัยได้งานเข้า คสช.แน่ “เต้น” พ้อคดีสลาย นปช.เหมือนงูกินหาง “บิ๊กตู่” เหินฟ้าไปจีน ถกเวทีผู้ค้าใหม่ร่วมลงนามข้อตกลงรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
จากกรณีที่นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ออกมาทักท้วงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล คสช. อาจจะกลายเป็นโซ่ตรวนล่ามชาติมากกว่าการผลักดันให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดตามพิมพ์เขียวที่คสช.วางไว้นั้น

...
“เอนก” ยึดโมเดลแม่น้ำห้าสาย
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 ก.ย. ที่รัฐสภา นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองนัดแรกว่า ที่ประชุมกำหนดกรอบการทำงาน โดยตั้งแต่วันนี้จนถึงกลางเดือน ต.ค. เป็นการจัดทำแผนปฏิรูปการเมือง 5 ปี ช่วงกลางเดือน ต.ค.-พ.ย. เป็นขั้นตอนร่างแผนปฏิรูปการเมือง คาดว่าใช้เวลา 1 เดือน จากนั้นช่วงกลางเดือน พ.ย.-ธ.ค. จะนำแผนมาหารือหากทุกฝ่ายเห็นพ้องกันจะนำเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 คณะ ในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ ก่อนส่งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาต่อไป เราจะไม่เริ่มจากศูนย์หรือนับหนึ่งใหม่ แต่จะนำแผนที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และแนวทางที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการไว้ รวมถึงผลการศึกษาของหน่วยงานต่างๆมาต่อยอด
มั่นใจสิ่งที่ทำมาไม่เหนื่อยฟรี
นายเอนกกล่าวต่อว่า ยอมรับว่าเวลา 3 เดือนในการจัดทำแผนปฏิรูปการเมืองถือว่าสั้น แต่มั่นใจว่าสิ่งที่ทำจะไม่เหนื่อยฟรี แต่ไม่คาดหวังว่าแผนจะครอบคลุมทุกอย่าง นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้จะเป็นชุดสุดท้ายที่มาทำแผนปฏิรูปการเมือง ดังนั้นการจัดทำแผนปฏิรูปการเมืองจะนำแนวทางสร้างความปรองดองมาบรรจุไว้ เพราะเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ แต่การเขียนแผนจะไม่ลงรายละเอียดมากเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ส่วนกรณีนายบรรยง พงษ์พานิช อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ระบุว่าแผนปฏิรูปการเมืองอาจเป็นกับดักทำให้การเมืองเข้าสู่ภาวะวิกฤตินั้น เราจะไม่ทำให้เกิดข้อผิดพลาด ไม่ทำงานผลีผลาม พร้อมรับฟังคำเตือนและคำแนะนำจากทุกฝ่าย
กห.กระตุ้นสังคมปลุกจิตสำนึก
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง กล่าวว่า สังคมต้องช่วยกันปลุกจิตสำนึกว่าอะไรควรปฏิบัติ การปรองดองคือสิ่งที่ทุกคนทำร่วมกัน คนส่วนใหญ่อยู่ในกรอบกติกา แต่มีคนส่วนน้อยออกไปบ้างและเสียงดัง เราต้องดึงคนส่วนน้อยให้กลับมาอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย วันนี้ใครอยู่นอกกรอบกฎหมายต้องมาปรองดองกับประชาชน ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้กรอบกฎหมาย เมื่อถามว่าดูเหมือนนักการเมืองไม่เข้าร่วมสร้างความปรองดองเท่าที่ควร พล.ต.คงชีพตอบว่า ไม่เป็นไร หากเขานิ่งแต่อยู่ในกรอบกฎหมาย ก็หมายความว่าเขาเดินหน้าปรองดองแล้ว ไม่ต้องตอบสนองโดยเซ็นเอ็มโอยู ถึงวันหนึ่งหากเห็นว่าดีค่อยทำไป หากนักการเมืองรับรองต่อหน้าประชาชนแล้ว เรามั่นใจว่าปัญหาในอนาคตจะไม่เกิดขึ้น

กกต.ติวเข้ม ผอ.เลือกตั้งทั่ว ปท.
ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งทั้ง 77 จังหวัด มีการจัดทำคู่มือการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. แจกด้วย นายศุภชัยกล่าวชี้แจงแนวคิดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เปลี่ยนรูปแบบเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ จากแบบพรรคเดียวเบอร์เดียว มาเป็นแยกเบอร์รายเขต ว่า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เคยจำลองการจัดเลือกตั้ง ส.ส.แบบใหม่ เพื่อสะท้อนถึงปัญหาไปแล้วว่าจะมีความยุ่งยากอย่างไร แต่ กกต.คงไม่ส่งความเห็นเพิ่มเติมไปยัง กรธ. เว้นแต่จะเห็นว่าจำเป็นจริงๆ สำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่รอการประกาศใช้นั้น เมื่อประกาศใช้แล้วคงนำเข้าที่ประชุม กกต.อีกครั้ง ว่ามีส่วนใดที่เป็นปัญหา ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่
กางปฏิทินย้ำได้เลือกตั้ง ส.ค.61
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กกต.ได้ฉายวีดิทัศน์ปฏิทินเตรียมการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้ ผอ.เลือกตั้งทั้ง 77 จังหวัดได้ชมในที่ประชุม โดยคาดการณ์ว่าช่วงเดือน ธ.ค.นี้ กรธ.จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวต่อที่ประชุม สนช. ต้นเดือน ก.พ.2561 กฎหมายน่าจะมีผลใช้บังคับ จากนั้น กกต.จะเริ่มกระบวนการสรรหาประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย.2561 และสามารถเลือกผู้สมัครระดับประเทศและประกาศผลการเลือก ส.ว. 200 คน ได้ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.2561 ก่อนส่งให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 50 คน เพื่อนำไปรวมกับ ส.ว.ในสัดส่วนที่ คสช.คัดเลือกอีก 200 คน รวมเป็น 250 คน ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. คาดการณ์ว่า กรธ.จะส่งร่าง พ.ร.บ. ให้ สนช.พิจารณาต้นเดือน ธ.ค.เช่นกัน กฎหมายน่าจะมีผลใช้บังคับประมาณเดือน มี.ค.2561 และเริ่มกระบวนการเลือกตั้ง โดยช่วงที่จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งน่าจะเป็นเดือน พ.ค.-มิ.ย.2561 และมีการเลือกตั้ง ส.ส.ในเดือน ส.ค.2561

“วิษณุ” มึนยังไม่มีอะไรชัดเจน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ทราบการวางปฏิทินเลือกตั้ง ส.ส. ช่วงเดือน ส.ค.2561 ของ กกต. ตอบไม่ถูก มีโอกาสสอบถาม กกต. ถึงที่มาที่ไปของการกำหนดวันดังกล่าว เขาตอบเพียงว่าการกำหนดวันจะถูกหรือผิด ไม่สำคัญ แต่ กกต.จำเป็นต้องกำหนด เพื่อประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ในการทำงาน ไม่เช่นนั้นจะอยู่ไปโดยไม่รู้ว่าต้องทำงานถึงเมื่อไหร่ เป็นเพียงการเตรียมการของ กกต.ไว้ก่อน รัฐบาลยังตอบอะไรไม่ถูก ทุกคนรู้ว่าโรดแม็ปจะเดินอย่างไร บางเรื่องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทูลเกล้าฯถวายไป บางเรื่องก็เป็นเรื่องของการประกาศใช้กฎหมาย บางอย่างก็เป็นเรื่องของ กกต. ตอนนี้รู้เพียงว่าหากกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลใช้บังคับเมื่อใด ต้องจัดการเลือกตั้ง 5 เดือนหลังจากนั้น ส่วนจะเป็นวันไหนสุดแท้แล้วแต่ กกต.เป็นผู้กำหนด ส่วนกฎหมายเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ จะออกมาเมื่อใดตนไม่ทราบ รัฐบาลไม่เคยเร่งรัดอะไร
“นิพิฏฐ์” ดักทาง คสช.ยื้อเลือกตั้ง
ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การวางปฏิทินจัดเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.ของ กกต.ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เพราะเป็นหน้าที่ และอยู่ในกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ยกเว้นแต่มีการคว่ำ 2 กฎหมายสำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. โดย สนช. ก็จำเป็นต้องจัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 และอาจต้องเลื่อนการจัดการเลือกตั้งออกไปอีก เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าถ้ากฎหมายฉบับสำคัญในหมวดเลือกตั้ง โดยเฉพาะกฎหมาย 2 ฉบับนี้ถูกคว่ำลง ต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป นี่เป็นอีกหนึ่งช่องทางของผู้มีอำนาจ ที่จะใช้ยื้อเวลาจัดการเลือกตั้งออกไปอีก ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ คล้ายกับกรณีร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ขอให้สังคมได้จับตามอง ใกล้ชิดว่าจะมีการคว่ำร่างกฎหมาย 2 ฉบับนี้อีกหรือไม่

ปมสรรหา กสม.ยังเถียงกันไม่จบ
ช่วงบ่ายวันเดียวกันที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย) ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมพิจารณา 6 ข้อโต้แย้งจาก กสม. โดยเฉพาะประเด็นกรรมการสรรหา กสม. ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีตัวแทนจากองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมเป็นกรรมการสรรหา แต่ตามร่าง พ.ร.บ. มาตรา 11 วรรคห้า ของ กรธ. บัญญัติว่าถ้าการแต่งตั้งตัวแทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ไม่สามารถแต่งตั้งได้ตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อครบ 45 วัน ให้กรรมการสรรหาที่เหลืออยู่ดำเนินการสรรหาได้ทันที จึงยังเป็นประเด็นถกเถียงและมีความเห็นต่างกันอยู่ระหว่าง กสม. และ กรธ. ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล ตนจึงขอให้กลับไปหาข้อมูลมาชี้แจงอีกที ในการประชุมวันที่ 6 ก.ย. ซึ่งต้องทำให้เสร็จภายในกรอบเวลา 15 วัน ที่กำหนดไว้คือวันที่ 15 ก.ย.
ยกเครื่องตำรวจต้องรอบคอบ
ที่รัฐสภา พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ว่า ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปในประเด็นใด จะประชุมอีกครั้งวันที่ 6 ก.ย. เรื่องการกระจายอำนาจ ประเด็นนี้ต้องระวัง เพราะการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้เกิดช่องโหว่ ไม่เช่นนั้นสิ่งดีๆที่มีอยู่เดิมอาจหายไป หรือสิ่งใหม่ที่เข้ามาอาจไม่ดี ต้องคำนึงว่าของดีที่มีอยู่เดิมต้องไม่หายไป และได้ของดีๆใหม่ด้วย เมื่อถามว่าส่วนหนึ่งเพราะตำรวจไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างตอบว่า ไม่ใช่ ตำรวจอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องระวังเพราะการเปลี่ยนระบบใหม่อาจทำให้ข้อดีหายไป การปฏิรูปเมื่อกระจายลงไปแล้วต้องปฏิบัติภารกิจให้ได้ ทั้งนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายระดับนายพล จะแต่งตั้งโดย ผบ.ตร. มีกรรมการร่วมกันพิจารณา ส่วนที่เหลือจะกระจายลงไปในพื้นที่ โดยพิจารณาจากความอาวุโส ผลงาน ส่วนรายละเอียดต้องไปพิจารณาอีกครั้ง
“เสรี-จักรทิพย์” ปะทะกันกลางวง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ได้เกิดการปะทะคารมระหว่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กับนายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์ไม่เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ อาจทำให้ตำรวจทำงานยากขึ้น โดยยกเหตุการณ์ควบคุมสถานการณ์วันนัดฟังคำพิพากษาคดีโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 25 ส.ค. หากมีการกระจายอำนาจจะทำให้สั่งการได้ยาก นายเสรีจึงกล่าวสวนกลับว่า อย่าเอาเหตุการณ์เดียวมาเป็นเหตุผลให้ไม่ปฏิรูปตำรวจ โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวว่า “ทุกอาชีพมีคนดีไม่ดีทั้งนั้นเช่นเดียวกับอาชีพทนายความ” นายเสรีจึงสวนกลับว่า “ในห้องประชุมนี้ไม่มีทนายเลวแน่นอน” หลังจากโต้ตอบกันไปสุดท้ายทั้งคู่ยอมรับความเห็นซึ่งกัน และกัน และกล่าวให้อภัยกัน

“บิ๊กป้อม” ยันไม่มี จนท.พา “ปู” หนี
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า เจ้าหน้าที่กำลังทำอยู่ กำชับไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับรายงานที่แน่ชัด ยังไม่มีการรายงานเข้ามาเป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงการสอบสวนบุคคลใกล้ชิด 14 คน ก็ไม่ทราบรายละเอียด เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้บอกข้อมูลใดๆกับใครเอาไว้เลยก่อนหายตัวไป ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า คสช.ปล่อยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์หลบหนีนั้น จะปล่อยได้อย่างไร หน้าบ้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็มีตำรวจเฝ้าอยู่ ยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือหลบหนีแน่นอน และตำรวจ บก.น.4 รายงานชัดเจนว่า ไม่มี ใครช่วยหลบหนี ไม่ได้มีการตรวจค้นรถ เมื่อถามว่า หากปล่อยเรื่องนี้เอาไว้นาน สังคมจะคลางแคลงใจ หรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่า ไม่คาใจหรอก เพราะรู้กันอยู่แล้วว่าไปแล้ว กระทรวงการต่างประเทศ ออกหนังสือแจ้งประสานสถานทูตไทยในประเทศต่างๆให้ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว
“มาร์ค” ไล่บี้รัฐถอนพาสปอร์ต
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในรายการ “ต้องถาม” ทางสถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่ ว่า รู้สึกสงสัยที่หน่วยงานรัฐยังไม่ดำเนินการเพิกถอนหนังสือเดินทาง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะถือว่าเข้าหลักเกณฑ์การเพิกถอนหนังสือเดินทางแล้ว เนื่องจากระเบียบมีอยู่ 2 ข้อ คือ 1.มีหมายจับ 2.ศาลห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร น.ส.ยิ่งลักษณ์ล้วนอยู่ใน 2 เงื่อนไขนี้ จึงสงสัยว่าเหตุใดรัฐบาล คสช. และกระทรวงการต่างประเทศ จึงไม่ตอบประชาชนตรงไปตรงมาว่ามีหลักเกณฑ์นี้ หากมีดุลพินิจจะไม่เพิกถอนหนังสือเดินทางก็ควรอธิบายให้สังคมทราบว่ามีเหตุผลอย่างไร แต่กลับทำให้สังคมสับสนว่าต้องรอคำพิพากษา ดูเหมือนการติดตามตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ค่อยคืบหน้าเท่าที่ควร

ถ้าขอลี้ภัยได้งานเข้า คสช.แน่
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องรับมือต่อไปคือ หากมีการทำเรื่องขอลี้ภัยทางการเมืองจริง รัฐบาลไทยจะกลายเป็นจำเลยแทน ทำให้สังคมโลกเกิดความข้องใจว่า สรุปแล้วรัฐบาลไทยมีปัญหาใช่หรือไม่ ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะจะสะท้อนถึงวิธีที่ประชาคมโลกมองประเทศเรา เรื่องรัฐประหารและการใช้อำนาจต่างๆ ดังนั้น ก่อนถึงวันที่ 27 ก.ย. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดอ่านคำพิพากษา รัฐบาลต้องติดตามตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างจริงจัง และเตรียมข้อมูลข้อเท็จจริงไว้ชี้แจงประชาคมโลก ว่าสรุปแล้วคดีโครงการรับจำนำข้าวเป็นคดีการเมืองหรือไม่ หากรัฐบาลไม่ช่วยชี้แจง ที่สุดจะเกิดความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมไทยต่อไป ส่วนตัวเชื่อว่าตำรวจอารักขา น.ส.ยิ่งลักษณ์ น่าจะรู้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์กำลังจะเดินทาง แต่จะไปที่ไหน อย่างไร อยู่ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะบอกหรือไม่ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องค้นหาข้อเท็จจริงต่อไป
ทำใจวาทกรรม “มือเปื้อนเลือด”
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กรณีศาลฎีกายกฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 นั้น ยืนยันว่าสิ่งที่ตนและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศอฉ. ทำไป ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นการออกคำสั่งตามอำนาจหน้าที่ “บอกตามตรงว่าเป็นเรื่องการเมืองจริงๆ การไต่สวนชันสูตรพลิกศพ โดยหลักเจ้าหน้าที่ต้องดูรายละเอียดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร พอเปลี่ยนรัฐบาล นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขณะนั้น เปลี่ยนใจบอกว่าไม่ต้องไปดู เพราะจะเล่นงาน ผมกับคุณสุเทพเท่านั้น ถ้าสังเกตจะเห็นว่าคุณอนุพงษ์ (พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ.) ไม่เกี่ยวข้อง เขาต้องการเล่นงานการเมืองล้วนๆ ส่วนการสร้างวาทกรรมฆาตกรมือเปื้อนเลือดนั้น ทุกอย่างที่ทำเราทำด้วยความตั้งใจดีต่อบ้านเมือง ทุกคนยืนยันได้ว่าผมย้ำทุกครั้งให้หลีกเลี่ยงการสูญเสีย ผมก็ได้แต่ทำใจ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและความจริง เมื่อมาทำงานแบบนี้”
“เต้น” พ้อคดี นปช.เหมือนงูกินหาง
ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.กล่าวว่า เตรียมนัดหมายทีมงานฝ่ายกฎหมายของ นปช. ทนายความของผู้เสียหาย ทีมทนายความคดีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และนักวิชาการที่ติดตาม เรื่องสลายการชุมนุมปี 53 มาตั้งแต่ต้น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหารือรูปแบบการดำเนินการยื่นอุทธรณ์ ที่เห็นตรงกันคือต้องมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด หากความยุติธรรมยังไม่ปรากฏ ก็ต้องตามทวงถามจนถึงที่สุด เบื้องต้นเห็นด้วยกับการร้องขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ หากเห็นว่า ป.ป.ช.ใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่สุจริต ก็ต้องดำเนินคดีให้เป็นจำเลยตามกันไป การตามหาความยุติธรรมในคดีนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ผ่านมา 7 ปีมีสภาพเหมือนงูกินหาง คือเริ่มต้นที่ดีเอสไอ ไปต่อที่อัยการ ส่งฟ้องไปยังศาล แล้วมีคำพิพากษาให้มาที่ ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช.ก็บอกให้กลับไปดีเอสไอเพื่อหาคนฆ่าประชาชน

ไม่ท้อเดินหน้าล่าความจริงถึงที่สุด
นายณัฐวุฒิกล่าวอีกว่า เราจะอดทนและเดินหน้าต่อ เชื่อว่าความยุติธรรมไม่มีวันหมดอายุ ยิ่งนานเรื่องนี้ยิ่งเป็นที่รับรู้มากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ถ้ายังไม่มีข้อยุติก็เหมือนสร้างอนุสาวรีย์แห่งความอยุติธรรม ส่วนการรวบรวมรายชื่อเพื่อให้มีคณะกรรมการไต่สวนอิสระการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.นั้น คงต้องรอให้ ป.ป.ช.มีมติก่อนว่าจะพิจารณาคำร้องใหม่หรือไม่ หากล่าช้าถือว่าเข้าข่าย เชื่อว่ามีคนจำนวนมากพร้อมเข้าชื่อ เพราะขณะนี้ที่ไม่ใช่เสื้อแดงก็มีติดต่อมามาก เพราะหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ว่าคนตายเป็นร้อย จะปล่อยให้คนผิดลอยนวลไปได้อย่างไร
“วิษณุ” แจงปมแก้ “ที่ดินอัลไพน์”
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีข่าวกระทรวงมหาดไทยและสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ วัดธรรมิการามวรวิหาร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้แก่มูลนิธิมหามงกุฎราชวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบ จากกรณีคดีอัลไพน์ว่า ไม่เป็นความจริง ยังไม่เคยเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วจะเข้า สนช.ได้อย่างไร และยังไม่เคยไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องอยู่ระหว่างหารือ ยังไม่ได้พ้นจากกระทรวงมหาดไทย แต่ก็ต้องออกเป็นกฎหมายใหม่เพราะยังถือเป็นที่ของเอกชน ทั้งนี้ ตามกฎหมายผู้ที่จะตัดสินคือ มหาเถรสมาคม (มส.) และกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะกรมที่ดิน และ พศ. เป็นกลไกประสาน มส. ซึ่งกำลังคิดเรื่องเยียวยาผู้เดือดร้อน 600 ครัวเรือนอย่างไร ซึ่งอาจให้กรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เข้ามาช่วยดูด้วย

“บิ๊กป้อม” เร่งแก้ “ค้ามนุษย์” พ้นเทียร์ 2
อีกเรื่อง พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่าเรื่องแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) ภาพรวมมีความคืบหน้ามาก เมื่อวันที่ 3-17 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการเจรจากับสหภาพยุโรป (อียู) โดยต้องปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสากล ซึ่งไทยได้ทำไปแล้วหลายฉบับ รัฐบาลทำทุกอย่างให้ถูกต้องเพื่อลดผลกระทบจากการทำประมงผิดกฎหมาย จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม โดย พล.อ.ประวิตรสั่งการให้กรมประมงแก้ปัญหานี้ให้บรรลุผลให้ได้ โดยตั้งเป้าหมายเรื่องนี้ให้สหรัฐฯถอดไทยออกจากเทียร์ 2 ให้ได้
จี้สายการบินเคลียร์ปลดธงแดง
ด้าน พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก แถลงว่า คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนรายงานความคืบหน้าในที่ประชุมว่า กรณีการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (เอโอซี) ว่าได้ออกใบรับรองแล้วรวม 9 สายการบิน โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ส่งจดหมายแจ้งสายการบินที่ไม่ผ่านการประเมิน 16 สายการบิน ซึ่งข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ระบุว่า หากไม่มีใบอนุญาตต้องงดการบิน ส่วนการยื่นเอกสารขอรับการตรวจจากไอเคโอนั้น จะมีการส่งบุคลากรมาตรวจสอบประเมินมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยช่วงปลายเดือน ก.ย.หรือต้นเดือน ต.ค. ถึงจะทราบว่าประเทศไทยจะปลดธงแดงได้หรือไม่ ทั้งนี้ ผลการตรวจรักษาความปลอดภัยของไอเคโอที่สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และ กพท.ไม่พบข้อบกพร่องโดยจะแจ้งผลตรวจสอบอีก 60 วัน หลังการประเมินเมื่อเดือน ก.ค.

“บิ๊กตู่” บินไปเซียะเหมินร่วมวง BRICS
ที่ท่าอากาศยานเซียะเหมินเกาฉี เมืองเซียะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน เวลา 12.20 น. (ตามเวลาท้องถิ่น เร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา และคณะ เดินทางถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกา) กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ระหว่างวันที่ 4-5 ก.ย. โดยมีอธิบดีกรมการทูตของจีน เอกอัครราชทูตจีน ผู้แทนรัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยน ผู้แทนรัฐบาลเมืองเซียะเหมินให้การต้อนรับ ทั้งนี้ ก่อนเข้าร่วมการประชุม BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา พล.อ.ประยุทธ์ได้ฟังการบรรยายสรุปที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮาร์เบอร์วิว โรงแรมที่พัก
ยกทีมปิดห้องคุย “สี จิ้นผิง”
จากนั้นเวลา 16.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้พบหารือทวิภาคีกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐ ประชาชนจีน เพื่อกระชับความร่วมมือหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านกับจีน โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เข้าร่วม พล.อ.ประยุทธ์ได้ย้ำถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในการกระชับความร่วมมือหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านกับจีน และขับเคลื่อนความร่วมมือที่มีอยู่ให้คืบหน้าและเป็นรูปธรรม โอกาสนี้ผู้นำทั้ง 2 ยินดีที่เห็นพัฒนาการความร่วมมือที่เคยหารือไว้ ในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษาและความสัมพันธ์ในระดับประชาชน โดยเฉพาะความมุ่งมั่นในโครงการความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน ที่สำคัญต่อยุทธศาสตร์เชื่อมโยงและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนและเอเชียใต้ ในการหารือยังเห็นพ้องว่าการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศ

ลงนาม 4 ข้อตกลงรถไฟไทย-จีน
หลังการหารือ พล.อ.ประยุทธ์ และนายสี จิ้นผิง ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน 4 ฉบับ คือ 1.สัญญาการออกแบบโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและ สาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะที่ 1 2.สัญญาที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะที่ 1 3.ร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน (พ.ศ.2560-2564) และ 4.ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในกรอบเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21
ทั้งนี้ ในช่วงค่ำ พล.อ.ประยุทธ์พร้อมภริยาได้เข้าร่วมงาน Reception ที่ทางการจีนจัดขึ้นเพื่อเลี้ยงต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุม โดยได้ถ่ายภาพหมู่ร่วมกับผู้นำประเทศที่เข้าประชุมพร้อมคู่สมรส และร่วมชมการแสดงทางวัฒนธรรมที่ทางการจีนเตรียมไว้ต้อนรับด้วย